ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยื่น 13 ข้อ จี้รัฐปฏิรูปเรื่องความปลอดภัยอย่างจริงจังภายใต้การมีส่วนร่วมขององค์กรเครือข่ายของผู้ใช้แรงงาน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ค. พ.ศ. 2536 หรือย้อนไปเมื่อ 25 ปีที่แล้ว เกิดเพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ อ.สามพราน จ.นครปฐม ส่งผลให้คนงานนับพันต้องวิ่งหนีตายอลหม่าน เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นเหตุให้คนงานเสียชีวิต 188 คน และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน เพื่อไม่ให้ชีวิตของคนงานต้องสูญเปล่า สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และขบวนการแรงงานจากภาคส่วนต่าง ๆ ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลประกาศให้ วันที่ 10 พ.ค. ของทุกปีเป็น "วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ" 

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2540 เห็นชอบให้วันที่ 10 พ.ค. ของทุกปี เป็น “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันอันตรายและการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ ใช้เวลาถึง 21 ปีเพื่อผลักดัน “พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554” รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานจนเป็นผลสำเร็จ

กระทั่งจนถึงปัจจุบัน 7 ปีแล้วของการประกาศใช้กฎหมาย แต่ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ด้วยเงื่อนไข และข้อจำกัด อีกทั้งขาดการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐ มีบุคลากรที่จำกัด ทำให้สถานการณ์เรื่องความปลอดภัยยังอยู่ในสภาพที่ต้องผลักดันต่อไป

ดังนั้น เนื่องในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ปี 2561 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เพื่อเร่งรัดในการปฏิรูปเรื่องความปลอดภัยอย่างจริงจังภายใต้การมีส่วนร่วมขององค์กรเครือข่ายของผู้ใช้แรงงาน ดังต่อไปนี้ 

1. ขอให้ผู้เจ็บป่วยสามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เจ็บป่วย บาดเจ็บจากการงาน จนกว่าแพทย์จะสิ้นสุดการรักษา ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีประกาศปี 2558 ให้เบิกได้ถึง 2 ล้าน แต่เข้าถึงสิทธิได้ยาก

2. ให้รัฐออกนโยบาย แนวปฏิบัติ หรือกฎกระทรวงให้ชัดเจน ห้ามไม่ให้สถานประกอบการเบี่ยงเบนให้คนงานที่บาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงานไปใช้สิทธิอื่น เช่น ประกันสุขภาพหมู่ หรือ รักษาเอกชนโดยไม่ระบุว่าเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน มีบทลงโทษกรณีสถานประกอบการไม่ส่งเรื่องแจ้งคนงานบาดเจ็บและเจ็บป่วยจากการทำงาน เข้ากองทุนเงินทดแทน

3. การประเมินการสูญเสียสิ้นสุดการรักษาต้องให้คนงานรักษาให้ถึงที่สุดจนหายดี และเงินประเมิน ต้องทดแทนให้คนงานที่สูญเสียอวัยวะ อยู่ได้อย่างไม่ลำบาก ตลอดชีพ

4. ขอให้คณะกรรมสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) หรือผู้แทนเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการแพทย์ หรือ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน

5. ให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์ สร้างจิตสำนึก ให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยเนื่องใน “วันความปลอดภัยแห่งชาติ” ทุกปี เฉกเช่นเดียวกับวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจัดสรรให้แก่องค์กรของคนงานที่มีการทำงานและผลงานอย่างต่อเนื่อง

6. ให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) หรือผู้แทนเข้าเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด)สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ อย่างน้อย 1 คน ในฐานะองค์กรผลักดัน

7. ขอให้รัฐยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ

8. ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ พร้อมทั้งบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือให้แก่ “สถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน” และบริหารจัดการให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล มีคุณธรรม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม มีความโปร่งใส มีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ มีความรับผิดชอบในภารกิจเข้มงวด ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ทั้งในเรื่อง การให้ความรู้ การป้องกัน การรักษาการเยียวยาและการฟื้นฟู เพื่อให้คนที่ประสบเหตุสามารถดำเนินชีวิตในสังคมต่อไปได้ รวมทั้งการบริหารการจัดการ ขอให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) หรือผู้แทนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารและการตัดสินใจ

 9. การตรวจสุขภาพประจำปีให้มีการตรวจแบบอาชีวเวชศาสตร์และต้องตรวจทุกคน แจ้งผลให้คนงานทราบ โดยมีสมุดพกประจำตัวการตรวจสุขภาพให้ลูกจ้างทุกคน

10. ให้รัฐตรวจสอบสถานประกอบการทุกแห่ง ให้มีนโยบายปลอดภัย และมีคนปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยอย่างจริงจัง และมีส่วนร่วมจากคนงานในสถานประกอบการนั้น โดยให้คณะกรรมการความปลอดภัยมาจากองค์กรของลูกจ้าง หากสถานประกอบการใดไม่มีให้คนงานเลือกตั้งกันเอง

11. ขอให้รัฐเร่งออกกฎหมายโรคจากการประกอบอาชีพ

12. ขอให้รัฐจัดให้มีคลินิกวินิจฉัย รักษาโรคจากการทำงาน ทุกพื้นที่อุตสาหกรรม ที่มีระดับมาตรฐานเท่าเทียมกัน สามารถวินิจฉัยโรคได้ ที่สำคัญเมื่อวินิจฉัยคนงานว่าเจ็บป่วย /บาดเจ็บ จากการทำงานแล้ว คณะกรรมการแพทย์ต้องยึดเป็นเกณฑ์ในการให้สิทธิกองทุนเงินทดแทน

13.ขอให้มีแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมประจำทุกโรงพยาบาล

นายสาวิทย์ กล่าวว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอเพื่อการปฏิรูประบบและกลไกรวมทั้งการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังที่รัฐบาลประกาศนโยบาย “Safety Thailand”ให้เป็นวาระแห่งชาติข้อเสนอทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวไปสู่เป้าหมายเรื่องความปลอดภัยของคนทำงาน 


อ่านเพิ่มเติม