ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอยกเลิกคำสั่งพักใบอนุญาตช่อง Peace TV มองลิดรอนเสรีภาพสื่อ และขัดต่อรัฐธรรมนูญ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เรื่องยกเลิกคำสั่งพักใบอนุญาต Peace TV ลิดรอนเสรีภาพสื่อ – ขัดแย้งรัฐธรรมนูญ

กรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติให้พักใช้ใบอนุญาต Peace TV โดยอ้างอำนาจตามประกาศ กสทช. ข้อ 19 เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ.2555 เป็นเวลา 30 วัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.2561 เพราะเนื้อหารายการอันเป็นการส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร จากการออกอากาศ 4 รายการ คือ 1.รายการเดินหน้าต่อไป ออกอากาศเมื่อวันที่ 26, 27 มี.ค. และ 5 เม.ย. 

2.รายการหยิบข่าวมาคุย ออกอากาศเมื่อวันที่ 27 มี.ค. และ 9 เม.ย. 

3.รายการ เหลียวหลังแลไปข้างหน้า ออกอากาศเมื่อวันที่ 26, 27 มี.ค. และ 9 เม.ย. 

4.รายการเข้าใจตรงกันนะ ออกอากาศเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 

รวมทั้งเนื้อหารายการยังเป็นการนำเสนอที่ขัดต่อคำสั่งศาลปกครอง ที่มีคำสั่งให้บริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 ซึ่งพิจารณาว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำซากนั้น

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอคัดค้านมติของ กสทช. ดังกล่าว ซึ่งเป็นมติอันเป็นการลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชน และขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ให้การรับรองเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน อีกทั้งบทบัญญัติที่กำหนดว่าการสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนอื่น เพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การสั่งพักใบอนุญาต Peace TV เป็นเวลา 30 วัน ได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับ Peace TV ซึ่งมีคนทำงานอยู่ในหลายส่วนและอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาของรายการ หรือมีส่วนรับรู้เนื้อหารายการแต่ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะการใช้อำนาจสั่งพักรายการบางรายการของ Peace TV ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงยิ่งกว่า กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการและกำกับผู้ได้รับใบอนุญาต หากไม่ระมัดระวังในการใช้อำนาจ อาจเป็นองค์กรที่ทำลายเสรีภาพสื่อและองค์กรธุรกิจสื่อเสียเอง

2. กสทช. เป็นองค์กรอิสระมีอำนาจและมีหน้าที่โดยตรงในการป้องกันไม่ให้อำนาจฝ่ายอื่นเข้ามาแทรกแซงความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ขององค์กรสื่อที่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการ กรณีที่ กสทช. อ้างถึงประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 ครั้งนี้เท่ากับ กสทช. ยอมและเปิดทางให้อำนาจอื่นเข้ามาทำลายความเป็นอิสระของ กสทช. โดยตรงเสียเอง และมีผลกระทบต่อองค์กรสื่อที่อยู่ภายใต้การกำกับของ กสทช. รวมทั้งทำลายความน่าเชื่อถือของ กสทช. อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ขององค์กรสื่อมวลชนภายใต้การกำกับของ กสทช. ให้เลวร้ายลงไปอีก รวมถึงความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนไทยก็ลดลงไปเช่นกัน

ดังนั้น มติ กสทช. ครั้งนี้ จึงเป็นการใช้อำนาจที่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานในการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ กำหนดไว้ว่า "การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นจะกระทำไม่ได้" ก็เพื่อให้องค์กรสื่อในส่วนที่ไม่ได้สร้างปัญหายังคงทำหน้าที่ต่อไปได้

กรณีของ Peace TV หากรายการใดมีปัญหาก็ควรพิจารณาเป็นกรณีไป ไม่ควรใช้อำนาจพักใบอนุญาตทั้งสถานี หากการเสนอเนื้อหาของรายการใน Peace TV หรือทีวีช่องใดมีผลกระทบต่อความมั่นคง หรือละเมิดสิทธิบุคคล หมิ่นประมาทบุคคลอื่น ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสียก็สามารถที่จะแจ้งความดำเนินคดี หรือฟ้องร้องตามกฎหมายปกติได้อยู่แล้ว และในแง่ของผู้บริโภคข่าวสาร หากสื่อใดนำเสนอรายการที่ไม่มีความรับผิดชอบ กลไกตลาดผู้บริโภคข่าวสารจะเป็นคนตัดสินสื่อนั้นได้เองเช่นกัน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงขับเคลื่อนตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวมถึงแผนปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน และเข้าสู่ห้วงเวลาเดินตามโรดแมปการเลือกตั้ง สื่อมวลชนจะต้องมีเสรีภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวาง แต่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ขัดแย้งต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยเสรีภาพ (มาตรา 35) อีกทั้งเป็นเครื่องมือในการลิดรอนเสรีภาพสื่อมวลชน ซึ่งใน 'วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก' (World Press Freedom Day) เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้รณรงค์ให้ “ปลดล็อกคำสั่ง คสช. ทวงคืนเสรีภาพประชาชน” ดังนั้น คสช. จะต้องให้ยกเลิกประกาศดังกล่าวด้วย

สมาคมนักข่าวฯ ทั้งสอง ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ทบทวนคำสั่งดังกล่าวโดยพลัน เพื่อให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ในการเสนอข้อมูล ข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง