ไม่พบผลการค้นหา
กลิ่นขี้ผึ้ง ลวดลายซับซ้อนเปี่ยมเสน่ห์ โทนสีร้อนแรงดุจแสงอาทิตย์เดือนเมษาฯ ล้วนเป็นอัตลักษณ์เด่นของงาน ‘ผ้าบาติก’ หรือ ‘ผ้าปาเต๊ะ’ หัตถกรรมท้องถิ่นแถบชายแดนใต้ ซึ่งบรรดานักออกแบบไทยในโครงการ ‘Contemporary Southern Batik’ กำลังหยิบมาต่อยอดผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา สู่การเฉิดฉายบนรันเวย์แฟชั่นระดับสากล
s17-4812.jpg

จากความสำเร็จของ ‘โครงการผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้’ เมื่อปี 2558 ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เดินหน้าต่อยอดภูมิปัญญาด้วยการจัดแสดงผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายผ่านนิทรรศการเชื่อมวัฒนธรรม วิถีชีวิต อัตลักษณ์ของคนท้องถิ่น และแฟชั่นบนรันเวย์ของ ELLE Fashion Week 2018

ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวส่งนักออกแบบ 6 ท่าน ประกอบด้วย ธีระ ฉันทสวัสดิ์, ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ, ศรันย์ เย็นปัญญา, วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข, ธันย์ชนก ยาวิลาส, ปัญจพล กุลปภังกร และหิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูลกุล ลงพื้นที่ศึกษาบริบทชุมชน การทำงาน และสร้างความคุ้นเคยกับผู้ประกอบการท้องถิ่น 24 กลุ่ม จาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอ จากจังหวัดสงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย

‘ธีระ ฉันทสวัสดิ์’ นักออกแบบผู้ให้กำเนิดแบรนด์ ‘T-Ra Chantasawasdee’ เล่าว่า หลังจากตนเองลงพื้นที่แถบชายแดนใต้ ทำให้เห็นความตื่นตัวของคนท้องถิ่น บวกกับวงการแฟชั่นเริ่มหันมาหยิบรากเหง้ามาพัฒนา สร้างสรรค์ และต่อยอด ดังนั้น อย่ายึดติดกับลวดลายกุ้ง หอย ปู ปลา หรือปะการัง เพราะความจริงผ้าบาติกสามารถสร้างสรรค์ลวดลายออกมาหลากหลายรูปแบบ

เมื่อนักออกแบบเข้าใจในอัตลักษณ์ และคุณค่าของผ้าบาติก จึงเริ่มพัฒนาผลงานร่วมกันกับผู้ประกอบการท้องถิ่น จนเกิดเป็นผลงานลวดลายผ้า และการจับคู่สีใหม่ๆ ที่นำมาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายร่วมสมัย โดยสะท้อนผ่านมุมมอง และเทคนิคพิเศษของนักออกแบบ ทว่ายังคงความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างงดงาม 

“การทำงานกับคนท้องถิ่นต้องพบกันคนละครึ่งทาง โดยนักออกแบบต้องช่วยถ่ายทอดเทคนิค และประสบการณ์ จากเมื่อราว 5 ปีก่อน คนท้องถิ่นไม่ยอมเปิดรับเลย แต่หลังๆ มาพวกเขายอมหันมาฟังเรื่องเทรนด์ เรื่องความต้องการของตลาด จึงเปลี่ยนตัวเองจากขายสินค้าซ้ำๆ กันตามโอท็อปมาเป็นการสร้างมูลค่า และพัฒนารูปแบบเฉพาะตัว” ธีระกล่าว

บาติก 2.jpgบาติก 3.jpg

สำหรับคอลเลคชั่นจากผ้าบาติกของธีระจับมือกับผู้ประกอบการจากจังหวัดชายแดนใต้จำนวน 8 ราย นำเสนอผลงานเครื่องแต่งกายจากการทำความเข้าใจเอกลักษณ์ของวัสดุที่แตกต่างกันของกลุ่มผู้ประกอบการ ก่อนจะออกแบบลวดลาย และเลือกเทคนิคการตัดเย็บให้สอดคล้องกับธรรมชาติของเนื้อผ้านั้นๆ จนนำไปสู่การออกแบบเสื้อผ้าสำหรับผู้ชาย ซึ่งตัวธีระเองไม่เคยทำมาก่อน กลายเป็นหนึ่งในความท้าทายว่า ผู้ชายแบบธีระจะสวมเสื้อผ้าแบบใด

เมื่อ ‘วอยซ์ ออนไลน์’ ถามความคาดหวังสูงสุดจากการเข้าร่วมโครงการธีระตอบว่า ต้องการให้สังคมเปิดรับผลงานหัตถกรรมฝีมือคนไทยมากยิ่งขึ้น ช่วยกันผลักดันผลิตภัณฑ์ผ้าบาติกออกสู่ตลาดสากล เนื่องจากชาวบ้านต่างทุ่มเท และเหน็ดเหนื่อยกันมาก เพื่อสร้างสรรค์ผ้าบาติกออกมาหนึ่งผืน

อีกหนึ่งนักออกแบบน่าจับตามองคือ ‘ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ’ ผู้ผ่านประสบการณ์ออกแบบเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับแบรนด์ ‘Everyday Karmakarmet’ ซึ่งเลือกถ่ายทอดความหลากหลาย และความสนุกสานผ่านสีสัน และการสร้างลวดลายใหม่ๆ ให้กับผ้าบาติก

“โครงการเป็นการบูรณาการการออกแบบร่วมกับระหว่างนักออกแบบกับชาวบ้าน โดยเค้นศักยภาพของชาวบ้านออกมาพัฒนาต่อ ซึ่งนักออกแบบต้องทำหน้าที่เหมือนหมอรักษาไข้ และผู้คอยให้คำปรึกษา ต่อด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าภูมิปัญญาไทยเป็นสิ่งล้ำเลิศ และทรงคุณค่ามาก” ศรันรัตน์กล่าว

s08-2449.jpgบาติก 4.jpg

คอลเล็กชั่นผ้าบาติกของ ‘Everyday Karmakarmet’ ถ่ายทอดทัศนคติการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การยอมรับ และไม่ตัดสินใคร ผ่านบทสนทนาว่าด้วยเกาะสมุย อันเป็นสถานที่ที่ศรันรัตน์เติบโตมา และเขาสัมผัสถึงความหลากหลายผ่านการสังเกตผู้คน โดยเฉพาะบรรดานักท่องเที่ยวที่สร้างความผิดแผกจากขนบคุ้นชิน

เมื่อศรันรัตน์เติบโต และผ่านการใช้ชีวิตมาเขาเริ่มเข้าใจความหลากหลาย และการยอมรับความต่างถึงได้ค้นพบว่า ความแตกต่างเป็นเพียงการเลือก ความเชื่อ ความสนใจของผู้คน แต่สุดท้ายแล้วล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกันทั้งสิ้น

‘ศรันย์ เย็นปัญญา’ นักออกแบบผลิตภัณฑ์ แห่ง ‘56th Studio’ ร่วมมือกับช่างฝีมือบาติกจากภาคใต้ ด้วยการเอาลวดลายจากคอมพิวเตอร์ที่แตกเป็นพิกเซลจากการขึ้นรูป 3 มิติในสไตล์ดิจิทัลไปให้ช่างประยุกต์เขียนเทียนตาม

ขณะเดียวกันบางลายก็เอาลายกราฟฟิตี้ไปให้ช่างเลียนแบบรูปแบบของการพ่น การปาดๆ แปรงสะบัดสีตามบ้าง หรือแม้กระทั่งการพ่นสเปรย์แบบกราฟฟิตี้ทับลงไปบนวัสดุพื้นบ้าน หรือวัสดุที่มีความขัดแย้งเช่นหนังเทียมบ้าง วัตถุประสงค์คือ ความต้องการสำรวจรูปแบบใหม่ๆ ที่งานบาติกสามารถเป็นได้ในรูปแบบของสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กระเป๋าผ้า

ด้านผู้ประกอบการท้องถิ่นอย่าง ‘รอวียะ หะยียามา’ ผู้ก่อตั้งร้าน ‘บาติก เดอ นารา’ มานานกว่า 20 ปี เปิดใจว่า โครงการทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เปิดมุมมองจากความคุ้นชิน โดยนักออกแบบคอยแนะนำเรื่องการทำตลาด การสร้างลวดลาย และเทรนด์สีในกระแสแฟชั่น

“เราเรียนรู้วิธีคิดใหม่ๆ จากนักออกแบบ เช่น จากเดิมวาดดอกดาหลาสีแดงเข้ม ก็ลองเปลี่ยนมาเป็นสีอ่อนๆ ลง เพื่อให้คนรุ่นใหม่กล้าหยิบจับ และสวมใส่ผ้าบาติกมากขึ้น ส่วนหนึ่งตัวเองรู้สึกภูมิใจที่เป็นสะพานเชื่อมโยงนักออกแบบ ชาวบ้าน และตลาดสินค้าแฟชั่นเข้าด้วยกัน ซึ่งมันสร้างรายได้เลี้ยงปากท้องชุมชนชายแดนใต้” รอวียะกล่าว

s02-484.jpg

นอกจากนั้น ทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยระบุด้วยว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปี โครงการผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาลายผ้าใหม่ๆ ในชุมชน 24 แห่ง สามารถสร้างสรรค์เป็นกระเป๋า ผ้าพันคอ หมวก รองเท้า เข็มกลัด สร้อยคอ และเก้าอี้ สร้างรายได้แก่ชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ เงินหมุนเวียนมากกว่า 10 ล้านบาท จนผ้าบาติกไทยได้ความนิยมในพื้นที่แถบอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวัน ถือเป็นการยกระดับผ้าบาติกสู่ตลาดสากลมากยิ่งขึ้น 

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์จากลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ในวันที่ 29 สิงหาคม - 2 กันยายน 2561 และชมแฟชั่นโชว์ Contemporary Southern Batik by OCAC ในงาน ELLE Fashion Week 2018 ในวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน 2561 เวลา 13.45 น. ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์