ไม่พบผลการค้นหา
กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้แจงกรณี 'วัชระ เพชรทอง' ปูดดีเอสไอได้รับงบประมาณ 2 พันล้าน ในการตรวจสอบทุจริต ขณะที่การดำเนินคดีฝายแม้ว-คดีรถหรู ไม่มีความคืบหน้า ยืนยันได้รับงบเพียง 1,000 ล้านบาท ขณะที่การดำเนินคดีต้องเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย

จากกระแสข่าวในวันที่ 16 กันยายน 2561 ที่นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวติดตามความคืบหน้าคดีทุจริตที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ป.ป.ช. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษมีการกล่าวถึงคดีทุจริตการก่อสร้างฝายต้นน้ำแบบผสมผสาน (ฝายแม้ว) และคดีรถยนต์หรูหนีภาษี พบว่า ไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับงบประมาณตรวจสอบการทุจริตมากกว่าสองพันล้านบาท แต่การทำหน้าที่ตรวจสอบกลับไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรนั้น

ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงกรณีดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

กรณีฝายแม้วนั้น คณะกรรมการคดีพิเศษ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2552 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2552 ให้คดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐและการทุจริตการเบิกจ่ายงบประมาณกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการดำเนินโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรดินและป่าไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบภาวะวิกฤติโลกร้อน ประจำปีงบประมาณ 2551 เป็นคดีพิเศษ

ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 71/2552 และเนื่องจากเป็นคดีพิเศษที่อยู่ในอำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ต่อมาสำนักงาน ป.ป.ช.ได้แยกส่งเฉพาะประเด็นกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ คืนมาให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสอบสวน เป็นคดีพิเศษที่ 115/2552

ภายหลัง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.มายังอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้โอนเรื่องและส่งเอกสาร เนื่องจากเรื่องดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร่วมกระทำผิดด้วย

ดังนั้นเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการอยู่เป็นเรื่องกล่าวหาในประเด็นเกี่ยวพันกับกรณีกล่าวหาบุคคลตามมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้ส่งสำนวนการสอบสวนคดีพิเศษที่ 115/2552 ไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2554 เพื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้ว

สำหรับคดีเกี่ยวกับการทุจริตนำเข้ารถยนต์จดประกอบและรถยนต์สำเร็จรูปเลี่ยงภาษีอากรนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการสืบสวนสอบสวนอย่างต่อเนื่อง โดยรับคดีพิเศษทั้งสิ้น 134 คดี ซึ่งหลายคดีมีการสอบสวนเสร็จสิ้น และสรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นส่งไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตามกฎหมายแล้ว

ส่วนคดีที่เหลืออยู่ในกระบวนการรวบรวมหลักฐานจากต่างประเทศ ซึ่งต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 ที่มีอัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีการประสานงานกับสำนักงานต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อร่วมกันประสานงานและแก้ไขข้อขัดข้องเพื่อให้ได้พยานหลักฐานมาดำเนินคดีโดยเร็วอยู่แล้ว

สำหรับประเด็นการใช้จ่ายงบประมาณนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษมีภารกิจในการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน และสอบสวนคดีความผิดทางอาญาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ซึ่งงบประมาณดังกล่าว ไม่ได้มีการจำแนกว่าเป็นงบประมาณสำหรับปราบปรามอาชญากรรมด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ

"โดยในแต่ละปีงบประมาณ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับจัดสรรงบประมาณในภาพรวมเพียงหนึ่งพันล้านบาทเศษ ไม่ได้มีงบประมาณในด้านการปราบปรามการทุจริตดังที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด"

อ่านเพิ่มเติม