ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ดบีโอไอไฟเขียวส่งเสริมการลงทุน 4 โครงการใหญ่ มูลค่า 1.67 แสนล้านบาท 3 โครงการด้านพลังงาน นำโดย 'ไทยออย' ลงทุนผลิตน้ำมันสำเร็จรูป หนุนอุตสาหกรรมอากาศยาน วงเงินเฉียด 1.6 แสนล้าน กับ 1 โครงการผลิตชิ้นส่วนระบบเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล นายกฯ เร่งจัดทำกรอบส่งเสริมการลงทุนธุรกิจท่องเที่ยว

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้บีโอไอ เร่งจัดทำกรอบสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยว เช่น ส่งเสริมการลงทุนท่องเที่ยวเมืองรอง หรือใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้มีความชัดเจนดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน โดยให้เร่งจัดทำพร้อมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอยังได้อนุมัติในหลักการเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งนับเป็นอีกโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน และอยู่ในพื้นที่อีอีซี ทั้งนี้ เพื่อให้จัดทำเป็นกรอบขอบเขตการเปิดประมูล หรือ ทีโออาร์ในโครงการดังกล่าว และให้สามารถเปิดประมูลได้ในช่วงปลายปี 2561

ประชุมบีโอไอ

อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 4 โครงการ มูลค่ารวม 1.67 แสนล้านบาท

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่าที่ประชุมได้พิจารณาให้การส่งเสริมโครงการลงทุนจำนวน 4 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 167,679 ล้านบาท ประกอบด้วย

1) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป เงินลงทุนทั้งสิ้น 156,621 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้จะเพิ่มความสามารถในการกลั่นน้ำมันดิบที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะการผลิตน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและเมืองการบินของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี รวมทั้งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว โดยรองรับความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่เพิ่มขึ้น และยังจะช่วยต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นอีกด้วย

2) บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 57 เมกะวัตต์และไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,980 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง โครงการนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งนำอากาศเสียที่มีความร้อนสูงมาใช้ต่อ จึงช่วยประหยัดพลังงาน และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย

3) บริษัท สยาม เด็นโซ่ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนระบบเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ลดการใช้น้ำมันและการปล่อยมลพิษเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโรใหม่ เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,973 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดชลบุรี โดยโครงการนี้จะใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศปีละกว่า 2,632.6 ล้านบาท และช่วยสร้างความเข้มแข็งแก่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย

4) บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 60 เมกะวัตต์และไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,105 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดปทุมธานี โครงการนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งนำอากาศเสียที่มีความร้อนสูงมาใช้ต่อ จึงช่วยประหยัดพลังงาน และเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย

นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกับทางบีโอไอจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยให้กำหนดพื้นที่เมืองเป้าหมายทั้งเมืองหลักเมืองรอง จากนี้กำหนดกิจการเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวสนับสนุนเข้าไปเสริม จากปัจจุบันอย่างธุรกิจสวนสนุกเป็น 1 ในกิจการที่ส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยว ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นทางภาษีรายได้นิติบุคคล 5 ปี เป็นต้น 

6 เดือนแรกของปี 2561 อนุมัติโครงการลงทุนมูลค่า 1.96 แสนล้าน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 43

ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2561 (ม.ค.-มิ.ย. 2561) มีการขอรับการส่งเสริมลงทุน 754 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22 และมีมูลค่าเงินลงทุน 284,600 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1 ขณะที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 730 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16 มูลค่าเงินลงทุน 196,350 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 43 และออกบัตรส่งเสริม 713 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8 และมีมูลค่าเงินลงทุน 236,180 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27

ขณะที่ มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม จำนวน 730 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 196,350 ล้านบาท แบ่งเป็น การอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนตามโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จำนวน 113 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 15 ของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด และมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 4,770 ล้านบาท

ส่วนโครงการใหม่ที่ได้รับการอนุมัติ มีจำนวน 617 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 85 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด มีมูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 191,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98 ของมูลค่าการอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด โดยในจำนวนนี้จะเป็นการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 247 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 34 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งสิ้น มีมูลค่ารวม 123,080 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 ของมูลค่าการอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งสิ้น 

ทั้งนี้ จำนวนโครงการส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการกลุ่มดิจิทัล รองลงมาเป็นกิจการในกลุ่มการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ส่วนมูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในกิจการเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคมมากที่สุด รองลงมาเป็นกิจการกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :