ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมคลัง-สาธารณสุข มีมติเลื่อนบังคับใช้ระเบียบคลังว่าด้วยการจ้างพนักงานหรือลูกจ้างโดยใช้เงินนอกงบประมาณไปก่อน จนกว่าจะแก้ไขระเบียบใหม่ให้เรียบร้อย ยืนยันต้องการจัดระเบียบข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ ด้านแพทย์ชนบทประกาศยุติชุมนุมหน้ากระทรวงคลังในวันพรุ่งนี้ (1 มิ.ย.)

จากกรณีเกิดกระแสคัดค้านระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ้างพนักงาน หรือ ลูกจ้างโดยใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2561 นั้น

ล่าสุด นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากหารือกับรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งตัวแทนของหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปว่าให้เลื่อนการบังคับใช้ตามระเบียบนี้ไปก่อน

โดยช่วงบ่ายของวันนี้ (31 พ.ค.) กรมบัญชีกลางจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนกระทรวงอื่นๆ เกี่ยวข้องกับระเบียบดังกล่าว หลังจากนั้นจะนำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงแก้ไขแล้วค่อยออกมาใช้บังคับ

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงการคลังยืนยันว่า ในการให้ความเห็นชอบกรอบอัตรากำลังคนที่แต่ละหน่วยงานเสนอมานั้นได้คำนึงถึงวินัยการเงินการคลัง รวมถึงต้นทุน ผลประโยชน์และการบริการสังคม ไม่ได้ต้องการเอาอำนาจการว่าจ้างมาไว้ที่กระทรวงการคลัง แต่ได้กำหนดกรอบกติกาให้แต่ละหน่วยงานไปจ้างเอง และต้องมีการรายงานมาที่กระทรวงการคลังเพื่อจะได้รู้ข้อมูลว่าทั้งประเทศมีหน่วยงานไหนบ้างที่จ้างลูกจ้างชั่วคราว รวมถึงจำนวนเงินที่ใช้ในการจ้างงาน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นฐานข้อมูลในการบริหารเงินของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องมีเพื่อเป็นวินัยทางการเงินการคลัง

เมื่อถามถึงจำนวนเงินนอกงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ นั้น นายประสงค์กล่าวว่าทางกระทรวงการคลังไม่มีตัวเลขดังกล่าว แม้แต่เงินบำรุงหรือเงินบริจาค ก็ตอบไม่ได้ว่ามีจำนวนเท่าไร แม้กระทั่งคนอยากบริจาคเพื่ออุปกรณ์ทางการแพทย์หรือยารักษาโรคก็ตอบไม่ได้ เพราะมีความไม่แน่นอน

รวมถึงการศึกษาในโรงเรียนว่าจะมีคนมาบริจาคสนับสนุนโรงเรียนเท่าไหร่เหมือนกัน แม้ว่ากระทรวงการคลังเป็นคนรวบรวมข้อมูลและอนุมัติกรอบอัตรากำลังตามที่แต่ละหน่วยงานเสนอมา แต่ทางกระทรวงการคลังก็ไม่ทราบว่ามีความต้องการใช้เท่าไหร่ ดังนั้นจึงอยากให้มีมาตรฐานนี้ขึ้นมา

"มันเป็นเหมือนบริษัทประเทศไทย กระทรวงการคลังก็เหมือนเป็นฝ่ายการเงินในกระเป๋าให้ประเทศ หน่วยงานต่าง ๆ ก็เป็นเหมือนฝ่ายบริการลูกค้าให้กับประชาชน ดังนั้นอะไรก็ตาม ที่ทำให้ งานมันสะดุดก็ต้องดูควบคู่กันไป จะให้บริการอย่างไร ติดขัดอะไร ฝ่ายการเงินจะทำอย่างไร โดยมีกติกาในการเบิกจ่าย สิ่งเหล่านี้ก็เดินไปด้วยกันได้" ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวในระหว่างการแถลงข่าว

ขณะที่ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราชและตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า หลังจากประชุมกับกระทรวงการคลังแล้ว กระทรวงการคลังพยายามบอกว่า ไม่ได้มีอะไรที่จะมาควบคุมหรือจำกัดอะไร เพียงแต่อยากจะรู้ข้อมูลว่ามีการจ้างคนจำนวนเท่าไหร่

ขณะที่ ทางกระทรวงสาธารณสุขบอกว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นทำให้ทุกคนรู้สึกหวั่นไหวว่ามันรู้สึกบีบรัดและปฏิบัติไม่ได้ และกระทบกับการบริการประชาชน เพราะฉะนั้นจะไปอ้างว่ากระทรวงสาธารณสุขได้รับการยกเว้นเพราะทำข้อตกลงแล้วก็ฟังไม่ขึ้น เพราะคนตีความระเบียบกฎหมายไม่ใช่กรมบัญชีกลาง ไม่ใช่กระทรวงการคลัง แต่เป็นสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือสำนักงานป้องกันแบะปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นระเบียบที่คลุมเคลือหรือปฏิบัติไม่ได้ กระทรวงการคลังก็ต้องทบทวนหรือรีบยกเลิก

ทั้งนี้การหารือกับกระทรวงการคลังได้ข้อสรุปดังนี้

  • กระทรวงสาธารณสุขให้ไปดูแลในระเบียบการเงินที่มีปัญหาติดขัดที่ออกมาแล้วไม่สบายใจและปฏิบัติไม่ได้จริง รวมทั้งกระทบการให้บริการแก่ประชาชน
  • ระเบียบกระทรวงการคลังวันที่ 18 พ.ค. 2561 จะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นจากหน่วยงานราชการต่างๆ ที่มีความไม่สบายใจมาพูดคุยกันและหาทางออกว่าระเบียบนี้แขวนไปก่อน แล้วหน่วยงานต่างๆ ไปดูว่าจะมีข้อเสนออะไร และหลังจากนั้นก็จะทำร่างระเบียบออกมาแล้วให้แต่ละหน่วยงานพิจารณา


