ไม่พบผลการค้นหา
ผู้พิพากษาตัดสิน 'ปลดเจมี สเปียร์ส' จากการเป็น 'ผู้พิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สิน' ของบุตรสาว 'บริทนีย์ สเปียร์ส' ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญหลังการต่อสู้เพื่ออิสระภาพอันยาวนาน 13 ปีของ 'เจ้าหญิงแห่งวงการเพลงป๊อป'

ผู้พิพากษาศาลลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ มีคำสั่งระงับบทบาทของ 'เจมี สเปียร์ส' บิดาของ 'บริทนีย์ สเปียร์ส' จากการเป็นผู้พิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สินของบุตรสาว มีผลทันที และยังได้ปฏิเสธการยื่นขออุทธรณ์จาก วิเวียน ธอรีน ทนายความของ เจมี สเปียร์ส

ความเคลื่อนไหวนี้จะนำไปสู่การยกเลิกการบังคับใช้กระบวนการพิทักษ์ดูแล หรือ 'Conservatorship' ต่อตัวบริทนีย์ในอนาคต คาดจะเป็นวันที่ 31 ธ.ค.นี้ ขณะที่ 'แมทธิว โรเซนการ์ท' ทนายความของบริทนีย์ยืนยันว่า เขาต้องการให้กระบวนการพิทักษ์ดูแลยุติอย่างถาวรภายใน 30-45 วัน

ผู้พิพากษา 'เบรนดา เพนนี' ระบุในศาลว่าสถานการณ์ที่ดำเนินอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และเป็นสถานการณ์ที่ 'เป็นพิษ' อย่างมาก เธอเชื่อว่าการตัดสินระงับบทบาทผู้พิทักษ์ของเจมี สเปียร์ส จะเป็นผลดีมากที่สุด พร้อมตัดสินให้ 'จอห์น ซาเบล' ผู้เชี่ยวชาญทางบัญชีและ CEO ของ Media Finance Structures บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลทรัพย์สินให้กับบุคลากรหรือบริษัทในอุตสาหกรรมบังเทิง ผู้ที่ถูกเลือกโดยการตัดสินใจของทนายความโรเซนการ์ท เป็นผู้พิทักษ์ด้านทรัพย์สินชั่วคราวให้กับบริทนีย์

ขณะที่ 'โจดี มองโกเมอร์รี' ผู้ดูแลผลประโยชน์มืออาชีพ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลด้านสุขภาพ การดูแลจากแพทย์ และความเป็นอยู่ที่ดีของนักร้องสาวต่อไปจนกว่ากระบวนการพิทักษ์ดูแลจะยุติอย่างถาวร ซึ่งเธอเป็นผู้ที่เห็นด้วยกับการมอบอิสระเสรีภาพคืนให้กับบริทนีย์แบบ 100%

AFP บริทนีย์ สเปียร์ส Britney Spears

ในปี 2551 ศาลตัดสินให้เจมีมีสิทธิ์ในการตัดสินใจแทนและควบคุมบริหารการเงินของบริทนีย์หลังเธอเผชิญปัญหามรสุมชีวิตจนต้องเข้ารับการบำบัดทางจิต โดยปัจจุบันมีรายงานว่าบริทนีย์ครอบครองทรัพย์สินอยู่ไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท

โดยตลอด 13 ปีที่ผ่านมา เจมีได้รับเงินเป็นค่าตอบแทนในฐานะ 'ผู้พิทักษ์' เป็นเงิน 509,000 บาทต่อเดือน และได้รับเงินก้อนจากการแสดงคอนเสิร์ตของบุตรสาวแต่ละครั้งเป็นเงินหลายล้านดอลลาร์ ขณะที่ แซเมียล อิงแฮม ทนายความที่ถูกศาลมอบหมายให้ดูแลคดีของบริทนีย์ทำเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 90 ล้านบาท

การมอบสิทธิ์ 'ผู้พิทักษ์' ให้กับเจมีเป็นเพียงการมอบสิทธิ์ 'ชั่วคราว' เท่านั้นในเบื้องต้น แต่ผู้เป็นบิดากลับยื่นคำร้องต่อศาลในปี 2552 เพื่อขอเป็นผู้พิทักษ์ 'ถาวร' แม้ขณะนั้นบริทนีย์จะสามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติแล้ว โดยเธอได้ออกอัลบั้ล BLACKOUT และ CIRCUS และยังสามารถทัวร์คอนเสิร์ต 9 เดือนเต็มในปี 2552 ทำเงินไปทัั้งสิ้น 4,475 ล้านบาทก็ตาม

'Conservatorship' หากแปลตรงตัวคือการปกป้องหรือการพิทักษ์ดูแล เป็นเครื่องมือทางกฎหมายอย่างหนึ่งในสหรัฐฯ บางมลรัฐจะเรียกมันว่า 'Guardian' มีหน้าที่หลักคือการ "ปกป้อง" บุคคลที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัดสินใจในชีวิต หรือการจัดการทรัพย์สิน

ส่วนใหญ่จะมีการนำเครื่องมือทางกฎหมายนี้มาใช้เพื่อการดูแลผู้สูงอายุหรือคนทั่วไปที่ป่วยเป็นโรคทางกาย ทางสมอง หรือทางจิต เช่น โรคความจำเสื่อม เป็นต้น และมักจะไม่มีการใช้กับบุคคลที่มีอายุ 26 ปี ดังเช่นบริทนีย์ในขณะนั้น และหากมีก็จะไม่กินเวลายาวนานนับ 10 ปี ทั้งๆ ที่นักร้องสาวสามารถทำงานหาเงินได้มาโดยตลอดนับพันล้านบาท

ลูกหลาน คนในครอบครัว คนใกล้ชิดของ "บุคคลที่ดูแลตัวเองไม่ได้" หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินเรื่องกับศาลในสหรัฐฯ เพื่อขอเป็นผู้ดูแล ควบคุมทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้ เพราะบุคคลนั้นไม่สามารถดูแลตัวเองหรือตัดสินใจเองได้แล้ว แม้จะฟังดูดีแต่มันถือเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่มีปัญหาอยู่มาก และมี 'ผู้ถูกพิทักษ์' ในสหรัฐฯ มากกว่า 1 ล้านคน

ในเดือน มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา โลกได้ยินคำให้การจากปากของบริทนีย์เองครั้งแรกหลังการถูกปิดเงียบมายาวนาน โดยบริทนีย์ ได้เข้ารับฟังการพิจารณาคดีในศาลของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย พร้อมให้การอย่างละเอียดต่อศาลเองครั้งแรกในรอบ 13 ปีผ่านทางวิดีโอ กับผู้พิพากษา 'เบรนดา เพนนี' เธอย้ำว่า ชีวิตของเธอถูกปฏิบัติไม่ต่างจากการ "ถูกค้ามนุษย์ทางเพศ"

เธอให้การถูกบังคับกินยาระงับประสาทที่มีผลข้างเคียงทำให้สมองพิการได้ ถูกบังคับคุมกำเนิดโดยไม่สมัครใจ ถูกกีดกันจากการใช้ชีวิต และสารคดีดังจาก The New York Times ก็เปิดโปงกรณีที่บริทนีย์ไม่มีแม้แต่เงินที่จะซื้อซูชิรับประทาน หรือซื้อรองเท้าผ้าใบ ทุกอย่างที่เธอต้องการต้องได้รับการอนุญาตจากผู้พิทักษ์ก่อน แม้กระทั่งการจะนั่งรถกอล์ฟออกไปสูดอากาศหน้าสบ้านก็ตาม และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการที่เธอถูกพ่อและทีมรักษาความปลอดภัยดักฝั่งความเคลื่อนไหวจากทั้งในห้องนอนและสมาร์ตโฟน

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นก้าวที่สำคัญอย่างมากต่อการเรียกร้องอิสรภาพของบริทนีย์ที่แฟนคลับทั่วโลกออกมาเคลื่อนไหวผ่าน #FreeBritney อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2552 และยังเป็นการเปิดโปงระบบอันน่าสงสัยต่อสาธารณะและสังคมอเมริกันอย่างมาก เพราะหลายคนมองว่าหากคนอย่าง 'บริทนีย์ สเปียร์ส' ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นนี้ยาวนาน 13 ปี ผู้คนอีกนับล้านที่ตกอยู่ในสถานะเดียวกับเธอล่ะ กำลังเผชิญชะตากรรมอย่างไร?

AFP - บริทนีย์ สเปียร์ส