ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านสื่อสารการเมือง ชี้ 'ประยุทธ์'ออกข้อกำหนดห้ามเสนอข่าวสรา้งความหวาดกลัวเป็นการปิดปากประชาชนขัดต่อ รธน.อย่างแรง แนะแก้เฟคนิวส์ รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลรอบด้าน ใช้ข้อมูลสื่อสารชุดเดียวกัน ย้ำไม่มีศักยภาพแก้ปัญหาควรลาออก

“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม งัดข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 29) ลงนามเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2564 ห้ามเสนอข่าว โพสต์ข้อความอันจะทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

ในประกาศอ้างว่าเพื่อจัดการข่าวปลอมในสถานการณ์วิกฤต กระนั้น คำสั่งดังกล่าว กลับถูกมองว่าเป็นการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชนและประชาชนโดยตรง

อีกครั้งที่ 'วอยซ์' คุยกับ ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ถึงเรื่องดังกล่าว โดย ดร.นันทนา ถามกลับไปยังรัฐบาลว่าออกคำสั่งเช่นนี้มาเพื่ออะไร

เพื่อที่จะยึดตรึงสังคมไม่ให้เคลื่อนขยับไปข้างหน้า ไม่ให้ผู้คน สื่อมวลชนสื่อสารอะไรที่นอกเหนือจากข้อมูลของรัฐใช่หรือไม่

นันทนา การสื่อสาร โควิด edafd3434dda5588d5015417.jpg

ดร.นันทนา ชี้ว่า ข้อกำหนดดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 34 ที่ระบุว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน หรือการพิมพ์ การโฆษณา และสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว จะกระทำมิได้ ดังนั้น ข้อกำหนดนี้ จึงเท่ากับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะของสื่อมวลชน

“ที่ ศบค.ประกาศตัวเลขผู้ติดเชื้อและคนตายทุกวันอันนี้ทำให้คนหวาดกลัวหรือเปล่า ดูแล้วก็น่ากลัวที่สุดเลย ติดวันละหมื่นตายวันละร้อยกว่า ยอดสะสมเป็นแสน ความหวาดกลัวเหล่านี้ รัฐบาลปล่อยออกมาเองหรือเปล่า ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำก็คือการปิดปากสื่อปิดปากประชาชน ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างแรง”

นักวิชาการรายนี้ ยกกรณีต่างประเทศที่บริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตได้ดี เปรียบกับประเทศไทย ระบุว่า ในสถานการณ์วิกฤตนั้น ต่างประเทศจะพยายามพาผู้คนออกจากสภาวะวิกฤต  ด้วยการบริหารไม่ว่าจะเป็น การจัดหาวัคซีน การทำให้ประชาชนไม่ตื่นตระหนก ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวด้านการสื่อสาร ไม่บังคับประชาชนห้ามพูด ห้ามแชร์ข้อมูลข่าวสาร

ไม่มีประเทศไหนเขาทำแบบนี้ อันนี้เป็นเรื่องที่ผิดปกติมากๆ ก็น่าจะมีแต่ประเทศไทยที่พยายามห้ามประชาชนพูดในสิ่งที่กำลังเผชิญหน้ากับความวิตก กับการติดเชื้อ การตายอยู่เป็นประจำทุกวัน

นันทนา การสื่อสาร โควิด 533ddd7a08e097e538c.jpg

ในฐานะนักสื่อสาร ดร.นันทนา ชี้แนะการแก้ไขปัญหาเฟคนิวส์ ที่ดีที่สุดคือการที่รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน รอบด้าน ถ้ารัฐบาลให้ข้อมูลต่อประชาชนอย่างเพียงพอ ก็จะไม่มีปัญหาข่าวปลอมหรือการบิดเบือน

