ไม่พบผลการค้นหา
ลัดดาวัลย์ ชูช่วย แชมป์สุดยอดอัจฉริยะนักจำระดับประเทศ ให้คำอธิบายเรื่องสมองและความจำที่มีต่อ 'บัตรเลือกตั้ง' หากที่ไร้ชื่อและภาพโลโก้พรรค

‘บัตรเลือกตั้ง’ ตกอยู่ในความสนใจของสาธารณชนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อกังวลเเละการตั้งคำถามเรื่องการเอาเปรียบทางการเมืองของฝ่ายผู้มีอำนาจ       

วอยซ์ออนไลน์ คุยกับ 'ลัดดาวัลย์ ชูช่วย' ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและการพัฒนาความจำ แชมป์สุดยอดอัจฉริยะนักจำระดับประเทศ ปี 2552 และ 2555 ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหากบัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อพรรคและโลโก้


สมองคุ้นเคยกับรูปภาพมากกว่า

ลัดดาวัลย์ บอกว่า สมองเราคุ้นเคยกับภาพมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ โดยมีเรื่องราวและหลักฐานปรากฎชัดเจนตามสถานที่สำคัญทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ภาพเขียนสีโบราณ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี ขณะที่ตัวอักษรไทยนั้นเพิ่งปรากฎหลักฐานชัดเจนเมื่อราว 700 ปีก่อนในสมัยสุโขทัย

“สมองมีความสามารถในการประมวลผลและจดจำภาพได้ดีกว่าตัวอักษรหรือตัวเลข เวลาเราพูดถึงสิ่งของ เราจะนึกถึงรูปร่างหน้าตาของมันมากกว่าการประกอบเป็นตัวอักษร สังเกตได้ง่ายๆ ว่า เรามักจะจดจำเนื้อหารายละเอียดในภาพยนตร์ได้ดีกว่าการอ่านหนังสือ เช่นเดียวกับการจดจำตราสัญลักษณ์และโลโก้ของสินค้าหรือบริษัท”     

เธอยกตัวอย่างถึงงานวิจัยในอดีตของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า สมองของคนเราสามารถจดจำภาพที่เห็นได้มากถึง 78 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การจดจำในรูปแบบการอ่านตัวอักษรหรือตัวเลข และการได้ยินนั้นมีประสิทธิภาพน้อยกว่าอย่างชัดเจน และหากเป็นภาพที่มีสีสันด้วยแล้วประสิทธิภาพในการจดจำก็จะมากยิ่งขึ้น


ลัดดาวัลย์ ชูช่วย

ทั้งนี้หลักการสำคัญที่ทำให้มนุษย์จดจำได้ง่ายกว่าเดิมก็คือ ‘การเชื่อมโยง’ เช่น เชื่อมโยงเข้ากับสถานที่ หรือสิ่งของที่เราคุ้นเคย ซึ่งนักจดจำระดับโลกมีความสามารถสูงในการจินตนาการและเชื่อมโยง จนสามารถจำรายละเอียดต่างๆ ได้มหาศาล


โลโก้พรรค แทนคำพูดนับร้อย

การเลือกตั้งที่จะถูกคาดหมายว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 นอกจากเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปีแล้วยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตของคนรุ่นใหม่อีกกว่า 7 ล้านคน 

แชมป์สุดยอดอัจฉริยะนักจำระดับประเทศ บอกว่า บัตรเลือกตั้งที่ไม่มีชื่อพรรคและภาพโลโก้พรรค โดยหลักการแล้วกระทบกับการจดจำและการเชื่อมโยงของสมองอย่างแน่นอน มากหรือน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

“เวลาเราพูดถึงใครสักคนเราก็จะนึกถึงภาพใบหน้าของคนนั้น สิ่งที่เขากระทำ นโยบายที่เขานำเสนอ ความคาดหวังที่เรามีต่อเขา หากในบัตรเลือกตั้งมีเพียงแค่ตัวเลข อาจทำให้หลายคนเกิดความสับสน ไม่เกิดการเชื่อมโยงถึงสิ่งที่เขาทำ โดยเฉพาะหากเป็นผู้สูงอายุ ที่ประสิทธิภาพในการจดจำต่ำลง”

สุภาษิตอันลือลั่นของจีน ที่ระบุว่า ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดได้นับร้อยพัน และอาจสื่ออะไรได้มากกว่าตัวอักษรหลายสิบหน้า หรือเสียงพูดนานนับชั่วโมง แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความสำคัญของภาพ ที่หากพูดในทางการเมือง ก็หมายรวมถึงการสร้างแบรนด์และโลโก้ประจำพรรค

“บัตรเลือกตั้งที่ไม่มีโลโก้ ไม่มีชื่อพรรค ไม่มีประโยชน์และผลดีต่อใครเลย แถมยังเป็นภาระให้กับประชาชนที่เสี่ยงต่อความสับสน ตั้งใจไว้ว่าจะไปเลือกพรรคนั้น เบอร์นั้น แต่พอเข้าคูหาจริงๆ เห็นแต่ตัวเลขก็มีโอกาสเกิดความสับสนขึ้นได้ ลองนึกถึงเวลาเราไปธนาคาร รับบัตรคิวแล้ว ยังต้องดูซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาประกาศแล้วยังต้องนึกและหยิบมาดูว่า ใช่คิวเราหรือเปล่า” ลัดดาวัลย์ยกตัวอย่าง 

ด้วยความที่ภาพและสีสันสามารถสร้างการจดจำให้กับสมองได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่แปลกที่จะมีผู้ไม่หวังดีลอกเลียนแบบตราสัญลักษณ์ของแบรนด์เพื่อทำให้เกิดความสับสันและสร้างความเสียหายให้กับคู่แข่ง

“ใช้ภาพและสีใกล้เคียงหรือเหมือนกันจนสร้างความสับสน เรื่องนี้สร้างปัญหาให้กับแบรนด์ระดับโลกมากมาย” 


พรรคการเมือง.jpg

ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ผู้พิการส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีสิทธิไปเลือกตั้ง ทั้งตาบอด หูหนวก นั่งรถเข็น ออทิสติก พิการทางสติปัญญา พิการทางการเรียนรู้ ฯลฯ ยกเว้นผู้ที่มีอาการ 'วิกลจริต' หมายถึงผู้มีกิริยาผิดปกติ สติวิปลาสไม่สามารถประกอบกิจกรรมของตนเองได้

วิทยากรด้านการพัฒนาความจำ และ Mind Map เพื่อการศึกษา บอกชัดว่า ภาพมีส่วนสำคัญและเป็นตัวช่วยให้คนพิการทางการเรียนรู้หรือทางสติปัญญา สามารถมีส่วนร่วมตัดสินใจหรือดำเนินชีวิตได้ รวมถึงยังช่วยตอบโจทย์ให้กับผู้ที่อ่านหนังสือไม่ออกอีกด้วย

“ภาพเป็นตัวเลือกที่ดีมาก ตัวอย่างเช่น การใช้ภาพผลไม้หลากหลายชนิดทดแทนตัวเลข ในชั้นลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าเพื่อแก้ปัญหาการหลงลืม ชั้นแอปเปิ้ล แทนชั้น 7 ชั้น สตอเบอรี่แทนชั้น 8”

ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการจดจำ ระบุว่า บัตรเลือกตั้งควรระบุทั้งตัวเลข ชื่อพรรค ชื่อผู้สมัคร และโลโก้ของพรรค โดยหากมีงบประมาณเพียงพอแนะนำให้ทำเป็นภาพสีและมีภาพบุคคลผู้สมัครในพื้นที่นั้นๆ ลงไปด้วย

“คุณภูมิใจหรือเปล่า ที่เขาเลือกคุณมาเพราะความฟลุกหรือสับสน เขาไม่ได้เลือกเพราะความเป็นคุณแต่เลือกเพราะไม่รู้จะกาใครหรือจำใครไม่ได้” เธอแสดงความเห็นถึงการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย


สมอง150360.jpg

'แง่ลบ' ทรงพลังว่า 'แง่บวก'

ในทางการเมือง วิธีสร้างความจดจำหรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน ลัดดาวัลย์ แนะนำว่า เนื่องจากสมองคนเราจะจดจำได้ดีในช่วงต้นและช่วงท้าย ฉะนั้นพรรคการเมืองควรเริ่มต้นด้วยการประกาศนโยบายหรือจุดยืนอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดการรับรู้ ก่อนสร้างความโดดเด่นระหว่างช่วงหาเสียง กระทั่งในช่วงท้ายควรมีไม้เด็ดเพื่อเรียกร้องคะแนนเสียงจากประชาชน

“สมองคนเราจะจดจำได้ดีในช่วงต้นและช่วงท้าย ตอนเปิดตัวนโยบายต้องปัง ชัดเจน เคลียร์ ระหว่างทางก็ดำเนินไปด้วยการสร้างความแตกต่างโดดเด่นเพื่อหล่อเลี้ยงให้เขาติดตามหรือจดจำ”

อย่างไรก็ตาม จำเป็นมากที่ต้องระมัดระวังให้เกิดข้อผิดพลาดน้อยที่สุด เนื่องจากสมองถูกพัฒนาและออกแบบมาเพื่อให้ ‘มนุษย์เอาตัวรอด’ ส่งผลให้คนเรามักจดจำความผิดพลาด ความรู้สึกลบ หรือพูดง่ายๆ ว่าข่าวร้ายได้ดีกว่า

“เหตุการณ์เฉียดตาย เจ็บป่วยทรมาน สมองจะจำได้ดี รวมถึงข่าวฉาวของผู้อื่น สมองจะชอบมาก เห็นได้ชัดเจนว่า พวกข่าวฉาวเรียกความสนใจและอยู่ในความทรงจำได้ยาวนาน เหมือนที่เขามักพูดกันเสมอว่า ทำดีเสมอตัว ทำชั่วครั้งเดียวพาเราไปสู่หายนะเลย”  

เธอบอกว่า ด้วยความที่เรื่องราวในแง่ลบมีอิทธิพลอย่างสูง ทำให้หลายครั้งนักการเมืองเลือกที่จะใช้วิธีกล่าวหาโจมตีคู่แข่งเพื่อให้คนจดจำและได้รับผลกระทบทันที มากกว่าการสร้างสรรค์นโยบายอันโดดเด่นของพรรคตัวเอง

“แทนที่จะสร้างสรรค์ กลายเป็นโจมตีคู่แข่งหรือหาช่องด่ากันไปกันมา”

ทั้งนี้โลกออนไลน์ต่างมีการเผยแพร่ภาพของบัตรเลือกตั้งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย โดยจะพบว่า บัตรเลือกตั้ง มีทั้งโลโก้พรรค ชื่อพรรค บางที่ถึงขนาดมีชื่อผู้สมัคร หมายเลยพรรค กำกับไว้อย่างละเอียด เพื่อความสะดวกของประชาชนและไม่สร้างความสับสนให้เกิดขึ้น


https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/e/e0/IndonesianBallotPaper2014.jpg/640px-IndonesianBallotPaper2014.jpg

(บัตรเลือกตั้งประเทศอินโดนีเซีย ภาพจาก wikiwand)


https://www.rfa.org/english/news/cambodia/ballots-07302018171153.html/cambodia-invalid-ballot-july-2018.jpg/@@images/633547b1-fb88-476f-89ab-65f9f04c0bc6.jpeg

(บัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประเทศกัมพูชาในการเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา (29 ก.ค.2561) ภาพจาก RFA)


(สหรัฐอเมริกา ภาพจาก @nycjim )

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog