ไม่พบผลการค้นหา
มนตรีแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมการค้า ลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 ไทยชูประเด็น 'ประเทศไทย 4.0' สู่ยุทธศาสตร์ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' ลงนามข้อตกลงร่วม 6 ฉบับ พร้อมพาคณะนักธุรกิจ 32 บริษัทลงพื้นที่ความคืบหน้าโครงการอีอีซี -สนามบินอู่ตะเภา 25 ส.ค.

นายหวัง หย่ง มนตรีแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเยือนที่เพื่อเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย - จีน (JC) ครั้งที่ 6 ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 

โดยมีผู้บริหารระดับสูงร่วมหารือด้วย ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชน์ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ   

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ระบุว่านายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีในโอกาสที่นายหวัง หย่ง ได้รับตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐของจีนเป็นสมัยที่ 2 พร้อมฝากความระลึกถึงประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และภริยา และนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ที่ได้รับตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 เช่นกัน แสดงให้เห็นถึงความไว้วางใจของประชาชนชาวจีนที่มีต่อรัฐบาลจีนในการบริหารประเทศ และมั่นใจว่าความสัมพันธ์และความร่วมมือไทย-จีน จะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  

ประชุมคณะกรรมการร่วมฯ ครั้งที่ 6 หวังสร้าง 'ไทยแลนด์ 4.0' รับ 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง'

พร้อมกันนี้ยังชื่นชมการเป็นประธานร่วมกันระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและ มนตรีแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย - จีน (JC) ครั้งที่ 6 ซึ่งมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ด้วยทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้ JC เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพ ช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านเศรษฐกิจ รวมถึงแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการค้า การลงทุน ในส่วนของประเทศไทยกำลังมุ่งสู่ 'ประเทศไทย 4.0' ซึ่งสอดคล้องกับข้อริเริ่ม 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' ของจีน ซึ่งไทยและจีนสามารถเกื้อกูลและสร้างประโยชน์ระหว่างกันได้ 

โดยโครงการ EEC ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญขณะนี้มีพัฒนาการไปมาก และเป็นโอกาสดีสำหรับนักลงทุนจากประเทศจีน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

ขณะที่ มนตรีแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนจีนย้ำถึงความสำคัญของไทยในฐานะหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดรอบด้านทุกระดับ และชื่นชมพัฒนาการของประเทศไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ทำให้การเมืองและเศรษฐกิจไทยมีความมั่นคงและก้าวหน้า รัฐบาลไทยยังได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว และริเริ่มโครงการเศรษฐกิจสำคัญๆ หลายโครงการ อาทิ โครงการ EEC ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีน ยังถือเป็นแบบอย่างความร่วมมือเพื่อประโยชน์ซึ่งกันและกัน 

25 ส.ค. พา 32 บริษัทใหญ่ ทัวร์อีอีซี

สำหรับวันพรุ่งนี้ (25 ส.ค.) จะนำคณะเอกชนจีน ซึ่งมีถึง 32 บริษัท ที่ถูกจัดอยู่ในลำดับ 500 บริษัทขนาดใหญ่ของโลก เยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งบริษัทจีนที่สนใจการลงทุนในไทย เพราะมีความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลไทย ที่ให้ความสำคัญในสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะโครงการรถไฟไทย-จีน มีสามารถเริ่มดำเนินโครงการและมีการก้าวหน้าเพราะด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย 

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศปลายทางการท่องเที่ยว ที่ชาวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจีนกว่า 10 ล้านคนเดินทางมาเที่ยวไทย มากกว่าการคาดการณ์ในคราวการประชุม JC ครั้งที่ 5 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเพียง 6 ล้านคน ปัจจุบันภาพยนตร์ไทยยังสามารถเข้าไปเผยแพร่ในสถานีโทรทัศน์ส่วนกลาง CCTV ของจีนได้ แสดงให้เห็นถึงโอกาสและอนาคตความร่วมมือด้านท่องเที่ยว สังคมและ วัฒนธรรม จะมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-จีน ให้มีการขยายตัวและลึกซึ้งรอบด้านมากยิ่งขึ้น 

โอกาสนี้ มนตรีแห่งรัฐของจีนยังกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ได้ส่งเสริมนโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของจีน โดยในเดือน พ.ย.นี้ จีนจะเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติ (China International Import Expo: CIIE) ขอเชิญชวนภาครัฐและเอกชนไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทยต่าง ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีของสินค้าและบริการไทยที่จะเข้าถึงตลาดที่มีผู้บริโภคกว่า 1,300 ล้านคน และยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมข้อริเริ่ม 'หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' และจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนไทยและจีนด้วย

แสดงความเสียใจเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มภูเก็ตเมื่อเดือน ก.ค. 

