ไม่พบผลการค้นหา
ปธ.สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยเตือน 'สมคิด' อย่าเร่งเข้า CPTPP ชี้กระทบนโยบายสาธารณะรุนแรง จี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดผลศึกษา 'ปัญญาภิวัฒน์' ดันจีดีพีร้อยละ 0.77

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทยและประธานคณะกรรมการกำกับทิศศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เพื่อเตือนสติ กรณีที่รองนายกฯ มีความคิดที่จะนำประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยเนื้อหาของจดหมายมีดังนี้  

"กระผมมีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อท่าทีของท่านในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจที่ท่านมีการแสดงเจตจำนงจะนำประเทศไทยเข้าร่วมในความตกลง THE COMPREHENSIVE AND PROGRESSIVE AGREEMENT FOR TRANS-PACIFIC PARTNERSHIP (CPTPP) ที่มีประเทศสมาชิก 11 ประเทศ  

"โดยที่ประเทศไทยมี FTA กับกลุ่มประเทศ CPTPP ไปแล้ว 8 ประเทศ ประกอบกับบรรดาความตกลงทั้งหลายภายใต้ CPTPP ประเทศไทยก็มิได้มีส่วนร่วมในการร่างข้อบทมาตั้งแต่ต้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะ ที่จะมีผลไปชั่วลูกชั่วหลานซึ่งต้องมีการศึกษาผลดีผลเสียอย่างละเอียด  

 "ไม่ใช่เพียงนำผลประโยชน์เฉพาะหน้าแค่การส่งออกสินค้าระยะสั้นๆ มาพิจารณาเป็นหลักเท่านั้น ในระยะยาวประเทศไทยอาจเสียเปรียบมากกว่าได้ประโยชน์ ที่สำคัญผลการศึกษาวิจัยด้านผลกระทบต่อประเทศไทยก็ยังมีไม่มากและขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมด้วย  

"การเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของประเทศไทยอาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์กับประเทศไทย ตามที่ท่านแสดงเจตจำนงไว้ กระผมจึงใคร่ขอให้ท่านทบทวนท่าทีของท่านใหม่ เพื่อมิให้ความตั้งใจของท่านสวนกับกระแสความเป็นจริงของโลก"

ทั้งนี้ นพ.หทัย ได้มีหนังสือถึง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอีกฉบับ กรณีที่มีการเปิดเผยผลการศึกษาของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ที่หนุนไทยเข้าร่วมความตกลง TPP หลังผลการศึกษา พบว่าช่วยดันเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.77 แต่กลับไม่ปรากฏว่ามีการเผยแพร่รายงานการศึกษานี้ต่อสาธารณชนให้รับทราบแต่อย่างใด จึงอยากขอให้กรมเจรจาฯเปิดเผยงานวิจัยชิ้นนี้ให้สาธารณะรับรู้ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ  


"งานศึกษานี้ใช้ภาษีของประชาชน สาธารณชนจึงมีสิทธิตรวจสอบความถูกต้อง เพราะสถาบันฯที่จัดทำมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์กับธุรกิจส่งออก" นพ.หทัย ระบุ


ก่อนหน้านี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เตรียมข้อมูลทุกด้าน เพื่อเข้าร่วมข้อตกลงความครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือ CPTPP (เดิมชื่อ TPP) ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่า มีประเทศสมาชิกรวม 11 ประเทศ ลงนามในความตกลง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

โดยรองนายกรัฐมนตรี กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมการเจรจาได้ภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งการค้าและการลงทุนในด้านต่าง ๆ มากขึ้น โดยการเจรจาดังกล่าว จะสอดคล้องกับการทบทวนกรอบการเจรจาการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ที่จะต้องมีการทบทวนนอกเหนือจากรายการสินค้าทั่วไป เป็นความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนที่มีความใกล้ชิดมากขึ้น

กรมเจรจาการค้าฯ เผยผลรับฟังความเห็นรัฐ-เอกชน-ประชาสังคม

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมการประชุมรับฟังความเห็นเบื้องต้นต่อความตกลง CPTPP เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ศึกษาประโยชน์และผลกระทบของความตกลง CPTPP เพื่อเตรียมความพร้อมของไทย

โดยผลการประชุมครั้งนี้ ภาคเอกชนส่วนใหญ่สนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เนื่องจากจะช่วยขยายการค้า ดึงดูดการลงทุนและเสริมสร้างขีดความสามารถของสินค้าและบริการของไทย เข้าสู่ตลาดของสมาชิก CPTPP และตลาดโลก และยังเป็นการเพิ่มความได้เปรียบให้กับไทย เพราะขณะนี้มีหลายประเทศที่สนใจเข้าร่วม CPTPP เช่น เกาหลี สหราชอาณาจักร และโคลอมเบีย เป็นต้น

ส่วนภาครัฐ มีความเห็นว่า CPTPP ได้ตัดบทบัญญัติหลายส่วนที่เสนอโดยสหรัฐฯ และเป็นเรื่องที่ไทยมีข้อกังวลออก เช่น การใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนกับสัญญาการลงทุน หรือการอนุญาตการลงทุน การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรอันเกิดจากความล่าช้าอย่างไม่สมเหตุสมผล การขยายระยะเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ภายใต้ข้อบททรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

แต่ CPTPP เป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง จึงต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เนื่องจากบางข้อตกลงไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติของไทย และจำเป็นต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมาย รวมทั้งอาจต้องการระยะเวลาในการปรับตัว และมีหลายข้อตกลงที่สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกับแผนการปฏิรูปของไทย

ด้านภาคประชาสังคม มีข้อกังวลเรื่องการเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ เช่น อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV1991) และสนธิสัญญาบูดาเปสต์ (Budapest Treaty) และการนำข้อตกลงที่ชะลอการมีผลบังคับใช้ไปแล้วกลับเข้ามามีผลกับสมาชิกใหม่ หากสหรัฐฯ เปลี่ยนใจกลับมาเป็นสมาชิกอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้สมาชิก CPTPP เคยชี้แจงไว้ว่าเป็นความตั้งใจที่จะดึงเรื่องอ่อนไหวที่เป็นความต้องการของสหรัฐฯ ออกจากการมีผลใช้บังคับ และหากจะนำกลับเข้ามาจะต้องเป็นฉันทามติของสมาชิกทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ยกรมฯ ได้ชี้แจงว่า จะให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อบท CPTPP อย่างรอบด้าน และจะหารือผู้เกี่ยวข้องบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อไป