ไม่พบผลการค้นหา
กรมการแพทย์ ระบุ กิ้งกือไม่ใช่สัตว์อันตราย ไม่กัด แต่มีพิษ แนะไม่ควรสัมผัสโดยตรง อาจทำให้เกิดการอักเสบ และหากเข้าตาจะเกิดการระคายเคืองได้

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน อาจพบเห็นกิ้งกือในสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะ จึงขอให้คำแนะนำแก่ประชาชนว่า กิ้งกือไม่ใช่สัตว์อันตราย ไม่กัด แต่มีพิษหากสัมผัสถูกตัว สารพิษของกิ้งกือจะถูกปล่อยออกมาจากบริเวณข้างลำตัว มีฤทธิ์ฆ่า สัตว์เล็ก ๆ เช่น มด แมลง และหากคนสัมผัสจะทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นแดง หรือทำให้ตาระคายเคืองในกรณีถูกพิษกิ้งกือเข้าตา

ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า กิ้งกือบางสายพันธุ์เท่านั้นที่จะมีต่อมพิษอยู่ตลอดสองข้างลำตัวสามารถฉีดสารพิษพุ่งออกไปได้ไกล โดยสารพิษมีลักษณะเป็นของเหลวใสไม่มีสี ประกอบด้วยสารกลุ่มไซยาไนด์ (Hydrogencyanide) ฟีนอล (Phenol) กลุ่มเบนโซควินินและไฮโดรควิโนน (Benzoquinones/hydroquinones) มีฤทธิ์ทำให้ผิวหนังไหม้ แผลไหม้ มีอาการปวด 2-3 วัน รวมทั้งการระคายเคืองร่วมด้วย

ทั้งนี้ หากถูกพิษของกิ้งกือให้ล้างด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดทายาแก้อักเสบ โดยทั่วไปอาการมักจะหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบ ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดและรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันทีเพื่อป้องกันการอักเสบของตาที่อาจเพิ่มมากขึ้น


ภาพ : pixabay.com/kaigraphick