"ตอนนี้เราพอใจระดับหนึ่ง พูดง่าย ๆ ว่า ถ้าไม่มีผลบังคับใช้ระเบียบนี้ก็ต้องยกเลิกไปในที่สุด จนกว่าจะมีระเบียบฉบับใหม่ และเอกสารที่ออกมาต้องออกมาจากรัฐมนตรีคลัง" นพ.อารักษ์กล่าว


ในส่วนการเดินการขบวนไปยังกระทรวงการคลังนั้น ชมรมแพทย์ชนบทได้ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า ถึงเครือข่ายชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง เนื่องจากได้ข้อสรุปในการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขจึงขอยุติการชุมนุมพรุ่งนี้ (1 มิ.ย.) แต่จะติดตามการปฏิบัติตามข้อสรุปจากการหารือการ ชะลอบังคับใช้ระเบียบฉบับวันที่ 18 พ.ค. 2561 และการแก้ไขระเบียบเงินบำรุง ปี 2561 ให้มีความคล่องตัวในการบริหารเพื่อการจัดบริการสุขภาพประชาชนได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

ระเบียบราชการทำ รพ.สร้างเสร็จแต่เปิดบริการไม่ได้กว่า 100 แห่ง

นอกจากนี้ ในเพจเฟซบุ๊กของชมรมแพทย์ชนบทยังได้เผยแพร่ภาพอาคารร้างที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งพร้อมกับระบุข้อความโดยสรุปว่า โรงพยาบาลบางแห่งในภาคเหนือและภาคใต้ที่ถูกสร้างเสร็จและมีอุปกรณ์ทางการแพทย์พร้อมใช้งานมานานแล้ว แต่ยังไม่มีบุคคลากรทางการแพทย์มาให้บริการเนื่องจากและรออนุมัติจ้างพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล จากกระทรวงการคลัง ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวอย่างแออัดในอาคารหลังเดิมที่มีจำกัด


โดย นพ.อารักษ์กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มีโรงพยาบาลที่เผชิญกับปัญหาดังกล่าวมากกว่า 100 แห่ง โดยมีประมาณ 70 – 80 แห่งที่สร้างเสร็จแล้วเป็นระยะเวลา 1-3 ปี จนกระทั่งหมดระยะเวลาประกัน แต่เปิดใช้บริการไม่ได้ เนื่องจากขาดเครื่องมือแพทย์ ซึ่งทางโรงพยาบาลก็ต้องใช้เงินบำรุงหรือทอดผ้าป่าบ้างหรือเงินของบริจาคจากโครงการก้าวคนละก้าวของตูน บอดี้สแลมบ้าง

แต่ปรากฎว่าเงินบริจาคทุกประเภทต้องอยู่ใต้ระเบียบเงินบำรุง เป็นเงินนอกงบประมาณตามระเบียบเงินบำรุงที่ออกมาเมื่อเดือนม.ค. 2561 ทำให้กระบวนการการบริจาค การจัดซื้อจัดจ้าง มันล่าช้าออกไป เงินบริจาคพี่ตูนก็ยังไม่ได้ใช้ เนื่องจากต้องมีการทำแผน เสนอแผน อนุมัติแผน และทำตามระเบียบพัสดุ และที่สำคัญที่สุด เงินบริจาคเมื่อเข้าสู่ระเบียบเงินบำรุงแบบนี้ แทนที่จะได้ซื้อของได้ถูก ได้ของดี อาจจะได้ของไม่ดี และไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค เพราะฉะนั้นต่อไป ก็เป็นประเด็นว่าผู้บริจาคอาจจะน้อยลงไป

ในส่วนที่กรมการคลังต้องการคุมวินัยการคลังนั้น นพ.อารักษ์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ประชาชนยอมรับ ทุกประเทศในโลก เราก็ยอมรับการควบคุมวินัยการเงินการคลัง แต่มันต้องดูว่าจะคุมแค่ไหนอย่างไร ไม่ใช่คุมทุกอย่างที่มารวมศูนย์ที่กระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังควรคุมนโยบาย คุมประสิทธิภาพ คุมผลลัพธ์ คุมให้มีการกระจายเงินเข้าสู่ระบบ ถ้าโรงพยาบาลไหนมีเงินบำรุงมากเป็นพันล้าน เป็นหมื่นล้าน กระทรวงการคลังจะให้เก็บไว้ไม่ได้นะ ถือว่าเงินไม่ได้กระจายลงสู่พื้นที่ เงินดังกล่าวควรกระจายหมุนเวียนภายในประเทศ


"แต่ตอนนี้เงินที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ของกระทรวงสาธารณสุขมีพอแค่เป็นรายเดือน สิ้นเดือนก็เหมือนสิ้นใจ แต่บางทีโรงพยาบาลขนาดใหญ่อาจจะมีเงินเยอะ เพราะมีภาระในการบริการเยอะ แต่เงินของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้มาจากรายหัวนั้นพอนำมาจัดบริการก็ขาดทุน เพราะฉะนั้น เราเป็นบริการที่ไม่หวังกำไร เพราะฉะนั้นการควบคุมอะไรกระทรวงการคลังต้องอยู่ในกรอบที่เหมาะสม ไม่ให้สะดุดในการบริการประชาชน" นพ.อารักษ์กล่าว


ขอบคุณภาพ : FB/ชมรมแพทย์ชนบท