อย่างเรื่องวัคซีน ที่มีข่าวจริงบ้างข่าวไม่จริงบ้าง เพราะรัฐบาลไม่ยอมบอกอะไรกับประชาชนเลย ทำให้เราไม่รู้อะไรเลย เมื่อไม่รู้อะไรเลย ประชาชนก็จะไปแสวงหาข้อมูลด้วยตัวเอง ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้ประชาชนบางส่วนรู้ทั้งหมด บางส่วนรู้ครึ่งหนึ่ง หรือว่ารู้ไม่ครบถ้วน ข่าวลวงข่าวหรือข่าวปล่อย จึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ

1.ต้องให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ให้ข้อมูลมากที่สุด ให้ข้อมูลที่ชัดเจนถูกต้องที่สุด

2.ใช้ข้อมูลการสื่อสารชุดเดียวกัน เพราะทุกวันนี้เราไม่รู้จะเชื่อใครดี ระหว่าง ศบค. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหานคร

นักวิชาการ ดร.นันทนา

นักสื่อสารการเมือง ยังกล่าวถึงกรณีสังคม ถามหาความรับผิดชอบของผู้นำหรือรัฐบาล ระบุว่า  ถ้าผู้นำบริหารผิดพลาด สื่อสารผิดพลาดบกพร่อง สมควรที่จะออกมารับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ

การรับผิดชอบที่น้อยที่สุดคือการออกมาขอโทษอย่างจริงใจ ไม่ใช่แค่บอกว่า ขอโทษก็ได้ หรือว่าผ่านไป 2-3 วันแล้วค่อยบอกขอโทษก็แล้วกัน การขอโทษคือการรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้ทำ หรือได้สื่อสารออกไป ซึ่งขอโทษแล้วก็ต้องแก้ไขด้วย ไม่ใช่แค่คำพูด เพราะถ้าขอโทษแล้วไม่แก้ไขอะไรเลย ประชาชนก็จะหมดศรัทธา

ถ้ารัฐบาลไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้ทำ เหมือนการที่รัฐบาลบริหารผิดพลาดบกพร่องอย่างแรงในหลายเรื่อง แล้วรัฐบาลไม่รับผิดชอบ กลับมาโทษประชาชนว่าปล่อยข่าวปลอม กล่าวหาสื่อว่าให้ข้อมูลที่ตื่นตระหนกหวาดกลัว นั่นเท่ากับรัฐบาลโยนปัญหาให้กับคนอื่น

นักวิชาการ ดร.นันทนา

หลายครั้ง พล.อ.ประยุทธ์ มักเลือกที่จะสื่อสารว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ไม่ต่างจากหลายประเทศ สถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ ไม่ได้เผชิญเฉพาะคนไทยเพียงลำพัง แต่ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลก เผชิญชะตากรรมเดียวกัน

ดร.นันทนา มองการสื่อสารรูปแบบนี้ว่า เป็นการใช้ข้อมูลแบบหยาบๆ

ถือเป็นการใช้ข้อมูลที่หยาบมากๆ เราจะใช้ข้อมูลเหล่านี้เหรอคะ ในการแก้ไขปัญหา ที่บอกว่าประเทศอื่นๆ เขาก็ติด แล้วทำไมเราไม่ไปดูประเทศที่เขาแก้ไขปัญหาได้ ประเทศที่เขามีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการ เพราะถ้าพูดอย่างนี้ ก็เหมือนกับคนที่ไม่ต้องบริหารอะไรเลย ถ้าเจอปัญหาเหมือนกันหมดแล้วใช้ข้อมูลหยาบๆ บอกว่าทุกชาติก็เป็นเหมือนกัน ถ้าคิดได้อย่างนั้น ก็ควรให้คนอื่นมาแก้ไขปัญหา เพราะตัวเองหมดปัญญาที่จะแก้แล้ว

ถ้าจะสื่อสารว่าชาติอื่นเขาก็ติดเหมือนกัน นั่นแปลว่าไม่มีสมรรถนะ ศักยภาพในการแก้ไขปัญหาได้ก็ควรจะลาออก แล้วให้คนอื่นเข้ามาแทน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง