ไม่พบผลการค้นหา
เรื่องไหนมีสิทธิ์ลุ้นออสการ์ไปครองที่สุด ติดตามได้ในคอลัมน์ สำส่อนทางความบันเทิง โดยคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

งานประกาศผลรางวัลออสการ์ปีนี้จะตรงกับเช้าวันจันทร์ที่ 5 มีนาคม 2561 ของบ้านเรา ซึ่งความสนุกของงานออสการ์ไม่ใช่ว่าใครได้รางวัลอะไร แต่เป็นการที่ผลรางวัลออกมาไม่ตรงกับที่เสียงส่วนใหญ่เก็งกันไว้ แต่ดูเหมือนปีนี้อาจจะไม่มีบรรยากาศแบบนั้นนัก

เริ่มกันที่รางวัลใหญ่ที่สุดอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ถือว่าเป็นรางวัลที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง ช่วงแรก Three Billboards outside Ebbing, Missouri มาแรงด้วยเนื้อหาที่ว่าด้วยการต่อสู้กับระบบของลูกผู้หญิง สอดรับกับเทรนด์ #MeToo และกระแสต่อต้านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (เป็นที่รู้กันดีว่าคนฮอลลีวู้ดส่วนใหญ่ไม่เอาทรัมป์)


แต่ Three Billboards อาจจะเป็นชอยส์ที่ ‘ชัดเจน’ เกินไป อีกทั้งการที่หนังเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแต่ไม่ได้ชิงสาขาผู้กำกับ ก็เป็นสัญญาณกลายๆ ว่าคุณภาพหนังอาจไม่ได้เลอเลิศนัก



the shape of water

ดังนั้นตัวเต็งหนังเยี่ยมตอนนี้เลยกลายเป็น The Shape of Water หนังแฟนตาซีที่มีคุณภาพ ไม่เด๋อ ไม่สะเหล่อ แถมยังพูดถึงการดิ้นรนของผู้หญิงเช่นกัน แต่บางสื่อให้ความเห็นว่าหากออสการ์ต้องการสร้างภาพลักษณ์สนับสนุนผู้หญิงในวงการภาพยนตร์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู หวยอาจจะออกที่ Lady Bird ของผู้กำกับหญิง เกรต้า เกอร์วิก

ส่วนสาขาหลักอื่นๆ คาดว่าไม่มีอะไรให้ลุ้นมากนัก อย่างสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมคงเป็นของ กีเยร์โม เดล โตโร (The Shape of Water) ด้วยทั้งทักษะการสร้างโลกเฉพาะตัวที่น่าหลงใหล หรือบุคลิกคุณลุงใจดีอันเป็นที่รักของคนในวงการ

ส่วนสาขาการแสดงนั้นแทบเรียกได้ว่าเป็นหวยล็อก ไม่ว่าจะ แกรี่ โอลด์แมน ในบท วินสตัน เชอร์ชิลล์ จาก Darkest Hour เป็นที่รู้กันดีว่ากรรมการออสการ์ปลื้มบทที่สร้างจากบุคคลสำคัญและนักแสดงเปลี่ยนโฉมตัวเองจนจำไม่ได้ ส่วนฝั่งนักแสดงหญิง ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ (Three Billboards) มาวินแต่ไกล ด้วยฝีมือการแสดง วัยวุฒิที่เหมาะสม การเป็นที่เคารพ และโมเมนต์การพูดสุนทรพจน์ตอนรับรางวัลที่น่าจะจับใจ

สาขานักแสดงสมทบก็ไม่น่าจะมีการพลิกโผอะไรนัก แซม ร็อคเวลล์ (Three Billboards) น่าจะขึ้นเวทีไปรับรางวัล แม้หลายเสียงจะเถียงว่าการแสดงของ วิลเลม เดโฟ (The Florida Project) น่าสนใจกว่า เช่นเดียวกับกรณีของ อัลลิสัน แจนนีย์ (I, Tonya) กับตัวละครแสนจัดจ้านชัดเจนถูกใจออสการ์ ทั้งที่ตัวละครของ เลสลีย์ แมนวิลล์ (Phantom Thread) หรือ ลอรี เม็ทคาล์ฟ (Lady Bird) ดูมีมิติกว่าตั้งเยอะ

อย่างไรก็ดี ที่ว่ามาทั้งหมดเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น การพลิกล็อคอาจเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ที่มั่นใจคือ ออสการ์ปีนี้น่าจะไม่มีการส่งซองพลาดหรือประกาศชื่อผิดอีกแน่นอน ออสการ์น่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เกิดความน่าอับอายครั้งใหญ่แบบปี 2017

ขอจบเรื่องของรางวี่รางวัลไว้เพียงเท่านี้ ในส่วนต่อไป ผู้เขียนขอพูดถึงหนังชิงออสการ์หนังเยี่ยมบางเรื่อง โดยละเว้นหนังที่เคยกล่าวถึงในคอลัมน์ ‘สำส่อนทางความบันเทิง’ ไปแล้ว


Three Billboards outside Ebbing, Missouri


Three Billboards outside Ebbing, Missouri

เรื่องราวของคุณแม่ที่ลงทุนติดป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกสาวที่ตายไป เป็นหนังที่เข้าสูตรทุกอย่างของหนังคุณภาพ ทั้งนักแสดงชั้นดีและการมีประเด็นทางสังคม แต่ผลโดยรวมออกมาไม่ได้น่าประทับใจมาก เพราะหลายครั้งหนังพยายามส่งสารแบบตรงไปตรงมาหรือออกจะ ‘ทื่อ’ ไปหน่อย จนบางครั้งอยากเดินเข้าไปบอกผู้กำกับว่าพอแล้วจ้า เก็ทแล้วจ้า

ถึงกระนั้น Three Billboards ไม่ใช่หนังแย่ สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องระดับศีลธรรมที่ลื่นไหลในหนังและค่อนข้างท้าทายคนดู เช่นว่า เราอาจเอาใจช่วยนางเอกในช่วงแรก แต่เมื่อการทวงความยุติธรรมของเธอเริ่มหนักข้อและล้ำเส้นมากขึ้น คนดูต้องเริ่มถามตัวเองว่าเราจะยังอยู่ฝั่งเดียวกับเธอหรือเปล่า อีกทั้งฉากจบของหนังก็ ‘ดาร์ค’ กว่าที่คิด การทิ้งปลายเปิดไว้เช่นนี้ถือว่าเซอร์ไพรส์พอควร สำหรับหนังที่มีท่าทีเชยๆ มาตลอดเรื่อง


Lady Bird


Lady Bird

เสียงต่อหนังเรื่องนี้ของชาวไทยอาจจะคล้ายๆ กันคือ “เออ มันก็ดีนะ แต่มันดีขนาดนั้นเลยเหรอ” อันนี้อาจเป็นเรื่องบริบททางวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทำให้คนดูอเมริกันกรี๊ดหนังมาก เช่น พวกเราชาวไทยอาจจะไม่เก็ทเท่าไรว่าทำไมนางเอกรู้สึกทุกข์ตรมกับการอยู่ในซาคราเมนโต ทำไมเธอถึงอยากไปนิวยอร์กนัก หรือเรื่องระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของอเมริกา และประเด็นหนุ่มสาวที่แยกบ้านจากพ่อแม่

แต่ถ้ามองพ้นเรื่องบริบทแบบอเมริกันไปแล้ว ความดีงามของ Lady Bird คงอยู่ที่การทำเรื่องราวที่เราเห็นมาเป็นร้อยเป็นพันครั้งให้ออกมาดีได้ เราทุกคนล้วนเคยดูหนังประเภทวัยรุ่นไม่พอใจในชีวิตตัวเอง แต่หนังทำนองนี้มักจบแบบพาฝันหรือแฮปปี้เอนดิ้งอย่างไม่น่าเชื่อถือสุดๆ แต่ Lady Bird สามารถรอดพ้นจากความผิดพลาดอันซ้ำซากเหล่านั้นได้ ด้วยความใจใส่ทั้งเรื่องบท การแสดง และอารมณ์ของตัวละคร

อีกประเด็นที่ผู้เขียนชอบใน Lady Bird คือ การพูดถึงผลกระทบของเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ต่อคนอเมริกันแบบไม่ต้องการเมืองจ๋า แต่ก็เห็นภาพชัดว่ามันมีอิทธิพลกับเหล่าตัวละครมากขนาดไหน


The Shape of Water
the shape of water

เดล โตโร ขึ้นชื่อเรื่องความช่ำชองด้านการสร้าง ‘แฟนตาซี’ อันมีเอกลักษณ์ แต่ปกติแล้วโลกในหนังของเดล โตโร มักจะแฝงความโหดร้ายและสยดสยองเสมอ หากแต่ The Shape of Water ดูจะมีความสว่างสดใสมากที่สุดในผลงานของเขา มันเลยกลายเป็นหนังที่เข้าถึงคนหมู่มากได้ (แต่ผู้เขียนเองออกจะรู้สึกว่าหลายจังหวะของหนังออกจะ ‘ติดหวาน’ ไปสักหน่อย)

หากแต่พิจารณาให้ดีแล้ว ตัวตนของ เดล โตโร ยังคงอยู่ใน The Shape of Water ทั้งการช็อกคนดูหรือความแปลกพิลึกพิลั่น ไม่ว่าจะการเปิดหนังด้วยฉากนางเอกช่วยตัวเอง หรือฉากเซ็กซ์อันโด่งดังของนางเอกกับมนุษย์ครึ่งปลา เพราะเอาเข้าจริงแล้ว หัวใจหลักของ The Shape of Water คือการพูดเรื่องความอยาก/ราคะตัณหา เพียงแต่เล่าถึงความอยากด้วยน้ำเสียงแบบนิทานก่อนนอน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องความเป็นคนนอก ทั้งสัตว์ประหลาด, คนผิวสี, เกย์ และคนชั้นล่าง แต่กลุ่มตัวละครเหล่านี้ออกจะดำรงอยู่แบบชัดแจ้งไปหน่อย จนหนังไม่ค่อยมีความคมคายนัก


Phantom Thread


Phantom Thread

บรรดาหนัง 9 เรื่องที่ชิงออสการ์หนังเยี่ยมปีนี้ ผู้เขียนขอสารภาพว่าชื่นชอบ Phantom Thread มากที่สุด (แต่ดูเหมือนจะเป็นหนังที่มีเสียงตอบรับในไทยแบบกึ่งๆ มึนๆ มากที่สุดด้วย) เพราะรู้สึกว่า พอล โธมัส แอนเดอร์สัน ทำหนังเรื่องนี้ออกมาเป็นหนังคู่ขนานกับ There Will Be Blood (2007) ผลงานก่อนหน้าของเขาที่นำแสดงโดย แดเนียล เดย์-ลูว์อิส เช่นกัน

ในขณะที่ตัวเอกจาก There Will Be Blood เต็มไปด้วยความมาโชและมุ่งร้าย ตัวละครช่างเสื้อ เรย์โนลด์ วูดค็อก ใน Phantom Thread แม้ภายนอกจะดูอ่อนหวานละมุนละไม แต่แท้จริงแล้วก็ร้ายกาจอย่างสุดแสน ทั้งสองเป็นตัวละครประเภทที่มีความปรารถนารุนแรงและเห็นแก่ตัวอย่างที่สุด ต่างกันที่คนหนึ่งอยู่ในโลกอันร้อนระอุของกิจการบ่อน้ำมัน ส่วนอีกคนอยู่โลกหวือหวาของแฟชั่น

ผู้เขียนยังชอบที่ทุกตัวละครใน Phantom Thread มีลักษณะสองด้านประกอบกันที่คาดเดาไม่ได้ ไล่ตั้งแต่ตัวเอกที่เป็นทั้งผู้ชอบควมคุมและอยากถูกควบคุม ตัวนางเอกที่มีความใสซื่อเด๋อด๋าไปพร้อมกับความมุ่งมั่นแรงกล้า หรือตัวพี่สาวของพระเอกที่เย็นชาในฉากหนึ่ง แต่ก็แสดงความอบอุ่นในฉากถัดมา หนังจึงมีเสน่ห์เหลือล้นด้านตัวละครที่น่าค้นหา

และแน่นอนว่าการแสดงของ เดย์-ลูว์อิส ใน Phantom Thread เป็นการอำลาวงการได้อย่างแสนทรงเกียรติ แม้ว่าออสการ์ปีนี้อาจจะไม่ได้ใส่ใจเขานักก็ตาม


Phantom Thread