ไม่พบผลการค้นหา
'เนติวิทย์' เผยฝ่ายความมั่นคง ยังไม่เรียกพบ หลังแฉ 4 ปี คสช. ถูกลิดรอนสิทธิ เพียงเพราะอยากเลือกตั้ง ระบุชวนผู้ร่วมงานฯ ชู 3 นิ้ว หวัง EU ร่วมกดดันรัฐบาลไทย ชี้กระแสตอบรับเกินคาด เชื่อต่างชาติเข้าใจการเมืองไทยมากขึ้น

นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล หรือ แฟรงค์ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินทางกลับถึงประเทศไทย เมื่อวานนี้ (1มิ.ย.61) อย่างปลอดภัย หลังได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวปาฐกถาในงาน Oslo Freedom Forum ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งจัดโดย มูลนิธิฮิวแมน ไรท์ส ฟาวเดชัน ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ค.ที่ผ่านมา

เขาบอกด้วยว่าสาเหตุที่ต้องยืนยันว่ากลับมาอย่างปลอดภัยแล้ว เพราะหลายคนกังวลว่า อาจถูกฝ่ายความมั่นคงคุกคาม เนื่องจาก เขากล่าวปาฐกถาในห้วข้อ "Student VS Military" หรือ "นักศึกษา ปะทะ ทหาร" ในวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีฝ่ายความมั่นคงติดต่อมาเป็นพิเศษ ยกเว้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่โทรศัพท์ หรือส่งข้อความ มาสอบถามความเคลื่อนไหวเป็นประจำทุกวัน

นายเนติวิทย์ ยอมรับว่า การตอบรับจากผู้ร่วมงานหลังจากขึ้นกล่าวปาฐกถา ซึ่งมีเวลาจำกัดเพียง 8-9 นาที ถือว่าดีเกินคาด หลายคนเข้ามาพูดคุยกับเขาเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย บางคนถึงกับร้องไห้ เมื่อรู้ว่าเขาถูกครูซักถาม-อบรมนานกว่า 5 ชั่วโมง และถูกตัดคะแนนความประพฤติ เพียงเพราะคัดค้านโรงเรียนเรื่องทรงผมนักเรียน ซึ่งหลายประเทศให้เสรีภาพเรื่องนี้ รวมทั้ง กรณีการครอบรองนาฬิกาหรู 25 เรือน ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ เรื่องนี้ก็ทำให้ต่างชาติอึ้งพอสมควร

ส่วนไฮไลท์ช่วงท้ายปาฐกถา คือ การเชิญชวนผู้ร่วมงานชู 3 นิ้ว นายเนติวิทย์ ยอมรับว่า มีเพื่อนชาวพม่าแนะนำให้เขาสร้างการจดจำในเวทีนี้ ซึ่งเขาหวังว่า สหภาพยุโรป (EU) จะร่วมกดดัน คสช. คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว ผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

นายเนติวิทย์ ถือเป็นคนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับเชิญไปร่วมงานนี้ โดยผู้ที่ได้รับเชิญก่อนหน้าเขาคือ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เมื่อปี 2558 โดย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "Freedom Under Thai Military Rule" หรือ "เสรีภาพภายใต้รัฐบาลทหารไทย" 

ปัจจุบัน นายประวิตร ลาออกมาเป็นนักข่าวอาวุโสประจำเว็บไซต์ข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ หรือข่าวสดอิงลิช ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เขาได้รับแรงกดดันจากผู้บริหารอย่างหนัก จากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช.

“Oslo Freedom Forum” เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสิทธิมนุษยชน ของบรรดาผู้นำทางความคิด นักธุรกิจชั้นนำ รวมถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบล หรือผู้นำประเทศ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2552 โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมกล่าวปาฐกถามากกว่า 330 คน สำหรับบุคคลสำคัญที่คนไทยรู้จัก ซึ่งได้รับเชิญไปร่วมปาฐกถาในงานนี้ เช่น 

ปี 2553: นายจูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วิกิลีกส์ ที่กล่าวถึงแนวโน้มการปิดกั้นสื่อออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นในชาติตะวันตก ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน

นายอันวาร์ อิบราฮิม นักการเมืองมาเลเซีย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อการต่อกรกับรัฐบาลพรรคเดียวที่กุมอำนาจมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

ปี 2555: นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาลเมียนมา กล่าวในหัวข้อเส้นทางอันแสนไกลสู่เสรีภาพ

ปี 2558: นางนูรูล อิซซาห์ อิบราฮิม นักการเมืองมาเลเซียและลูกสาวคนโตของนายอันวาร์ อิบราฮิม กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "สิ่งที่มาเลเซียต้องการมากที่สุด

ปี 2561: นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ป ผู้ถือหุ้นใหญ่ดีแทค ซึ่งกล่าวว่า "สิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเป็นซีอีโอ"


อ่านเพิ่มเติม