ไม่พบผลการค้นหา
ยูเอ็นจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศน่าละอายที่คุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ด้วยการสังหาร ทรมาน และใช้กระบวนการทางกฎหมาย

สหประชาชาติ หรืือ ยูเอ็น เผยแพร่รายชื่อ 38 ประเทศน่าละอายที่ตอบโต้และคุกคามคนที่ทำงานต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยรายงานประจำปีนี้ระบุว่าประเทศเหล่านี้มีการปฏิบัติอย่างมิชอบ เฝ้าติดตาม ดำเนินคดี และตีตราเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งในจำนวนนี้ มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

ในรายงานระบุเกี่ยวกับสถานการณ์การคุกคามนักสิทธิมนุษยชนในไทยไว้ 3 ข้อ ได้แก่

  1. วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้ทรงอาณัติของกระบวนการพิเศษได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการคุกคามและการข่มขู่เอาชีวิตนายไมตรี จำเริญสุขสกุล นักต่อสู้เพื่อสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ หลังเข้าประชุมกับผู้เสนอรายงานพิเศษของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์การคุกคามนักสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนพ.ค. 2560
  2. เดือนส.ค. 2560 นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ ทนายจูน ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกตั้งข้อหาว่าแจ้งความเท็จ ซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับการที่เธอทำงานร่วมกับกลไลด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ โดยก่อนหน้านี้ ทนายจูนเคยถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น
  3. ระหว่างการเดินทางเยือนไทยในเดือนมี.ค. 2561 นายแอนดรูว์ กิลมัวร์ รองเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนได้กล่าวถึงการคุกคามนักสิทธิมนุษยชนกับรัฐบาลไทยไปแล้ว และยังส่งจดหมายย้ำเรื่องนี้มาให้รัฐบาลไทยในวันที่ 27 เม.ย. 2561 อีกด้วย

นายอันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า โลกนี้ติดหนี้บุญคุณผู้กล้าหาญที่ยืดหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ให้ข้อมูลและทำงานร่วมกับสหประชาชาติ การลงโทษคนที่ทำงานร่วมกับสหประชาชาติถือเป็นการกระทำอันน่าอะลายที่ทุกคนต้องพยายามให้มากขึ้นเพื่อยุติการคุกคาม

ในบรรดา 38 ประเทศน่าละอายนี้ มีถึง 29 ประเทศที่มีกรณีการคุกคามนักสิทธิมนุษยชนใหม่ ได้แก่ ไทย เมียนมา ฟิลิปปินส์ บาห์เรน แคเมอรูน จีน โคลอมเบีย คิวบา ดีอาร์คองโก จิบูติ อียิปต์ กัวเตมาลา กายอานา ฮอนดูรัส ฮังการี อินเดีย อิสราเอล คีร์กิสถาน มัลดีฟส์ มาลี โมรอคโค รัสเซีย รวันดา ซาอุดีอาระเบีย เซาท์ซูดาน ตรินิแดดแอนด์โตเบโก ตุรกี เติร์กมีนิสถาน และเวเนซุเอลา

นักสิทธิมนุษยชนในประเทศน่าละอายเหล่านี้มักถูกรัฐบาลตั้งข้อหาก่อการร้าย ร่วมมือกับต่างชาติ รวมถึงทำลายชื่อเสียงหรือความมั่นคงของชาติ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการขัดขวางนักสิทธิและภาคประชาสังคมไม่ให้ร่วมมือกับสหประชาชาติ

นักเคลื่อนไหวผู้หญิงหลายคนถูกข่มขู่ว่าจะข่มขืนหรือถูกนำไปเป็นแคมเปญโจมตีอย่างรุนแรงบนโลกออนไลน์ มีรายงานว่า มักพบคนที่หวาดกลัวที่จะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของยูเอ็น แม้พวกเขาจะอยู่ในสำนักงานใหญ่ของยูเอ็นที่นิวยอร์กและนครเจนีวา

นายกิลมัวร์กล่าวในแถลงการณ์ว่า กรณีการคุกคามนักสิทธิมนุษยชนที่ระบุในรายงานฉบับนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ช่วงหลังมานี้ มีกรณีการใช้กระบวนการทางกฎหมาย การเมือง และบริหารในการคุกคามและปิดปากภาคประชาสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา : UN, Reuters