ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการนิติศาสตร์ ชี้ เซ็ตซีโร่ ให้อยู่ต่อบางองค์กร เกิดปัญหาเลือกปฎิบัติ กระทบการปฏิบัติหน้าที่องค์กรอิสระในอนาคต ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ด้าน วิป สนช. ชี้แจงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ให้อำนาจ สนช.

เวทีสัมมนาหัวข้อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ บทบาทและความท้าทายทางการเมือง จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา บทบาทองค์กรอิสระยังไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนบางฝ่าย ทาง กรธ. จึงมาคิดร่างเนื้อหาเกี่ยวกับองค์กรอิสระให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย หลักการใช้อำนาจอย่างเสมอภาค และหลักการใช้อำนาจถูกต้องตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ตั้งแต่กระบวนการสรรหา ประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรอิสระอย่างเป็นระบบ อย่างการเพิ่มหลักการใหม่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ให้องค์กรอิสระทำงานเชิงรุกโดยไม่ต้องมีผู้ร้อง หรือการไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลภายใน 1 ปี โดยต่อเวลาได้ไม่เกินอีก 1ปี ตามเหตุผลความจำเป็น

ส่วนคุณสมบัติที่สูงขึ้นของกรรมการองค์กรอิสระ นายชาติชาย กล่าวว่า เมื่ออำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้น มีการทำงานเชิงรุก จึงจำเป็นที่ต้องมีคุณสมบัติมากขึ้น มีความรับผิดชอบและสามารถตรวจสอบกันเองได้โดยทำมาตรฐานจริยธรรม รวมถึงกลไกให้ประชาชนตรวจสอบได้

ด้านศาตราจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ความท้าทายทางการเมืองที่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องเผชิญคือประเด็นการดำรงอยู่ขององค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมแล้วในรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้กรรมการองค์กรอิสระดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระอย่างเท่าเทียมกัน แต่พอรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้เป็นเรื่องที่กำหนดโดย สนช. จนทำให้บางองค์กรพ้นจากตำแหน่งทั้งหมด บางองค์กรอยู่ต่อไปจนครบวาระ

สุดท้ายจะเป็นประเด็นให้ฝ่ายการเมืองโจมตีในภายหลัง เกิดปัญหาในการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพราะไม่สามารถอธิบายได้ว่าการกำหนดให้สถานะแต่ละองค์กรต่างกันจะทำให้เกิดประโยชน์สาธารณะอย่างไร ถือเป็นรอยด่างที่ศาลรัฐธรรมนูญควรวินิจฉัยให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดเป็นประเด็นทางการเมืองในอนาคต

ศาตราจารย์บรรเจิด ยังกล่าวถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการตรวจสอบกรรมการ ป.ป.ช. ว่า เดิมในรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้ ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภา จํานวนไม่น้อยกว่า1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน เข้าชื่อต่อประธานศาลฎีกา

แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้เข้าชื่อต่อประธานรัฐสภาซึ่งเป็นบุคคลจากฝ่ายการเมือง อาจกระทบต่อความอิสระในการทำหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. ได้ พร้อมชี้ว่ามีช่องโหว่เกี่ยวกับคณะกรรมการสรรหา ที่มีสัดส่วนจากผู้ทรงคุณวุฒิและม���อำนาจชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหานำประเด็นทางการเมืองมาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องคุณสมบัติที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ได้

ขณะที่นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ วิป สนช. ชี้แจงถึงปัญหาการดำรงอยู่ของกรรมการองค์กรอิสระที่ต่างกัน ย้ำว่าเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดไว้ว่า ให้ขึ้นอยู่กับการกำหนดโดย สนช. ยอมรับว่าตามหลักการแล้วควรให้อยู่ต่อทั้งหมด ยกเว้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ที่ต้องสรรหาตามหลักสากลเพื่อให้นานาชาติยอมรับ

ส่วนสถานะของ กกต. สมาชิก สนช. ที่พิจารณามีความเห็นต่างกันหลายฝ่าย จนสุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ก็พิจารณากันว่าให้พ้นจากตำแหน่งไปทั้งหมด ซึ่งมีเรื่องการทำหน้าที่ให้ทันตามโรดแมปเลือกตั้งมาเป็นปัจจัยในการวิเคราะห์ด้วย