ไม่พบผลการค้นหา
'ศรีสุวรรณ' บุก ป.ป.ช. ยื่นหลักฐานคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง มัดผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตาม มาตรา 36 กรณีเปลี่ยน TOR สายสีส้ม​

วันที่ 7 มี.ค. 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหลักฐานคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เมื่อ 8 ก.พ. 65 ว่า การที่คณะกรรมการคัดเลือกตาม มาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน 2562 และผู้ว่ารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชน (TOR) ในการเปิดประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางขุนนนท์-มีนบุรี) ถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไปที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

สืบเนื่องจาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ฟ้องว่า คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และผู้ว่า รฟม. ทำการแก้ไข TOR เป็นเหตุให้ผู้ซื้อเอกสารเสนอการร่วมลงทุนได้รับความเสียหาย โดยได้เรียกร้องค่าเสียหาย 5 แสนบาท อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองมีคำพิพากษาชั้นต้นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายจริง แต่ได้ยกฟ้องในประเด็นที่ให้เรียกร้องค่าเสียหาย เนื่องจากวินิจฉัยว่าความเสียหายดังกล่าวยังไม่ได้เกิดขึ้น หลังจากนี้ทางบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการหารือว่าจะมีการยื่นอุทธรณต่อหรือไม่ ภายในเวลา 30 วัน 

ซึ่งกรณีดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยได้เคยร้องเรียนไว้แล้วต่อ ป.ป.ช. จึงนำหลักฐานคำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าวไปยื่นเป็นเอกสารเพิ่มเติมให้ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการเอาผิดคณะกรรมการตามมาตรา 36 และผู้ว่า รฟม. ตามกฎหมายต่อไป โดย ศรีสุวรรณ ระบุว่า ข้อพิพาทนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากทำให้กระบวนการก่อสร้างล่าช้ายืดเยื้อออกไป ทั้งที่ความจริงควรจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้แล้ว หาก ป.ป.ช.สืบสวนแล้วพบว่าสามารถชี้มูลความผิดได้ ก็ต้องรับความผิดไปตามกระบวนการกฎหมาย แต่โครงการรถไฟฟ้าก็ต้องดำเนินต่อไปเช่นกัน เพราะเป็นผลประโยชน์ของประชาชนในการใช้ทางสัญจร 

สำหรับประเด็นที่มีข้อสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลง TOR ครั้งนี้ จะเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บางบริษัทหรือกลุ่มทุนใดหรือไม่ ศรีสุววรณ กล่าวว่า เป็นประเด็นที่ประชาชนได้มีการวิพากษ์วิจารณ์หนาหูอยู่แล้ว ถ้าไม่เช่นนั้นก็คงไม่มีการเปลี่ยน TOR กลางคันเช่นนี้