ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ออกแถลงการณ์ ขอนายกฯ ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่เป็นทางการ และยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้ปกป้องชุมชนทั้ง 16 คน

ตามที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561 เรื่องเครือข่ายฯ ได้เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และขอความเป็นธรรมกรณีคดีเทพาทั้ง 16 คน จากคดีเดินเทใจให้เทพา ทางเครือข่ายฯมีความซาบซึ้งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มองเห็นถึงความทุกข์ร้อนของประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ และท่ามกลางกระแสของสังคมที่ออกมาตั้งข้อสังเกตต่อเรื่องนี้เป็นจำนวนมากเป็นเหตุให้รัฐบาลไม่อยากตัดสินใจที่จะดำเนินการใดๆ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งพล.อ. ประยุทธ์ เองออกแถลงด้วยวาจาว่าจะมีคำสั่งให้ชะลอโครงการเอาไว้ก่อน และหลังจากนี้จะให้รัฐมนตรีพลังงานออกมาชี้แจงอีกครั้ง ส่วนเรื่องการให้ความเป็นธรรมในคดีเทพานั้น ทาง พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่าพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรม และให้ความช่วยเหลือ หากแต่ในกระบวนการยุติธรรมจะต้องดำเนินต่อไป

การให้สัมภาษณ์ดังกล่าว เหมือนเป็นการสนใจรับฟังปัญหาที่ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เสนอไว้ตามข้อเรียกร้องก่อนหน้านี้ หากแต่ถ้อยแถลงยังมีความคลุมเครือ และไม่สามารถสรุปได้ว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวจะได้รับการดำเนินการได้ตามนั้ ทางเครือข่ายฯ จึงขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ หรือรัฐมนตรีพลังงานโปรดออกมาชี้แจงรายละเอียดและแสดงรูปธรรมการดำเนินการตามถ้อยแถลงนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ

และในระหว่างนี้เครือข่ายฯ จะยังคงปักหลักอยู่เพื่อให้ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินและยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้ปกป้องชุมชนทั้ง 17 คน ที่ ทำเนียบรัฐบาลต่อไป 

เครือข่ายฯ ยังยืนยันว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหมดความชอบธรรมที่จะดำเนินการได้อีกต่อไป ด้วยเหตุผล 

1. โครงการนี้มีกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน มีความเป็นเท็จหลายประการ

2. มีผลประโยชน์ทับซ้อน และมีการเอื้อประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินของคนบางกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้เกิดความขัดแย้งภายในชุมชนอย่างหนัก

3. การเลือกพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่เหมาะสม ด้วยเป็นที่ตั้งของชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีวัฒนธรรมและต้องบังคับโยกย้ายประชากรกว่า 200 ครัวเรือ 

4. ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตือโล๊ะปาตานี ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลของประเทศที่มีประมงพื้นบ้านหากินเป็นจำนวนนับหมื่นคน

5. เป็นภัยแทรกซ้อนสันติภาพชายแดนใต้

ดังนั้น การสั่งชะลอ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จึงไม่ใช่ทางออกของปัญหาทั้งหมด หากเป็นเพียงการยื้อเวลาไว้ระยะหนึ่งเท่านั้น ในที่สุดแล้วอาจมีการสั่งเดินหน้าโครงการต่อ โดยไม่ได้มีการแก้ไขตรวจสอบ หรือกระทำการใด ๆ เพื่อจะสร้างทางออกของปัญหาได้อย่างแท้จริง ซึ่งบทเรียนในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในกรณีของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ที่ในที่สุดรัฐบาลสั่งเดินหน้าโครงการโดยไม่ได้สนใจสิ่งใด ดังนั้นการสั่งชะลอ จึงเป็นเพียงการหลบเลี่ยงปัญหาชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น

สำหรับเรื่องคดีความของผู้ปกป้องชุมชนทั้ง 16 คน จากกรณีการเดินเทใจให้เทพา ที่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่าจะให้ความเป็นธรรมและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือนั้น ในทางกฎหมายมีช่องให้ว่า "หากคดีความไม่เป็นประโยชน์ในทางสาธารณะแล้ว รัฐสามารถถอนฟ้องได้" จึงเป็นเรื่องที่นายกฯ สามารถตัดสินใจได้ทันที ทางเครือข่ายฯ จึงขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ แสดงความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาตามที่ได้เรียกร้องไป

ทั้งนี้ เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่เดินทางมาทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ขอให้ยกเลิกการก่อสร้าง บอกว่ายังไม่มีกำหนดกลับบ้าน และจะมีกลุ่มเครือข่ายเดินทางมาสมทบอีกในวันที่ 1 ก.พ. 2561 นี้

โดยเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2561 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าอาจสั่งชะลอโครงการสร้างโรงไฟฟ้าเทพา ออกไปก่อน โดยสั่งการให้นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ไปชี้แจงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งเท่าที่ทราบตอนนี้อาจจะต้องชะลอโครงการนี้ไปก่อนช่วงเวลาหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันจะต้องแก้ปัญหาพลังงานขาดแคลน แก้ปัญหาสายส่ง และแก้ปัญหาการหาแหล่งพลังงานไฟฟ้าทดแทนในพื้นที่ 

เครือข่ายฯ เคยเข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีความกังกลในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) อาจมีข้อผิดพลาดและมีข้อมูลเป็นเท็จ และไม่ให้กลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยไปร่วมแสดงความคิดเห็น และขอให้ยกเลิกการดำเนินคดีกับผู้ร่วมชุมนุมในพื้นที่ จำนวน 16 คน จากเหตุการณ์เผชิญระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและชาวบ้าน ในการเดินเท้าจาก อ.เทพา จ.สงขลา เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกฯ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2560

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 เครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนำโดย นายหลี สาเมาะ อดีตกำนันตำบลปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา พร้อมด้วยผู้นำท้องที่ทุกตำบลใน อ.เทพา จ.สงขลา และกลุ่มพลังมวลชนอื่นๆ ได้มีการรวมตัวกันได้รวมตัวกันที่ลานวัฒนธรรม หน้าที่ว่าการอำเภอเทพาเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยได้ออกแถลงการณ์เพื่อยืนยันเจตนารมณ์และส่งแถลงการณ์ให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผ่านนายอำเภอเทพา จ.สงขลา เพื่อให้ใช้อำนาจตาม ม.44 สั่งการให้สร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเพราะเป็นความต้องการของคนอำเภอเทพา