ไม่พบผลการค้นหา
การประท้วงทั่วตูนิเซียยาวนานต่อเนื่องกว่า 7 วัน หลังจากรัฐบาลแผนงบประมาณเพิ่มภาษีและขึ้นค่าครองชีพประจำปี 2561 ผู้ชุมนุมประท้วงกว่า 800 คนถูกจับจากการจราจลทั่วประเทศกว่า 10 เมือง

เหตุการณ์การประท้วงเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2561 หลังจากที่รัฐบาลตูนิเซียประกาศแผนงบประมาณปี 2561 ที่จะขึ้นอัตราการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและประกันสังคม รวมไปถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ผู้ประท้วงหลายร้อยคนได้มาชุมนุมกันหน้าสำนักงานสหภาพแรงงานตูนิเซีย (UGTT union) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกแผนงบประมาณประจำปีที่ได้ประกาศมาก่อนหน้านี้

การชุมนุมประท้วงได้รุนแรงขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ในกรุงตูนิส ผู้ประท้วงบางกลุ่มได้เผารถตำรวจและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขณะที่ในเมืองทาลา กลุ่มผู้ประท้วงได้เผาสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ และข่มขู่ตำรวจจนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องล่าถอยออกไป

ทั้งนี้โฆษกกระทรวงมหาดไทยของตูนิเซียกล่าวว่า เหตุการณ์จลาจลในเมืองต่างๆ ทำให้มีตำรวจบาดเจ็บ 97 คน และรถตำรวจถูกเผา 88 คัน และตอนนี้ได้มีการจับตัวผู้ประท้วงไว้ทั้งหมด 803 คน ที่สงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ประท้วงที่ถูกจับนั้นกว่า 85% มีอายุตั้งแต่ 15 - 30 ปี

ขณะที่สำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกแถลงแสดงความเป็นห่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตูนิเซีย เนื่องด้วยผู้ที่ถูกจับกุมกว่า 200 คน เป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15 - 20ปี รวมถึงมีการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย

000_WM074.jpg

ปัญหาเรื่องปากท้อง ชนวนจุดการจลาจล

ตูนีเซียประสบกับปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจมายาวนานกว่า 20 ปี ตั้งแต่การครองอำนาจของอดีตประธานาธิบดีเบน อาลี การประท้วงถูกจุดชนวนขึ้นจากปัญหาการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น ปัจจุบันอัตราการว่างงานในตูนีเซียสูงกว่า 35% ตามรายงานขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ

นับตั้งแต่การปฏิวัติขับไล่เผด็จการเบน อาลี ในปี 2554 ตูนิเซียเปลี่ยนรัฐบาล 6 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในได้ ประกอบกับการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโอกาสการลงทุนจากต่างชาติลดลง ขณะที่อัตราค่าครองชีพเพิ่มขึ้นกว่า 10% ทุกปี 

เดือนธันวาคม 2017 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประกาศเตือนว่าตูนิเซียจำเป็นจะต้อง "จัดการปัญหาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน" และ "ตัดสินใจอย่างเด็ดขาด" เพื่อลดตัวเลขขาดดุลงบประมาณ หลังจากที่ไอเอ็มเอฟเคยอนุมัติเงินกู้ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (93.4 พันล้านบาท) ให้กับตูนิเซียเมื่อปี 2558

นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองคนหนึ่ง กล่าวกับเดอะการ์เดียนว่า ที่ผ่านมา "เราประสบความสำเร็จในการเรียกร้องเสรีภาพในการพูดและการแสดงออกในการชุมนุม แต่พวกเรายังคงมองหาการจ้างงานและศักดิ์ศรี"

ขณะที่นายมูฮัมหมัด อาลี คนงานในโรงงานแห่งหนึ่ง กล่าวว่า มีคนงานกว่า 900 คนจาก 1,500 คน ประท้วงหยุดงานตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว "ปัญหาของเราไม่ได้อยู่ที่การปฏิวัติ แต่อยู่ที่รัฐบาล" นายมูฮัมหมัดกล่าวกับผู้สื่อข่าวของเดอะการ์เดียน

ขณะที่ชาวตูนีเซียบางคน อย่างอิสเซ็ม วิศวกรทางทหาร มีความเห็นว่า ตูนิเซียจ่ายค่าประชาธิปไตยที่สูงเกินไป ช่วงสมัยของเบน อาลี มันดีกว่านี้ ทั้งตัวประธานาธิบดี และการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจ

000_WD7GM.jpg


ที่มา - เดอะ การ์เดียน, สำนักข่าวบีบีซี และ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น