ไม่พบผลการค้นหา
อองซาน ซูจี ประกาศจะจัดการปัญหาความขัดแย้งในรัฐยะไข่อย่างโปร่งใสขึ้น หลังอียูเตรียมพิจารณาคว่ำบาตรการค้าเมียนมา

นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมาประกาศระหว่างการเดินทางเยือนกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น เพื่อพบปะนักลงทุนต่างๆว่า เธอพร้อมที่จะยอมรับว่า เมียนมาเผชิญความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะสถานการณ์ในรัฐยะไข่ ซึ่งเมียนมาไม่ได้กำลังปกปิดข้อเท็จจริงเหล่านี้จากประเทศพันธมิตร

เธอเข้าใจดีว่าสันติภาพ ความปรองดองความสามัคคี เสถียรภาพ นิติธรรมและสิทธิมนุษยชนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการพิจารณาลงทุนของนักลงทุนและโอกาสทางเศรษฐกิจต่างๆ

เราหวังว่าจะเปิดกว้างและโปร่งใสต่อเพื่อนของเรา หากพวกคุณมีความกังวลใดๆ กรุณาหารือเรื่องนี้อย่างเปิดเผยกับเรา"

ท่าทีดังกล่าวมีขึ้นหลังนานาชาติออกมาประณามว่านางซูจีและรัฐบาลเมียนมาไม่พยายามหยุดยั้งการปราบปรามชาวโรฮิงญา อีกทั้งยังช่วยแก้ต่างให้กับกองทัพเมียนมาอีกด้วย จนทำให้ภาพพจน์การเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของนางซูจีเริ่มเลือนหายไปในสายตาของต่างชาติ

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ซิซิลี มัลม์สตอร์ม กรรมาธิการด้านการค้าของสหภาพยุโรป กล่าวว่า ทีมค้นหาความจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญากำลังจะเดินทางไปถึงเมียนมา เพื่อประเมินว่า อียูควรยกเลิกสิทธิพิเศษในการงดเว้นภาษีสินค้าของเมียนมาหรือไม่ เพื่อตอบโต้การละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากนโยบายการค้าของอียูให้ความสำคัญกับคุณค่าที่อียูยึดถือ และนี่ไม่ใช่คำพูดข่มขู่เท่านั้น แต่อียูจำเป็นต้องลงมือทำ เมื่อเป็นการละเมิดคุณค่าดังกล่าว

ความรุนแรงในรัฐยะไข่นับตั้งแต่เดือน ส.ค. ปี 2017 ทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คนต้องลี้ภัยออกจาาพื้นที่ไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศ และเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ทีมค้นความจริงของสหประชาชาติเพิ่งออกรายงานระบุว่า นายพล 6 คน รวมถึงพลเอกอาวุโสมินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ควรถูกนำตัวขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา และก่ออาชญากรรมสงครามต่อกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในรัฐกะฉิ่นและรัฐฉาน

นางอียังฮี ผู้เขียนรายงานพิเศษของยูเอ็น ซึ่งถูกกีดกันไม่ให้เข้าเมียนมาตั้งแต่เดือนธ.ค. 2017 ระบุว่า รัฐบาลเมียนมาไม่สามารถและไม่เต็มใจจะเปิดให้มีการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีที่น่าเชื่อถือ ละเอียด อิสระและยุติธรรม เกี่ยวกับความรุนแรงในเมียนมา ดังนั้น ความล่าช้าในการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะยิ่งทำให้ยิ่งเกิดความรุนแรงมากขึ้น ยูเอ็นจึงควรยื่นเรื่องนี้ให้กับศาลอาญาระหว่างประเทศโดยทันที

ที่มา : Asian Correspondent, Reuters, The Japan Times