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรียังแสดงความเสียใจอีกครั้งต่อรัฐบาลและประชาชนจีน สำหรับเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือติดตาม และเยียวยาผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมนตรีแห่งรัฐของจีนกล่าวแสดงความซาบซึ้งที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปภูเก็ต เพื่อเยี่ยมผู้บาดเจ็บและปลอบขวัญและญาตผู้เสียชีวิตด้วยตนเอง แสดงให้เห็นถึงน้ำใจของนายกรัฐมนตรีและความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการดูแลนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี

ไทย – จีน ชูธงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ดันเป้าการค้า 1.4 แสนล้านดอลลาร์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ในวันนี้ (24 ส.ค.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ว่าทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้ยกระดับและกระชับความสัมพันธ์ของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ โดยมอบคณะทำงานร่วมไทย-จีน ด้านการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไปหารือถึงการยกระดับความร่วมมือและกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบันให้กว้างและครอบคลุมในประเด็นต่างๆ ของทุกหน่วยงานมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะให้มีการลงนามกรอบความร่วมมือที่ยกระดับนี้ในอนาคตอันใกล้ 

พร้อมกันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เน้นย้ำถึงการผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ทั้งการค้า การลงทุน การเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิทยาศาสตร์ การท่องเที่ยว การเงิน ดิจิทัล รวมถึงความเชื่อมโยงด้านยุทธศาสตร์ และการสอดประสานด้านนโยบายที่ไทยกำลังมุ่งสู่การเป็น Thailand 4.0 กับ 'ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง' ของจีน ที่สามารถเกื้อกูลและสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันได้   

หวัง หย่ง เยือนไทย

ตั้งเป้าหมายขยายการค้าร่วมแตะ 1.4 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2564

ทั้งนี้ จากการปฏิรูปเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งสองฝ่ายจึงเล็งเห็นถึงโอกาสและศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการขยายการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน จึงเห็นพ้องการตั้งเป้าหมายการค้าที่ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564 จากปัจจุบันอยู่ที่ 73,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

โดยมุ่งผลสำเร็จผ่านการส่งเสริมความร่วมมือในหลากหลายสาขาศักยภาพ อาทิ 1) การค้าและการลงทุน สองฝ่ายตกลงที่จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าอย่างไร้อุปสรรค ซึ่งมีระดับอธิบดีของทั้งสองฝ่ายเป็นประธาน เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน ในส่วนของการลงทุนจะร่วมมือลงทุนในสาขา เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมใหม่ของไทยและนโยบายอุตสาหกรรมของจีน 

2) การค้าสินค้าเกษตร ให้เร่งดำเนินการความร่วมมือในสินค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะข้าวและยางพารา 

3) ทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล บุคคลากร และผู้เชี่ยวชาญระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์ คุ้มครอง บังคับใช้กฎหมาย และใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการจดทะเบียนและคุ้มครองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) 

4) การเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เชิญนักลงทุนจีนเข้าร่วมประมูลโครงการสำคัญต่างๆ ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงสำหรับท่าอากาศยาน การขยายสนามบินอู่ตะเภา และโครงการก่อสร้างอื่นๆ ภายใต้ EEC 

5) ความเชื่อมโยงทางดิจิทัล ผลักดันความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์/ AI/ Big Data/ IOT และการลงทุนในดิจิทัลพาร์คของไทย 

6) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดาวเทียมมาใช้กับการเกษตร 

7) การท่องเที่ยว สองฝ่ายยินดีที่ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน มีความคืบหน้า ส่งผลให้การท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายบรรลุเป้าหมายนักท่องเที่ยวรวมของสองประเทศ ในปี 2017 จำนวน 10 ล้านคน 

8) การเงิน ส่งเสริมการใช้เงินตราสกุลหยวนจีนและเงินบาทไทยสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างกัน 

9) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนบุคลากรและเพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน ผ่านโครงการฝึกอบรมและการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 

และ 10) ความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น/ระดับอนุภูมิภาค ส่งเสริมการจัดกิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือไทย – กว่างซี ไทย – กวางตุ้ง ไทย – ยูนนาน และไทย – ฉงชิ่ง   

ลงนามเอ็มโอยู 6 ฉบับ สร้างเสริมเศรษฐกิจ หนุนการค้า การส่งออกสัตว์ปีก การลงทุน การวิจัย

พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเสริมว่า ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในเอกสารรวม 6 ฉบับ ได้แก่

1) เอกสารผลลัพธ์การประชุม JC เศรษฐกิจไทย-จีน ครั้งที่ 6 แสดงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน

2) MOU จัดตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการค้าอย่างไร้อุปสรรคระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับจีน เพื่อประสานการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน

3) พิธีสารหลักเกณฑ์การตรวจสอบการกักกันและสุขอนามัย ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนไทยสามารถส่งออกสินค้าสัตว์ปีกไปยังจีนได้มากขึ้น

4) MOU ส่งเสริมการลงทุนระหว่างไทยและจีน ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การลงทุนระหว่างกัน

5) MOU ระหว่าง EEC กับกระทรวงพาณิชย์จีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC และ

6) MOU ความร่วมมือด้านอวกาศ เช่น โครงการส่งนักวิจัยไทยขึ้นไปวิจัยและทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติเทียนกง การพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศร่วมกัน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีดาวเทียมของจีนมาใช้ในการพัฒนาด้านการเกษตรของไทย  

นอกจากนี้ การเดินทางเยือนประเทศไทยของมนตรีแห่งรัฐของจีน (นายหวัง หย่ง) ในครั้งนี้ ยังได้นำคณะผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญหลายแห่งของจีนเข้าร่วมการประชุมฯ เพื่อร่วมรับฟังแนวทางการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไทย ซึ่งเป็นการเน้นย้ำบทบาทของไทย ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของจีนในภูมิภาคอาเซียน   

ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยจีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ในขณะที่ไทยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 15 และเป็นตลาดนำเข้าลำดับที่ 10 ของจีน ในปี 2560 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 73,670.43 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 11.9 และในช่วงเดือนแรกของปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับจีนมีมูลค่า 45,710.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.6 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ในขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และส่วนประกอบ/อุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :