ไม่พบผลการค้นหา
ชาวบ้าน-นักวิชาการ สะท้อนความผิดหวัง ก.ม.ที่ดิน โดยเฉพาะ 'พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง' มีข้อลดหย่อนเรื่องการจัดเก็บภาษีมากไป อาจกระทบรายได้รัฐ

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้ผ่านมติเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาตินั้น 'เป็นคนละเรื่อง' กับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าที่กลุ่มชาวบ้านและนักกิจกรรมพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น โดย พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเสนอว่าผู้ถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ ไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน ส่วนผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก หรือผู้ที่ปล่อยที่ดินรกร้างไม่ทำประโยชน์ ต้องถูกจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า เพื่อนำภาษีเหล่านั้นมาร่วมในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การผลักดันกฏหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้ากลับไม่คืบหน้า ขณะที่ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับมีข้อลดหย่อนในการจัดเก็บภาษีมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ทางกฏหมายให้ผู้ถือครองที่ดินหลีกเลี่ยงภาษีในอัตราสูงได้ และจะกระทบต่อรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ในแง่ดีก็ถือเป็นจุดตั้งต้นที่ดี เพราะอัตราภาษีจะจัดเก็บจากราคาประเมิน ตัดปัญหาการพิจารณาการจัดเก็บภาษีจากดุลพินิจของเจ้าพนักงาน แต่หากอยากให้เกิดประสิทธิภาพในการกระจายการถือครองที่ดิน จะอาศัยเครื่องมือทางภาษีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้กลไกอื่นร่วมไปพร้อมกัน ทั้งโฉนดชุมชน ธนาคารที่ดิน  

ทั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชน 13 องค์กร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมมหกรรมโฉนดชุมชน “ที่ดินคือชีวิต ฝ่าวิกฤตที่ดินไทย” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2561 ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นวันที่สองของการจัดงาน มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังประมาณ 300 คน

ด้านนายขจรศักดิ์ เจียรธนากุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน กล่าวว่า งบประมาณของธนาคารที่ดินในปี 2562 เตรียมดำเนินการโครงการจัดสรรที่ดิน 4 โครงการ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และลำพูน ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาตามแนวทางที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้เสนอเข้ามา โดยการจัดสรรที่ดินจะใช้หลายรูปแบบในการบริหารจัดการ ทั้งการประเมินความสามารถของชาวบ้าน การผ่อนปรนการผ่อนชำระ และการจัดสรรที่ดินส่วนกลางให้ฟรี เช่น ถนน หรือที่ดินประโยชน์ส่วนรวม ซี่งหลายกรณีพยายามพิจารณาการเช่าซื้อไม่เต็มจำนวน หรือแบ่งชำระเป็น 2 ระยะ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของเกษตรกร โดยเฉพาะที่มีปัญหาในพื้นที่เชียงใหม่และลำพูน สำหรับข้อกังวลว่าเมื่อผ่อนชำระครบและโอนโฉนดให้ชาวบ้านแล้ว ที่ดินอาจถูกเปลี่ยนมือหรือเข้าสู่การซื้อขายในระบบตลาดนั้น ก็พยายามหาทางป้องกัน แต่ระยะต้นไม่เป็นห่วงเพราะการผ่อนระยะ 30 ปี อย่างน้อยก็ยังไม่เกิดปัญหานี้

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีการบรรจุแผนแม่บทกระจายการถือครองที่ดิน และอยู่ระหว่างการพิจารณางบประมาณของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะเป็นอีกความหวังหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านที่ดิน

อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าแนวทางนำไปสู่การแก้ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้เรื่อง "การกระจายการถือครองที่ดิน" ให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะ ต้องไม่ใช่เป็นเรื่องของพีมูฟหรือสมัชชาคนจนเท่านั้น ต้องทำให้คนในสังคมมานั่งคุยกัน ทำให้พรรคการเมืองตอบสนองเรื่องที่ดินแล้วแต่ละพรรคมีนโยบายอย่างไร เพราะหากหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองเข้าไปเป็นรัฐบาลก็สามารถแก้ไขยุทธศาสตร์ได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องทำให้สังคมเห็นว่าเป็นนโยบายสาธารณะและเป็นเรื่องใกล้ตัว

คนชั้นกลางยอมจำนนกับกฎหมาย แม้หลายกรณี 'ไม่ถูกต้อง'

ผศ.ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ กล่าวว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้สังคมไม่แตะเรื่องปัญหาที่ดินทั้งที่เป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะคนชั้นกลางส่วนใหญ่ 'ยอมจำนน' กับกฏหมาย เมื่อที่ดินมีโฉนดที่รัฐออกให้ก็ไม่มีใครกล้าสู้ ซึ่งหลายกรณีกฏหมายก็ไม่ได้ถูกต้องต่อข้อเท็จจริง ดังนั้น ขบวนการชาวนาจำเป็นต้องยกระดับการต่อสู้จากชาวนาธรรมดา มาเป็นปัญญาชนชาวนา ต้องทำให้ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาสาธารณะ ยกระดับเพื่อแก้กฏหมาย และรวมพลังต่อสู้ทุกรูปแบบ ที่อาจขยายการแก้ปัญหาไปมากกว่าเรื่องโฉนดชุมชน ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และธนาคารที่ดิน ต้องทำให้ตระหนักว่าเป็นปัญหาที่กระทบความมั่นคง ยกระดับให้พลังไปเปลี่ยนหรือบีบนักการเมือง ข้าราชการ ซึ่งลำพังพลังชาวบ้านไม่พอ ต้องให้คนชั้นกลาง นักศึกษา คนรุ่นใหม่ ตระหนักว่าอนาคตทุกคนอยากมีสิทธิในที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินหรือไม่ ที่อาจเป็นในรูปแบบสวัสดิการแห่งรัฐ

กลุ่มปฏิรูปที่ดินจี้รัฐยุติ 'ทวงคืนผืนป่า'

นายบุญ แซ่จุง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า ปัญหาที่ดินถือเป็นปัญหาสิทธิมุษยชน เพราะเกี่ยวโยงกับการดำรงชีวิตของมนุษย์และกระทบต่อความมั่งคงแห่งชาติ อยากเสนอรัฐบาลยุติการไล่ล่าการทวงคืนผืนป่ากับคนเล็กคนน้อย เพราะชาวบ้านกำลังเป็นทุกข์ถึงขั้นฆ่าตัวตาย บ้านแตกสาแหรกขาด ซึ่งหากผลักดันชาวบ้านจนไม่มีที่ทำกินและที่อยุ่อาศัยก็อาจเกิดปัญหาสังคมตามมา และต้องการเรียกร้องมหาวิทยาลัยที่กำลังถูกกลุ่มทุนช่วงชิงไป ขอให้นักวิชาการกลับสู่อ้อมกอดประชาชน กลับมารับใช้สังคม ของเรียกคืนความรู้กลับสู่ชุมชน เพราะตอนชุมชนขาดข้อมูลความรู้ที่จะทำให้สังคมเข้าใจปัญหา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: