ไม่พบผลการค้นหา
"ตามรัฐธรรมนูญ คำพิพากษา ต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐหรือประเทศนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ....(มิฉะนั้นจะ) ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ"

5 พ.ค.2563 ศาลรัฐธรรมนูญแถลงผลการวินิจฉัย กรณีร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ส.ส.พลังประชารัฐ สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.และความเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

ผลการพิจารณาสรุปว่า

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า มีข้อที่ต้องพิจารณาก่อนว่า คำว่า "เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หมายความถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นหรือไม่ 

รัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญติแห่งรัฐธรรมนูญ" และวรรคสอง บัญญัติว่า "รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุขของประชาชนโดยรวม" จากบทบัญญัติดังก่าว หมายถึง อำนาจอธิปไตยเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ลักษณะสำคัญของอำนาจอธิปไตยคือ มีความเด็ดขาดสมูบรณ์ ไม่อยู่ในอาณัติหรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอื่น ซึ่งการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี เป็นการใช้อำนาจตุลาการอันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือภายใต้อำนาจตุลาการของรัฐอื่น หลักการปกครองของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์มีหลักการสำคัญคือ หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตนโดยไม่มีการทำข้อตกลงหรือยินยอม ดังนั้น การบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ดี การตีความให้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศมีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลไทยก็ดี จึงไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว 

ตามหลักอธิปไตยของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาของศาลรัฐใดก็จะมีผลในดินแดนของรัฐนั้น ในบางกรณีรัฐใดรัฐหนึ่งอาจให้การรับรองคำพิพากษาของศาลอีกรัฐหนึ่งและอาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทำสนธิสัญญารับรองและบังคับตามคำพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทน โดยมีเขื่อนไขสำคัญตามหลักการต่างตอบแทนในสนธิสัญญาว่ารัฐภาคีต้องผูกพันที่จะเคารพและปฏิบัติตามผลของคำพิพากษาอีกรัฐภาคีหนึ่งด้วย ดังนั้น ทั้งหลักการและทางปฏิบัติของรัฐเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางตุลาการ จะได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศเพื่อยืนยันหลักความเป็นอิสระของตุลาการและความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีการกล่าวถึงคำพิพากษาจึงต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐหรือประเทศนั้นเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ 

การตรากฎหมายอาญาของแต่ละประเทศกำหนดการกระทำที่เป็นความผิด องค์ประกอบของความผิด ฐานความผิด และเงื่อนไขการลงโทษ ไว้แตกต่างกัน อีกทั้งหากตีความว่า "เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด" หมายความรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย ทำให้ไม่อาจกลั่นกรองหรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนการพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว และขัดต่อการต่างตอบแทน กล่าวคือ ศาลต่างประเทศไม่ต้องบังคับหรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลล์ เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) 

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) และความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98(10) ด้วย 

===

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อพรรคฝ่ายค้านกล่าวหาธรรมนัสในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ศาลออสเตรเลียได้มีคำพิพากษาเมื่อเดือนมีนาคม2537 ว่ามีความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติด เฮโรอีน 3.2 กิโลกรัม สั่งจำคุก 6 ปี แต่จำคุกจริง 4 ปี ก่อนถูกเนรเทศกลับประเทศไทย จากนั้นมี ส.ส.51 คนยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าธรรมนัสมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในวันนี้ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมอบหมายให้นายนภดล เทพพิทักษ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย โดยใช้เวลาอ่านเพียง 15 นาที

ท่ามกลางฝุ่นควันจากการอภิปรายครั้งนั้น สำนักข่าวบีบีซีไทยขุดคุ้ยเรื่องนี้โดยส่งผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังศาลแขวงดาวนิ่งในนครซิดนีย์ ของออสเตรเลีย เพื่อคัดลอกบันทึกของศาลและสำนวนข้อเท็จจริงทางคดีที่ตำรวจเป็นผู้จัดทำและเสนอต่อศาลประกอบการพิจารณาคดี เอกสารดังกล่าวยืนยันว่ามนัส โบพรหม (ชื่อเดิมของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) ถูกจำคุก 4 ปีก่อนให้เนรเทศจริง ความผิดฐานมีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการนำเข้าเฮโรอีนไปออสเตรเลีย โดยตามคำให้การกับตำรวจระบุว่า การค้ายามีความเกี่ยวโยงกับบุคคลที่เคยอยู่ในกองทัพไทยด้วย อย่างไรก็ตาม ร.อ. ธรรมนัส ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2562 ว่า

"ผมขอยืนยันอีกครั้งว่าผมไม่เคยให้การรับสารภาพว่าผมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีนี้ แต่ด้วยความเยาว์วัยและอ่อนประสบการณ์ของผม ประกอบกับไม่มีเงินในการต่อสู้คดี ผมจึงขอให้มีเจรจากับอัยการและศาล โดยผมไม่มีการรับสารภาพเลยว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการ ค้ายาเสพติด"

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ  กรณีธรรมนัส คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ  กรณีธรรมนัส คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ  กรณีธรรมนัส