ไม่พบผลการค้นหา
ในสหรัฐอเมริกา เด็กที่อายุน้อยที่สุดในชั้นเรียนมีโอกาสสูงที่จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น โดยเด็กเหล่านี้มักดูเหมือนจดจ่อกับสิ่งใดลำบาก และยากที่จะทำงานได้สำเร็จ แต่ลักษณะอาการเหล่านี้ อาจเกิดขึ้นเพราะกฎระเบียบของโรงเรียน

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นในสหรัฐอเมริกามีจำนวนสูงขึ้นอย่างมาก แค่เฉพาะในปี 2016 ก็มีเด็กชาวอเมริกันอายุ 2 ถึง 17 ปี จำนวน 6.1 ล้านคน หรือคิดเป็น 9.4 เปอร์เซ็นต์ของเด็กในช่วงอายุดังกล่าว ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น

งานวิจัยใหม่จากฮาร์วาร์ดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ตั้งข้อสังเกตว่าส่วนหนึ่งของจำนวนเด็กสมาธิสั้นที่เพิ่มขึ้นอาจเกิดจากการวินิจฉัยอย่างไม่เหมาะสม

ในหลายๆ รัฐของอเมริกามีการกำหนดให้เด็กอายุ 5 ขวบที่เข้าเรียนระดับอนุบาล ต้องเกิดก่อนวันที่ 1 กันยายน นั่นหมายความว่าในรัฐเหล่านั้น เด็กที่เกิดเดือนสิงหาคมจะมีอายุน้อยที่สุดในชั้นเรียน ขณะที่เด็กที่เกิดเดือนกันยายนจะอายุมากที่สุด เพราะต้องรออีกปีหนึ่งจึงจะได้เข้าเรียน

ทิโมธี เลย์ตัน (Timothy Layton) ผู้ช่วยผู้วิจัยนโยบายดูแลสุขภาพ แห่งสถาบันบลาวาตนิก วิทยาลัยแพทยศาสตร์ฮาร์วาร์ด กล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่าสำหรับโรคสมาธิสั้นนั้น เด็กอาจได้รับการวินิจฉัยเกินเลย (over-diagnosed) และรักษาเกินเลย (overtreated) เพราะว่าพวกเขาบังเอิญดูเหมือนโตช้าไม่สมวัยเมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นในชั้นเรียนที่มีอายุมากกว่าเมื่อศึกษาในระดับชั้นประถม

ในชั้นเรียนเดียวกันนี้ เด็กที่เกิดวันที่ 31 สิงหาคม จะมีอายุน้อยกว่าเด็กที่เกิดวันที่ 1 กันยายน เกือบหนึ่งปีเต็ม นักเรียนที่เด็กกว่าเพื่อนเกือบหนึ่งปี อาจจะประสบปัญหากับการนั่งนิ่งๆ และจดจ่อกับการเรียนเป็นเวลานานๆ อาการอยู่ไม่สุขนี้เองอาจมีส่วนทำให้ถูกวินิจฉัยเกินเลยว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น โดยเด็กที่เกิดในเดือนสิงหาคม มีโอกาสที่จะถูกวินิจฉัยว่าสมาธิสั้นสูงกว่าเด็กที่เกิดเดือนกันยายน ราว 30 เปอร์เซ็นต์

หากลองนึกภาพตามว่าครูจะมองนิสัยภายนอกของเด็กในห้องเรียนสองคนที่อายุห่างกันเกือบหนึ่งปีเป็นอย่างไรก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก เด็กอายุ 6 ขวบ กับ 7 ขวบมีนิสัยต่างกันมาก การกระทำที่อาจจะดูซนหรือเอะอะไปบ้างตามปกติของเด็ก 6 ขวบ อาจดูเป็นเรื่องผิดปกติได้ เมื่อเทียบกับเด็กคนอื่นในห้องเรียนเดียวกันที่มีอายุมากกว่า

เมื่อเด็กค่อยๆ โตขึ้น ความแตกต่างของอายุก็จะมีผลน้อยลงไปตามเวลา แต่สำหรับเด็กแล้ว อายุที่ห่างกัน 11-12 เดือน สามารถส่งผลถึงพฤติกรรมที่ต่างกันอย่างยิ่ง

งานวิจัยชิ้นนี้ศึกษาฐานข้อมูลทะเบียนการประกันสุขภาพของนักเรียนระดับชั้นประถมจำนวน 407,846 คนในสหรัฐฯ ที่เกิดในช่วงปี 2007 ถึง 2009 และติดตามศึกษาข้อมูลของเด็กเหล่านี้จนถึงปลายปี 2015 โดยมุ่งศึกษาอัตราส่วนเด็กที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นระหว่างเด็กที่เกิดเดือนสิงหาคมกับเด็กที่เกิดเดือนกันยายน ในรัฐที่ตัดเกณฑ์การลงทะเบียนเข้าเรียนด้วยวันที่ 1 กันยายน พบว่าในสัดส่วนเด็กที่เกิดเดือนสิงหาคม 10,000 คน จะมีเด็กประมาณ 85 คนถูกวินิจฉัยว่าสมาธิสั้น ขณะที่เด็กที่เกิดในเดือนกันยายน 10,000 คน จะมีเพียงประมาณ 64 คนเท่านั้นที่ถูกวินิจฉัยว่าสมาธิสั้น

กลุ่มผู้วิจัยไม่พบความแตกต่างลักษณะนี้ในรัฐที่ไม่มีการบังคับตัดเกณฑ์การเข้าเรียนด้วยวันที่ 1 กันยายน และไม่พบว่ามีความแตกต่างด้านสุขภาพอื่นๆ อย่างหอบหืด เบาหวาน หรือโรคอ้วน ในเด็กที่เกิดเดือนสิงหาคมแต่อย่างใด

การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นจึงไม่สามารถดูเพียงอาการที่ปรากฏเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงบริบท อายุของเด็กคนอื่นในชั้นเรียน กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และสถานการณ์แวดล้อมอื่นๆ ด้วย ปัจจัยเหล่านี้ต้องได้รับการพิจารณาก่อนวินิจฉัยและดำเนินการรักษา

แม้ในประเทศไทยจะไม่มีการกำหนดวันตัดเกณฑ์เข้าเรียนลักษณะนี้ แต่ใช้เกณฑ์อายุปีบริบูรณ์ในการรับเข้าเรียน ทว่ากรณีเช่นนี้ก็แสดงให้เห็นว่านิยามและกฎระเบียบข้อบังคับของรัฐก็อาจทำให้เราถูกตีตรากลายเป็นคนป่วยได้เหมือนกัน

อย่างไรก็ตามยังคงมีความน่าเป็นห่วงว่างานวิจัยชิ้นนี้อาจถูกนำไปตีความว่าโรคสมาธิสั้นนั้นเป็นเพียงเรื่องโกหกทางการแพทย์ และเด็กที่สมาธิสั้นเป็นเพียงเด็กที่ยังไม่โตเท่าคนอื่นเพราะเข้าเรียนเร็วเท่านั้น ทำให้เด็กที่สมาธิสั้นจริงๆ ไม่ได้รับการวินิจฉัยและดูแลอย่างถูกต้อง ในอีกมุมหนึ่งการมองเช่นนี้ก็มีความอันตรายแฝงอยู่เช่นกัน

ที่มา: Youngest in school year more likely to have bad behaviour diagnosed as ADHD, study shows

Youngest Children In A Class Are Most Likely To Get ADHD Diagnosis

Youngest kids in class are more likely to be diagnosed with ADHD than oldest kids, study finds

On Being
198Article
0Video
0Blog