ไม่พบผลการค้นหา
พิจารณารายละเอียดจดหมายจากทางการไทยถึงอังกฤษบวกข้ออ่อนรอบด้าน ทั้งเรื่องมูลเหตุ 'การเมือง' อยู่เบื้องหลัง ปัญหาฐานความผิดไม่ตรงกับในสนธิสัญญา ไทยแก้เกมด้วยการขอเป็นกรณีพิเศษให้ใช้กฎหมายอื่น เส้นทางบ่งชี้ว่ากฎหมายอังกฤษเปิดให้ทำได้ แต่ไทยเสี่ยงเอาตัวเองเป็นเป้าการถกในชั้นศาล

ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่าทางการไทยได้ยื่นเรื่องขอให้อังกฤษส่งตัวอดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้ไทยตามที่เป็นข่าวก่อนหน้านั้นในเวบข่าวบีบีซีไทย ซึ่งตีพิมพ์ภาพของจดหมายที่ไทยส่งถึงอังกฤษลงวันที่ 5 ก.ค. 2561 

จดหมายดังกล่าวระบุว่า ทางการไทยต้องการตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์เพื่อให้กลับมารับโทษที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปีฐานละเลยหรือปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาด ถือเป็นความผิดทั้งตามกฎหมายอาญาและกฎหมายว่าด้วยการกระทำอันเป็นการทุจริต โดยศาลไทยได้ออกหมายจับไปแล้ว

ผู้ทำจดหมายร้องต่อรัฐบาลอังกฤษหนนี้ คือสถานทูตไทยในลอนดอน โดยระบุว่าได้รับคำสั่งมาจากรัฐบาลไทย จดหมายระบุว่าได้แนบสำเนาคำพิพากษาพร้อมทั้งหมายจับไปด้วย อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าทางการอังกฤษปฏิเสธหรือตอบรับอย่างไร ขณะที่อีกด้านหนึ่ง สื่อทั้งไทยและเทศต่างรายงานอ้างว่า ก่อนหน้านี้ทางการอังกฤษให้วีซ่าแก่น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีอายุ 10 ปี ส่วนพรรคเพื่อไทยยอมรับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในประเทศอังกฤษจริงแต่ใช้หนังสือเดินทางที่ไม่ใช่ของประเทศไทย 

การขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนของรัฐบาลไทยหนนี้อ้างเนื้อหาตามข้อตกลงในสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนแองโกลสยามที่ไทยและอังกฤษทำไว้ตั้งแต่ปี 1911 (พ.ศ.2454) ซึ่งประเด็นแรกที่อังกฤษจะต้องพิจารณาคือ เหตุผลในการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดน จะต้องมีฐานการกระทำความผิดที่สอดคล้องกับที่ระบุไว้ในสนธิสัญญา ประการถัดมา แม้ไม่เข้าข่ายความผิดตามที่กำหนดไว้ สนธิสัญญาก็ยังมีเนื้อหาที่ยอมให้มีข้อยกเว้น ประเด็นคือในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเข้าข่ายข้อยกเว้นนั้นๆ ได้อย่างไร และประการที่สาม คือการขอตัวหนนี้จะมีมูลเหตุมาจากเรื่องของ 'การเมือง' หรือไม่

สนธิสัญญาแองโกลสยามว่าด้วยการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนปี 1911 มีทั้งหมด 17 มาตรา มาตราที่สำคัญคือมาตราที่ 2 ซึ่งกำหนดฐานความผิดที่จะขอให้มีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกันได้ มีทั้งหมด 31 เรื่อง ซึ่งมีตั้งแต่ความผิดฐานกระทำการฆาตกรรม ทำร้ายร่างกาย ข่มขืน ทำให้แท้ง ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ขโมย ฯลฯ

ในบรรดาความผิดที่กำหนดไว้นั้น ฐานความผิดข้อที่น่าจะอนุโลมได้ว่าเกี่ยวพันหรือใกล้ชิดที่สุดกับความผิดที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินไว้สำหรับน.ส.ยิ่งลักษณ์ คาดว่าน่าจะเป็นข้อ 7 ตามมาตรา 2 คือเรื่องของการยักยอกทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ความผิดในเรื่องของการยักยอกทรัพย์นี้ หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2544 รัฐบาลไทยเคยใช้เป็นฐานในการขอตัวอดีตผู้บริหารบริษัทเอกธนกิจหรือฟินวัน คือนายปิ่น จักกะพาก กลับประเทศไทย มีการต่อสู้ในชั้นศาลจนถึงศาลสูงของอังกฤษเพื่อคัดค้านการส่งตัวกลับ ในที่สุดศาลตัดสินใจไม่ให้ส่งตัวนายปิ่นให้ไทย เนื่องจากเห็นว่านายปิ่นมิได้ยักยอกทรัพย์ตามที่ถูกกล่าวหา เพราะมิได้นำทรัพย์ที่เกิดจากการบริหารผิดพลาดนั้นเข้ากระเป๋าตัวเอง

นอกจากนั้น สิ่งทีี่ทางการไทยบรรยายว่าเป็นการกระทำที่ผิดพลาดของนายปิ่น สถาบันผู้ควบคุมสถาบันการเงินต่างรับรู้และปล่อยให้มีการดำเนินการดังกล่าวโดยทั่วไป

การใช้ฐานความผิดตามข้อกล่าวหาเรื่องการยักยอกทรัพย์มาเป็นฐานในการขอตัวอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้กลับประเทศ จึงมีเค้าลางของความไม่แน่นอนสูง อาจด้วยเหตุนี้จดหมายของสถานทูตไทยจึงระบุว่า "หากรัฐบาลอังกฤษพิจารณาความผิดตามที่จดหมายนี้ระบุมาแล้วพบว่า ไม่อยู่ในบัญชีฐานความผิดที่ปรากฎในย่อหน้าแรกของมาตรา 2 ของสนธิสัญญา รัฐบาลไทยก็ร้องขอให้รัฐบาลอังกฤษพิจารณาความผิดดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อความที่ปรากฎในย่อหน้าสุดท้ายของมาตรา 2" ซึ่งข้อความในย่อหน้าสุดท้ายของมาตรา 2 ของสนธิสัญญากำหนดไว้ว่า ประเทศคู่สัญญาสามารถจะนำกฎหมายที่มีใช้อยู่ในขณะนั้นของทั้งสองประเทศมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาฐานความผิดเพื่อจะส่งตัวได้ 

เนื้อหาดังกล่าวนับว่าเปิดกว้างมากขึ้น แต่ก็เท่ากับว่าขณะนี้ไทยกำลังขอให้ทางการอังกฤษพิจารณาเหตุผลในการส่งตัวนอกเหนือไปจากสิ่งที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา นับเป็นการร้องขอเป็นกรณีพิเศษ

จดหมายของสถานทูตไทยระบุชัดว่าจะมีการกระทำต่างตอบแทนหากอังกฤษตกลงทำเช่นว่า โดยทางการไทยจะตอบแทนด้วยการกระทำอย่างเดียวกันหากมีการร้องขอจากอังกฤษดังที่เนื้อความในจดหมายระบุไว้ว่า "In such case, the Royal Thai governent hereby assures that full reciprocity will be accorded to the British Government as and when requested." 

ปมทางกฎหมายหากใช้ข้อหา 'ยักยอกทรัพย์'

ประเด็นสำคัญจึงมีอยู่อีกว่า หากอังกฤษจะพิจารณาโทษที่ีศาลไทยตัดสิน น.ส.ยิ่งลักษณ์โดยนำไปเทียบเคียงกับฐานความผิดตามกฎหมายฉบับอื่นของอังกฤษ จะมีความเป็นไปได้เพียงใด คำถามนี้อยู่ที่ว่า ความผิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีปรากฎเป็นความผิดเช่นเดียวกันในกฎหมายของอังกฤษหรือไม่

โดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึงการเอาผิดกับการทุจริตของนักการเมืองในอังกฤษ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการยักยอกทรัพย์เพื่อนำผลประโยชน์เข้าสู่ตัวเอง อย่างไรก็ตาม ความผิดในเรื่องของการละเลยหรือผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ สร้างความเสียหายแก่ส่วนรวมนั้น ในอังกฤษเองก็มีฐานความผิดเช่นนี้ปรากฎอยู่ในเรื่องของการ "ประพฤติมิชอบในระหว่างการดำรงตำแหน่ง" ซึ่งถือว่ามีฐานความผิดตามระบบกฎหมายจารีตประเพณี (common law) ของอังกฤษ อันเป็นระบบกฎหมายที่พัฒนาจากการตัดสินคดีของศาลเป็นหลัก แต่ทว่า มีน้อยมากที่จะสามารถดำเนินคดีเอาผิดในกรณีเช่นนี้ได้ ทั้งนี้เพราะยากจะพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นๆ กระทำโดยเจตนา และกระทำโดยรู้ตัวว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้น

จดหมายของสถานทูตไทยถึงทางการอังกฤษมีใจความครอบคลุมเรื่องของ 'เจตนา' นี้ไว้ด้วย โดยระบุว่าในการตัดสินโทษของน.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ศาลไทยถือว่ามีความผิดเพราะทำหน้าที่ผิดพลาดหรือละเลยไม่ทำหน้าที่ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยผิดกฎหมายด้วยเจตนาจะสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น ปฏิบัติหน้าที่หรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเป็นไปอย่างไม่สุจริต ดังที่ปรากฎในความข้อนี้ในย่อหน้าที่สองของจดหมาย ซึ่งระบุว่า "...wrongfully execute or omits to execute her duty, unlawfully exercises her power in her position or duty with intent to cause damage to any person or dishonestly execute or omit to execute her duty.." 

สำรวจกฎหมายอังกฤษกับช่องทางเอาผิดอดีตนายกฯ

เว็บไซต์ข้อมูลด้านกฎหมายของอังกฤษระบุว่า ความผิดพลาดเพราะการเพิกเฉยในการบริหารงานจนเกิดความเสียหาย เป็นความผิดที่สามารถเอาผิดได้ตามระบบกฎหมายจารีตของอังกฤษ ซึ่งอาศัยบรรทัดฐานที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีต่างๆเอาไว้ แต่ไม่มีระบุในกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นพิเศษ

เวบไซท์ของ Crown Prosecution Service หรือสำนักงานอัยการของอังกฤษมีข้อมูลที่เป็นแนวทางให้กับนักกฎหมายในเรื่องของการทำคดีในความผิดที่เรียกว่า misconduct in public office โดยระบุว่าการละเมิดอำนาจหน้าที่ ละเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่จนเกิดความเสียหายนับเป็นความผิดได้และหากพบว่าผิดจริงอาจถูกตัดสินโทษสูงสุดได้ถึงจำคุกตลอดชีวิต เว็บไซต์ระบุประเภทงานของเจ้าหน้าที่ที่ถือว่าเป็นตำแหน่งที่ถูกดำเนินคดีเช่นว่านี้ได้ แต่ไม่ปรากฎว่ารวมไปถึงนักการเมืองหรือผู้มีตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด แม้ว่าเว็บไซต์จะระบุว่าบัญชีที่ระบุไว้ยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด

ประเด็นสำคัญคือการที่จะต้องพิสูจน์ว่า การเพิกเฉยละเลยดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความผิดพลาดอย่างจงใจหรือไม่ ซึ่งจากคำพิพากษาต่างๆ ที่วางมาตรฐานไว้ก่อนๆ หน้านี้ ศาลอังกฤษให้ความสำคัญกับเรื่องของเจตนา นอกเหนือไปจากที่จะต้องพิสูจน์ผลกระทบจากการกระทำ รวมทั้งการพิจารณาด้วยว่า การกระทำนั้นๆเป็นสิ่งที่ต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไปหรือไม่

เว็บไซต์ Law Commission หน่วยงานอิสระด้านกฎหมายของอังกฤษมีบทความวิชาการโดยมาร์ค อารอนสัน นักวิชาการด้านกฎหมายที่เขียนเอาไว้ในเรื่องของคดีที่ถือว่าเป็นการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งต่อสาธารณะ ระบุว่าการพิสูจน์ให้เห็นถึงเจตนาของการกระทำเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่ผู้พิพากษาจะไปได้ไกลเพียงสรุปว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ กระทำโดยไม่รู้หรือมองไม่เห็นผลเสียหาย บทความระบุว่า ประเด็นเรื่องการเอาผิดผู้ดำรงตำแหน่งต่อสาธารณะเช่นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอีกมากในแวดวงนักกฎหมาย นอกจากนี้วงการนักกฎหมายอังกฤษระบุว่า ที่ผ่านมา ความผิดพลาดของการดำเนินนโยบายและบริหารงานมักแก้ไขด้วยวิธีการด้านการบริหารเช่นการยกเลิกดำเนินนโยบายนั้นๆ เป็นต้น

กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนต้องผ่านการพิจารณาของศาลและหลักสิทธิมนุษยชน

ส่วนกระบวนการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนของอังกฤษนั้น ข้อมูลทางการระบุไว้ว่า ในเบื้องต้นทางการอังกฤษต้องพิจารณาคำขอ หากเห็นว่ามีมูลก็จะมีการจับกุมบุคคลที่เป็นที่ต้องการตัว หลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล โดยในชั้นต้นจะดำเนินการโดยศาลมาจิสเตรทที่จะพิจารณาด้วยว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ในระหว่างที่มีการพิจารณาคำขอ และการพิจารณาขั้นที่สองคือการพิจารณาคำขอตัวซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องทำภายในเวลา 2 เดือนหลังจากที่มีการจับกุมตัว และเนื่องจากอังกฤษยังคงอยู่ในสหภาพยุโรป จึงยังต้องพิจารณาเรื่องสิทธิของผู้ที่เป็นที่ต้องการตัวตามกฎระเบียบว่าด่้วยหลักสิทธิมนุษยชนของอียูด้วย นอกเหนือจากนั้นบุคคลที่เป็นเป้าหมายของการขอตัวยังสามารถอุทธรณ์คำสั่งได้ด้วย 

การส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนยังมีข้อห้ามสำคัญประการหนึ่ง นั่นคือต้องไม่ส่งตัวกลับในกรณีที่เห็นว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการขอตัว ทั้งนี้ปรากฎอยู่ในข้อความตามมาตราที่ 5 ของสนธิสัญญาแองโกลสยาม 1911

แม้ว่าเนื้อหาในจดหมายของสถานทูตไทยที่มีถึงทางการอังกฤษจะระบุว่า การขอตัวหนนี้ไม่มี "การเมือง" เกี่ยวข้องแต่อย่างใด แต่หากมีการต่อสู้คดีกันในชั้นศาลอังกฤษดังเช่นคดีขอตัวนายปิ่น จักกะพากในอดีต ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าประเด็นเรื่องของมูลเหตุจูงใจทางการเมืิองจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ต่อสู้ในคดี และอาจทำให้ระบบยุติธรรมของไทยกลายเป็นหัวข้อประกอบการพิจารณาในศาลอังกฤษไปได้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :