ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการด้านกฎหมาย แนะคณะทำงานจัดทำร่าง "พ.ร.บ.ไซเบอร์" ดึง "ศาล" เข้าไปมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล หวั่นร่างกฎหมายเป็นดาบสองคม

นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ กล่าวในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย ว่า ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ที่กำลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี สร้างผลกระทบในวงกว้าง ไม่ได้ปกป้องประชาชนจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างที่ภาครัฐกล่าวอ้าง เนื่องจากเนื้อหาในร่างกฎหมาย เป็นการทำลายหลักการและโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตย ทำให้โครงสร้างการปกครองจาก 'นิติรัฐ' กลายเป็น 'รัฐตำรวจ' เพิ่มอำนาจและความสะดวกสะบายแก่เจ้าหน้าที่รัฐ ค้นหาหลักฐานโดยไม่ต้องขออำนาจศาล เพียงแค่สงสัยว่าจะกระทำผิด ก็สามารถกระทำการเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนได้แล้ว รวมทั้งผู้มีอำนาจทางการเมืองและฝ่ายบริหาร อาจจะใช้กฎหมายนี้ กำหลาบปราบปรามศัตรู และผู้เห็นต่างทางการเมืองได้โดยง่าย จึงถือว่า 'เป็นดาบสองคม' 

ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้คณะทำงานจัดทำร่างกฎหมาย ดึง 'ศาล' เข้าไปมีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดย 'เจ้าหน้าที่รัฐ' ต้องขออำนาจจากศาลก่อนดำเนินการทุกครั้ง ทั้งการตรวจค้น และการจับกุม เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งในมุมมองของกระบวนการยุติธรรม ต้องให้ความเชื่อมั่นต่อ 'ระบบ' มากกว่า 'บุคคล' แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ กลับให้อำนาจแก่ 'บุคคล' มากกว่า 'ระบบ'

เมื่อช่วยบ่ายวานนี้ (19 พ.ย.61) นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เรียกประชุมคณะทำงานจัดทำร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ประกอบด้วย ตัวแทนหน่วยงานรัฐ เอกชน และสื่อมวลชน หลังจากยกร่างกฎหมายเกือบเสร็จแล้ว แต่ยังต้องหารือในบางประเด็น โดยเฉพาะความกังวลเรื่องขอบเขตอำนาจหน้าที่, ความซ้ำซ้อน, การเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่น และคำนิยามของภัยคุกคามไซเบอร์ ของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กปช.) รวมทั้ง การกำหนดบทลงโทษ และอัตราโทษที่เหมาะสม

ทั้งนี้ หากคณะทำงานจัดทำร่างฯ ไม่ต้องมีการแก้ไขในประเด็นอื่นเพิ่มเติมแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะนำร่างกฎหมาย ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วนำเสนอต่อไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาภายในสิ้นปีนี้(2561)ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า จะเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันนี้(20พ.ย.) แต่เมื่อมีการหารือเพิ่มเติม อาจทำให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ แก้ไขแล้วเสร็จในวันที่ 30 พ.ย.61 และหากจะให้ตราเป็นกฎหมายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน จำเป็นต้องเสนอต่อ สนช. ภายในปลายเดือนพฤศจิกายน หรือช้าสุดต้นเดือนธ.ค.นี้ เพื่อให้มีเวลาพิจารณาการก่อนเลือกตั้ง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :