ไม่พบผลการค้นหา
ฝันในการกระจายความเจริญให้คนต่างจังหวัดด้วยการพัฒนาชุมทางรถไฟ กลับต้องชะงักลง เมื่อมีการแก้โครงการรถไฟทางคู่และความเร็วสูง จนแก่งคอยถูกลดความสำคัญ

การเดินทางและขนส่งโดยระบบรางในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีสายพระเนตรยาวไกล ทรงเล็งเห็นว่าการขนส่งเดินทางด้วยระบบรางจะช่วยลดเวลา อำนวยความสะดวกในการขนส่ง และกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศได้

ทางรถไฟหลวงสายแรกของประเทศไทย คือทางรถไฟสายกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ที่ตัดข้ามเทือกเขาดงพญาไฟในขณะนั้น ทำให้ตลอดเส้นทางรถไฟเกิดเมือง การค้า และอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะจุดรอยต่อสำคัญก่อนที่รถไฟจะข้ามเทือกเขา คือ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี


โมเดลเมืองรถไฟ

สถานีรถไฟหลักของแก่งคอย คือสถานีรถไฟชุมทางแก่งคอย เป็นสถานีรถไฟที่เป็นทางแยกเชื่อมต่อรถไฟสายอีสานเหนือและสายอีสานใต้ โดยสายอีสานใต้จะตัดผ่านไปยัง จ.นครราชสีมา เข้าสู่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ปลายทางอุบลราชธานี และสายอีสานเหนือจะวกออกไปยังลำนารายณ์ จ.ลพบุรี ข้ามเทือกเขาไปทางตะวันตกของนครราชสีมา เข้าขอนแก่น อุดรธานี ปลายทางหนองคาย อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่จะแยกออกไปยังทางรถไฟสายตะวันออกลงไปถึงฉะเชิงเทรา


IMG_5088.JPG

ชุมทางแก่งคอยเป็นจุดจอดและจุดผ่านเส้นทางรถไฟที่คึกคักคับคั่งมาตั้งแต่อดีต เกิดการอพยพย้ายถิ่นของพ่อค้าชาวจีนมาตั้งรกรากเป็นชุมชนใหญ่ในช่วงปีพ.ศ. 2460-2500 จากการพัฒนาแหล่งเหมืองหินปูนของบริษัทปูนซีเมนต์ไทยในเขตสระบุรี ซึ่งจำเป็นต้องใช้รถไฟขนส่งเข้ากรุงเทพมหานครที่โรงปูนบางซื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งแก่งคอยเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครกับภาคอีสาน ศึกตัดสินระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกบฏบวรเดชก็เกิดขึ้นใกล้เมืองแก่งคอยแห่งนี้ ทำให้ชุมชนแก่งคอยขยายตัวเป็นเมืองขนาดใหญ่รอบสถานีรถไฟและพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมใกล้เคียง


ขาลง: จากรางเป็นทางหลวง


IMG_5090.JPG

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แก่งคอยทวีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากเป็นเมืองอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์อันเป็นยุทธปัจจัย ทำให้เครื่องบินทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรเข้ามาทิ้งระเบิดทำลาย มีทหารญี่ปุ่นและพลเรือนไทยล้มตายจำนวนหนึ่งยังปรากฏสุสานและอนุสรณ์สถานภายในวัดแก่งคอยถึงทุกวันนี้

แต่ภายหลังการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การพัฒนาของประเทศไทยเปลี่ยนไปมุ่งเน้นการสร้างถนน ทางหลวง เพื่อเชื่อมต่อการสัญจรทางบกด้วยรถบรรทุกตามแบบสหรัฐอเมริกาที่ให้เงินสนับสนุนผ่านองค์กร USAID ทำให้การพัฒนาระบบรถไฟหยุดชะงักลง เมืองใหม่ขยายตัวออกตามแนวทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ มากกว่าจะอยู่ตามสถานีรถไฟอย่างเช่นในอดีต ทำให้เมืองแก่งคอยหดตัวลงกลายเป็นเมืองขนาดเล็ก ความเจริญย้ายเข้าไปอยู่ที่อำเภอเมืองสระบุรีจุดตัดแยกถนนมิตรภาพกับพหลโยธินแทน


จุดแข็งยังอยู่ โอกาสยังเรืองรอง

การฟื้นฟูระบบการเดินทางและขนส่งทางรางครั้งใหม่ในช่วง พ.ศ. 2556 ทำให้แก่งคอยกลับมาเป็นจุดสนใจในการพัฒนาระบบคมนาคมและการขนส่งอีกครั้ง เนื่องจากปัจจัยเดิมที่เคยทำให้แก่งคอยเติบโตยังมีอยู่ครบ โดยเฉพาะโรงงานปูนซีเมนต์และโรงงานปิโตรเคมีจากหลายบริษัท ที่สามารถขนส่งสินค้าทางรางได้โดยมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการขนส่งด้วยรถบรรทุก

โครงการปรับปรุงราง เปลี่ยนไม้หมอนเป็นคอนกรีต เทกรวดรองรางและทำระบบอาณัติสัญญาณใหม่ได้ทำให้ขบวนรถไฟสายอีสานเดินรถตรงเวลาอีกครั้ง ต่างจากในอดีต แก่งคอยสามารถเดินทางด้วยรถไฟไปกลับจากกรุงเทพมหานครโดยใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ใกล้เคียงกับรถบัสโดยสารหรือรถตู้ โดยสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งสถานีบางซื่อและหัวลำโพง ทั้งยังเป็นจุดที่ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างมวกเหล็ก น้ำตกเจ็ดสาวน้อย และฟาร์มโชคชัย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น ผาเสด็จ หินลับ สามารถเดินทางด้วยรถโดยสารท้องถิ่นหรือรถไฟสายท้องถิ่นแวะชมได้ไม่ยาก


IMG_5214.JPG

ปัจจุบันมีขบวนรถไฟโดยสารวิ่งผ่านสถานีชุมทางแก่งคอยถึงวันละ 28 ขบวน เป็นเที่ยวขึ้น 14 ขบวน และเที่ยวล่อง 14 ขบวน ตั้งแต่ขบวนรถไฟธรรมดาชานเมืองเข้ากรุงเทพ รถเร็ว รถด่วนดีเซลราง และรถด่วนพิเศษ CNR รุ่นใหม่ถึง 2 ขบวน คืออีสานมรรคา และอีสานวัตนา และมีรถขนส่งสินค้าผ่านกว่าวันละ 50 ขบวน


ฝันแห่งการกระจายความเจริญ

ชุมทางแก่งคอยจึงเป็นจุดหมายหนึ่งในการปรับปรุงพัฒนาระบบคมนาคมทางรางของไทย โดยในแผนพลิกโฉมประเทศไทย 2020 หรือโครงการ 2 ล้านล้านบาท ได้วางแนวทางให้แก่งคอยเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟแห่งใหม่แทนที่โรงซ่อมมักกะสัน และเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟทางคู่แก่งคอย-ชุมทางคลองสิบเก้า-ฉะเชิงเทรา ซึ่งสามารถส่งสินค้าและผู้โดยสารจากภาคอีสานไปกลับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกได้โดยไม่ต้องผ่านกรุงเทพมหานคร และยังเป็นทางผ่านรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ-หนองคาย-เวียงจัน-คุนหมิง ที่จะเชื่อมต่อไปถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามแผนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ฉบับใหม่ได้อีกด้วย

การพัฒนาเมืองแก่งคอยที่เป็นจุดชุมทางรถไฟเป็นเป้าหมายสำคัญต้นแบบ ที่จะนำไปพัฒนาชุมทางรถไฟอื่น เช่น ชุมทางเขาชุมทอง ชุมทางทุ่งสง ชุมทางบ้านภาชี ที่เคยคึกคัก กระจายความเจริญออกจากกรุงเทพมหานครด้วยการขนส่งที่ตรงเวลา คาดเดาได้ ปลอดภัย และราคาไม่แพง

น่าเสียดายที่ในวันนี้ แผนอนาคตของแก่งคอยยังไม่แน่นอน เนื่องจากแผนการสร้างชุมทางรถไฟทั้งทางคู่และความเร็วสูง อยู่ในขั้นปรับปรุงและแก้ไขและลดความสำคัญของแก่งคอยลงไปอย่างน่าเสียดาย


IMG_5201.JPG

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :