ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากรัฐบาล คสช. ประกาศเดินหน้านโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ-เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมร่วมมือนักลงทุนต่างชาติ ทำให้เครือข่ายประชาชนและนักวิชาการจัดเวทีสะท้อนปัญหาและผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับจากโครงการดังกล่าว

เครือข่ายประชาชนและนักวิชาการ รวมถึงขบวนการต่อสู้ด้านสิทธิที่ดินทำกิน จัดเสวนา “นโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับผลกระทบต่อวิถีชุมชน การแย่งยึดที่ดิน” ในวันที่ 18 พ.ย. 2561 โดย นายสมนึก จึงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมภาคตะวันออก กล่าวว่า การผลักดันนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้นมีมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนๆ แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาเป็นรัฐบาล ได้มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ในการกำหนดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ราคาที่ดินราคาสูงขึ้นจนรัฐบาลไม่สามารถซื้อที่ดินเอกชนมาทำโครงการได้ จึงต้องไปไล่ยึดและไล่ที่ดินชาวบ้าน

เมื่อชาวบ้านออกมาต่อสู้คัดค้าน ทำให้ถูกฟ้องร้อง เป็นผลให้ดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามแผน บรรดานักลงทุนจึงหดหาย หลายโครงการก็ต้องชะลอตัวหรือเจ๊ง เช่น ที่แม่สอด จ.ตาก มีการอ้างอิงคำกล่าวของนักลงทุนที่ไม่ระบุชื่อ แต่บอกว่า ไม่กล้าเข้าไปลงทุน เพราะเป็นพื้นที่ชายแดนที่ยังมีความขัดแย้ง ที่ถือเป็นเรื่องเสี่ยงในการลงทุน หรือที่นครพนมที่เมื่อเกิดการฟ้องร้องแล้วเป็นบทเรียนให้รัฐบาลจนมีการกันที่ดินชุมชนที่เป็นปัญหาออกมา

อย่างไรก็ตาม ในภาคตะวันออก รัฐบาลมีบทเรียนจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว จึงมีการออกกฏหมาย พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC อีกทั้งก่อนหน้านี้ก็มีการใช้อำนาจ คสช. ประกาศเขตส่งเสริมเพื่อรองรับกิจการพิเศษ 19 แห่ง 75,000 ไร่ เป็นการให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายไว้สูงมาก โดยเฉพาะการกำหนดผังเมืองในพื้นที่เป้าหมายได้เอง ใช้พื้นที่ สปก.ได้โดยไม่ต้องเพิกถอน รวมทั้งมีการออกคำสั่ง คสช.ที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายคำสั่ง โดยเฉพาะคำสั่ง คสช.ที่ 47/2560 ที่เป็นข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ทำให้นายทุนสามารถซื้อที่ดินได้ในราคาถูก

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดพื้นที่สมาร์ทซิตี้ หรือการพัฒนาอุตสหกรรม 4.0 ในกิจกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูง ที่เปลี่ยนผังเมืองเป็นสีเขียวแล้วนายทุนไปรวมรวมที่ดินไว้ในราคาถูก แล้วนำไปขอตั้งเป็นเขตส่งเสริมฯ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่ตอนนี้ใช้พื้นที่ไปแล้วกว่า 9.8 หมื่นไร่ แต่เมื่อไปดูในนิคมก็เป็นอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม ที่ไม่สอดคล้องกับความเหมาะสมการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ที่ล้วนเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่เป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

“ก่อนหน้านี้ถ้าทำอุตสาหกรรมต้องทำอีไอเอ สิ่งแรกดูผังเมือง ถ้าผังเมืองไม่อนุญาติก็ไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อรื้อผังเมืองทิ้งไป กระบวนการต่างๆ ก็ฉลุย ตอนนี้ที่ดินกว่า 3.2 แสนไร่ เป็นของนายทุนที่เตรียมทำอุตสหกรรม หรือกำลังนำที่ดินของชาวบ้านไปให้ต่างชาติเช่าระยะยาว พ.ร.บ.อีอีซี จึงไม่จบแค่ 3 จังหวัดแน่นอน อย่างเช่น อุตสาหกรรมพืชพลังงานสามารถขยายไปภาคอีสานที่มีอ้อย หรือที่ตอนนี้ 3 จังหวัดภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ต้องนำน้ำจากจันทบุรี ตราด มาใช้ ผลกระทบจึงไม่ใช่แค่ที่ดิน แต่ส่งผลไปถึงจังหวัดอื่นด้วย ทั้งการสูญเสียที่ดินป่าไม้เพื่อสร้างเขื่อน รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพเชื่อมต่อภาคตะวันออก ที่ตลอดแนวก็ต้องถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมฯ เช่นกัน" นายสมนึกกล่าว


8880502557568.jpg

นางสิมมาลา หงษามนุษย์ ชาวบ้านในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จังหวัดนครพนม กล่าวว่า เมื่อก่อนชาวบ้านไม่เคยจะมีโครงการเขตเศรฐกิจพิเศษเกิดขึ้น จนมีทหารและตำรวจเข้ามาจับกุมดำเนินคดีบุกรุกที่สาธารณะประโยชน์กับชาวบ้าน โดยที่ยังไม่ชี้แจงใดๆ ทั้งที่ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิ์ จนภายหลังมีหลายฝ่ายเข้ามาช่วยชาวบ้านเตรียมเอกสารชี้แจงต่อในกระบวนการศาลจนศาลมีคำตัดสินยกฟ้อง แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มั่นใจว่าที่ดินที่เราทำกินอยู่ทุกวันเป็นของชาวบ้านหรือไม่

“ฉันมีที่ดินแค่ 1 งาน 12 ตารางวา ที่ดินเล็กน้อยแต่ภูมิใจที่สามารถทำกินเลี้ยงลูกเลี้ยงหลานมาจนโต วันหนึ่งมีจดหมายบอกว่าให้ย้ายออกภายใน 1 เดือน ไม่เช่นนั้นจะเอารถแบ็กโฮมาไล่ ชาวบ้านก็ต้องทยอยออกไป จาก 50 ครัวเรือน โดนดำเนินคดีถึง 29 ครัวเรือน ก็เพราะรัฐบอกว่าจะเอาที่ดินไปให้นักลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรม จะให้ชาวบ้านเช่าที่ไร่ละ 4 หมื่น เขาบอกว่าไม่มี ชาวบ้านเดือดร้อน ก็สู้มาถึงตอนนี้ 2 ปี 6 เดือน ถ้าไม่มีคนมาช่วยก็ไม่รู้จะสู้อย่างไร คงต้องรอติดคุกและถูกไล่รื้ออย่างเดียว” นางสิมมาลา กล่าว

นางพรภินันท์ โชติวิริยะนนท์ ชาวบ้านเขตเศรษฐกิจแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า ชาวบ้านไม่เคยรู้ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษคืออะไร ทราบเมื่อทางอำเภอเรียกให้ชาวบ้านไปรับทราบ ทำให้ชาวบ้าน 97 รายสูญเสียที่ดินเพื่อเอาไปให้นักลงทุนต่างชาติเช่าระยะยาว 99 ปี ทำนิคมอุตสาหกรรม ชาวบ้านถูกกดดันอย่างหนักให้ยอมย้ายออกจากที่ดิน แต่ทุกคนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะในอดีตแม่สอดถือเป็นพื้นที่ความขัดแย้ง ไม่มีใครอยากเข้ามาอยู่ที่แม่สอด ชาวบ้านก็อยุ่กันมาพัฒนาพื้นที่เรื่อยมาจนปัจจุบันมีความเจริญ เมื่อรัฐมีแผนพัฒนากลับมองข้ามคนในพื้นที่ เบียดเบียนที่ทำกินของชาวบ้าน จนหลายคนต้องจำยอมย้ายออกไป เหลือ 5 รายที่ยังยืนยันว่าไม่ย้ายออกคัดค้านการออกโฉนดเป็นที่ราชพัสดุ หากรัฐต้องการที่ดินนำไปพัฒนาชาวบ้านก็ไม่ได้ขัดขวางการพัศนา เพียงแต่ต้องหาที่ดินอื่นชดเชยในจำนวนเท่าเดิม

นายสรายุทธ สนรักษา ภาคประชาสังคม เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก กล่าวว่า สาเหตุของสถานการณ์ที่ดินในภาคตะวันออก ที่ปัจจุบันที่ดิน 70 เปอร์เซ็นต์ตกไปอยู่ในมือเอกชนแล้ว เป็นผลจากความสะสมของความเลื่อมล้ำที่มีมานาน ทำให้เกิดการสูญเสียที่ดิน จากหนี้ไม่กี่พันก็ทำให้ที่นาราคาเป็นล้านถูกยึดได้ แต่อย่างไรก็ตามในอดีตที่ดินที่ตกอยู่ในมือนายทุนยังไม่พัฒนาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมได้ เพราะติดเงื่อนไขผังเมืองที่กำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นแหล่งเพาะปลูก เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปลา เป็นแหล่งความมั่นคงอาหารสำคัญของภาคตะวันออก โดยเฉพาะเป็นแหล่งของข้าวหอมมะลิ 105 และพื้นที่ผลิตกุ้งกุลาดำครึ่งหนึ่งของประเทศ และส่งออกร้อยละ 30 ของโลก ชาวบ้านได้ใช้ผังเมืองฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ปกป้องพื้นที่ให้ปลอดภัยจากอุตสาหกรรม ซึ่งเร็วๆ นี้ชาวบ้านมีความกังวลว่าผังเมืองฉบับใหม่ที่จะประกาศออกมาในปลายปีนี้ อาจมีการปรับผังเมืองให้สามารถทำนิคมอุตสาหกรรมได้

“ชาวบ้านกำลังถูกผลักไปเป็นพลเมืองชั้นสองให้ไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แม้นายทุนจะถือครองที่ดิน แต่การเข้ามาใช้ประโยชน์ก็ควรสอดคล้องกับวิถีชุมชน สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่ 3 น้ำ อุดมสมบูรณ์ ทำเกษตรไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร ผังเมืองก็ต้องสอดคล้องกับพื้นที่ด้วย” นายสรายุทธ กล่าว

นางสายทอง เก่งกานา กล่าวว่า ชาวบ้านร้อยละ 90 ทำการเกษตรตั้งแต่บรรพบุรุษ บุกเบิกกันมา 3-4 รุ่นอายุคน เมื่อปลายปี 2557 กรมธนารักษ์ส่งหนังสือยกเลิกการเช่าทีดิน สั่งให้ย้ายข้าวของโดยไม่มีค่าชดเชย หากเพิกเฉยจะดำเนินดดี จนปลายปี 2560 มีหนังสือให้ชาวบ้าน 693 คน ย้ายออกภายใน 7 วัน เพราะเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ แต่กลับให้ทหารเรือเข้ามาควบคุม กดดันชาวบ้านให้ออกจากพื้นที่ ทหารแจ้งว่าจะนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ในงานด้านความมั่นคง เมื่อชาวบ้านไม่ยอมย้ายออก ก็เข้ามาสอดส่อง สอบถามข้อมูลในพื้นที่ทุกวัน อนาคตไม่รู้ว่าจะสู้กับรัฐอย่างไร แต่ชาวบ้านทุกคนยังยืนยันว่าอยากจะอยู่ในที่ดินเดิม เพราะมีความอุดมสมบูรณ์มาก ติดแม่น้ำเหมาะกับทำเกษตร ปลุกข้าว เลี้ยงกุ้งกุลาดำ และกุ้งก้ามกราม 

ในช่วงท้ายของงาน ผู้แทนภาคประชาชนประกาศข้อเสนอทางนโยบายในการรับรองสิทธิที่ดินและการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ต่อตัวแทนพรรคการเมือง และเปิดโอกาสให้สะท้อนแนวทางการผลักดันข้อเสนอของภาคประชาชนสู่นโยบายพรรค เพื่อนำไปผลักดันการแก้ปัญหาในรัฐบาลต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: