ไม่พบผลการค้นหา
ในปีที่ผ่านมา มีผู้หญิงถูกฆาตกรรมในตุรกี 440 ราย ทำให้ศิลปินรายหนึ่งสร้างงานศิลปะจัดวางด้วย 'รองเท้า' เพื่อให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาและหาทางแก้ไข ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนเชื่อว่าสถิติผู้หญิงที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ทั่วประเทศอาจมีมากกว่านี้

'วาฮิต ตูนา' ศิลปินชาวตุรกี นำรองเท้าผู้หญิง 440 คู่ ไปติดตั้งไว้ตามกำแพงอาคารต่างๆ ในเขตเทศบาลกาบาตัสของนครอิสตันบูล เพื่อสื่อถึงจำนวนของผู้หญิงที่เสียชีวิตจากเหตุฆาตกรรมและการใช้ความรุนแรงในครอบครัวทั่วประเทศตลอดปี 2018 ที่ผ่านมา

ผลงานของเขาใช้ชื่อว่า 'ISIMSIZ' ในภาษาตุรกี มีความหมายว่า 'ไร้นาม' และผลงานดังกล่าวจะจัดแสดงตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2562 ไปจนถึง 1 มี.ค.2563

ตูนาระบุว่า เขาตั้งใจใช้รองเท้าผู้หญิงจริงๆ ในการจัดแสดงผลงาน แทนที่จะเป็นรูปปั้นหรือรองเท้าจำลอง เพราะเขาต้องการให้คนที่รับชมผลงานตระหนักว่า "สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใกล้ตัว"

Ruptly-ศิลปินตุรกีจัดแสดงรองเท้าบนกำแพง ระลึกถึงผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรม-วาฮิต ตูนา-Wahit Tuna

นอกจากนี้ ตูนายังจงใจติดตั้งรองเท้าเหล่านี้บนกำแพงอาคารของย่านที่มีคนผ่านไปมาเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน แทนที่จะนำผลงานไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นพื้นที่แบบปิด โดยระบุว่า เขาได้แรงบันดาลใจจากธรรมเนียมชาวตุรกีที่มักจะวางรองเท้าของสมาชิกครอบครัวที่เสียชีวิตเอาไว้หน้าบ้าน แต่เขายืนยันว่ารองเท้าทั้งหมดที่นำมาแสดงไม่ใ่ช่รองเท้าของที่ผู้เสียชีวิต

ส่วนองค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงในตุรกีระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2019 เป็นต้นมา มีผู้หญิงตุรกีถูกฆาตกรรมหรือถูกทำร้ายจนเสียชีวิตแล้วทั้งหมด 220 ราย และตัวเลขอาจเพิ่มขึ้นอีกในช่วงหลายเดือนก่อนจะสิ้นปีนี้

องค์กรที่รวบรวมข้อมูลยังระบุด้วยว่า สถิติผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรมในตุรกีอาจสูงกว่านี้ แต่การแจ้งสาเหตุการตายอาจไม่ได้เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เพราะมีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องไม่ได้สอบสวนสาเหตุการตายอย่างจริงจัง

Ruptly-ศิลปินตุรกีจัดแสดงรองเท้าบนกำแพง ระลึกถึงผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรม-วาฮิต ตูนา-Wahit Tuna

กรณีสะเทือนขวัญที่ทำให้การรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงถูกจุดชนวนในตุรกี เกิดขึ้นหลังจากที่ 'เอมีน บูลุต' ชาวเมืองคิริกคาเล ภาคกลางของตุรกี ถูกอดีตสามีแทงด้วยมีดหลายแผลในร้านกาแฟต่อหน้าลูกค้าที่อยู่ในร้านช่วงกลางวัน

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกอัดเป็นคลิปวิดีโอและมีผู้นำไปเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ แสดงให้เห็นว่าอดีตสามีของเอมีนหลบหนีไปขึ้นแท็กซี่ได้อย่างง่ายดาย ส่วนเอมีนล้มลงกลางกองเลือดต่อหน้าลูกสาวของเธอที่อยู่ในร้านด้วย พร้อมคำพูดว่า "ฉันไม่อยากตาย" ขณะที่ลูกสาวของเธอขอร้องว่า "แม่ อย่าตายนะ"

อย่างไรก็ตาม เอมีนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตที่โรงพยาบาล แต่คลิปวิดีโอขณะที่เธอถูกอดีตสามีแทงในร้านกาแฟกลายเป็นไวรัลที่มีผู้ชมกว่า 1 ล้านครั้ง และมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่า วัฒนธรรมตุรกีที่ไม่ให้คุณค่าผู้หญิงเทียบเท่าผู้ชาย ทำให้การก่อเหตุทำร้ายร่างกายหรือฆาตกรรมผู้หญิงเกิดขึ้นอย่างง่ายดายในทุกพื้นที่ของสังคม และส่วนใหญ่ก็เป็นฝีมือของคนใกล้ตัว เช่น สามี อดีตสามี พ่อ หรือพี่น้อง เพราะรวมไปถึงการฆ่าโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องเกียรติยศชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล หรือ Honor Killings

Ruptly-ศิลปินตุรกีจัดแสดงรองเท้าบนกำแพง ระลึกถึงผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรม-วาฮิต ตูนา-Wahit Tuna

หลังจากเอมีนเสียชีวิต กลุ่มนักรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีพร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #EmineBulut ในทวิตเตอร์เพื่อรำลึกถึงเอมีน และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษให้ได้

ต่อจากนั้นไม่นาน 'เฟได บาราน' อดีตสามีของเเอมีนก็ถูกจับกุม และให้การว่าเขาไม่พอใจที่เอมีนมีปากเสียงและดูหมิ่นเขา เพราะตกลงเรื่องเลี้ยงดูบุตรร่วมกันไม่ได้ เขาจึงแทงเธอด้วยมีดที่เตรียมมา 

แม้จะมีการประเมินกันว่าบารานจะถูกลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่นักสิทธิสตรีมองว่าเขาอาจมีสิทธิได้ลดหย่อนโทษในอนาคต จึงเรียกร้องให้มีการปรับแก้บทลงโทษให้รุนแรงขึ้นในคดีฆาตกรรมและคดีก่อความรุนแรงในครอบครัว พร้อมย้ำว่าสังคมตุรกีต้องช่วยกันยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง

นอกจากนี้ การปลูกฝังความเชื่อผิดๆ ว่าผู้หญิงไม่มีสถานะเทียบเท่าผู้ชาย อาจทำให้คนใกล้ชิดในครอบครัวก่อเหตุละเมิดหรือกระทำความรุนแรงต่างๆ ต่อผู้หญิงโดยไม่มีความยับยั้งชั่งใจอีกด้วย

Ruptly-ศิลปินตุรกีจัดแสดงรองเท้าบนกำแพง ระลึกถึงผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรม-วาฮิต ตูนา-Wahit Tuna

ที่มา: Aljazeera/ France 24/ Ruptly

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: