ไม่พบผลการค้นหา
'เอนก' เชื่อโอกาสสองพรรคใหญ่จับมือกันอาจเป็นไปได้ แม้จะริบหรี่ ชี้สองพรรคต้องสื่อสารกับมวลชนที่มีฐานเสียงอย่างชัดเจน แนะทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับการเมืองที่จะมาถึง ไม่เช่นนั้นจะทำให้การเมืองกลับไปเป็นแบบเดิมอีก ซึ่งประเทศจะไม่มีทางออก

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง แสดงความเห็นถึงกรณีความเป็นไปได้ของการจับมือกันของสองพรรคใหญ่เพื่อคัดค้านการมีนายกรัฐมนตรีคนนอกว่า มีโอกาสเป็นไปได้แต่ยาก เพราะการเมืองตามหลักแล้วเป็นศาสตร์ว่าด้วยการทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ แต่ต้องมีการสื่อสารกับฐานมวลชนทั้งสองฝ่าย ซึ่งมีฐานคะแนน ฐานเสียงชัดเจนอยู่คนละขั้ว เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับมวลชนทั้งสองพรรคว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้พูดกันได้ทั้งนั้นแต่จะทำได้จริงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เห็นว่าเริ่มมีสัญญาณความขัดแย้งที่ลดลง ทั้งนี้ยังไม่กล้าสรุปว่าลดลงไปมากแค่ไหน อย่างไรก็ตามทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับการเมืองที่จะมาถึง ไม่เช่นนั้นจะทำให้การเมืองกลับไปเป็นแบบเดิมอีกซึ่งประเทศจะไม่มีทางออก 

ส่วนที่พรรคการเมืองทั้งสองพรรคมีแนวคิดจับมือกันเพื่อต้านไม่ให้มีรัฐบาลที่มาจากทหารนั้น ในแง่ของความเป็นจริงทั้งรัฐธรรมนูญ ทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ คสช. ได้สร้างไว้ จะไม่มีทหารมาร่วมเลยก็คงยาก ต้องกลับไปคิดแบบสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รัฐบุรุษและประธานองคมนตรี ให้มากขึ้น ซึ่งเป็นยุคที่ไม่มีพรรคทหารแต่ก็สามารถบริหารประเทศและทำงานกับพรรคการเมืองต่างๆ ได้ดี มีการให้โอกาสและมีการตรวจสอบ รวมทั้งมีการใช้คนหลากหลาย ให้เหมาะสมกับความรู้ความสามารถ พร้อมชี้ว่าทหารมีส่วนดีที่เมื่อเข้ามาหลังการรัฐประหาร และไม่ได้เข้ามาเพื่ออยู่ถาวร แต่การเข้าทานั้นเป็นสิ่งที่สังคมนั้นเรียกร้องให้มาช่วยลดความขัดแย้ง

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นข้อเสนอจากฝ่ายที่มีแนวคิดทางด้านประชาธิปไตยที่อยากจะรักษาระบบไว้ ซึ่งหลังเลือกตั้งหากจะทำงานร่วมกันในฐานะที่เป็นฝ่ายรัฐบาลร่วมหรือฝ่ายค้านร่วมก็เป็นเรื่องของอนาคต แต่มุมมองส่วนตัวอยากเพิ่มเติมว่า ความเป็นพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวม อย่างไรก็ตามก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมืองควรจะมีโอกาสที่จะคิดหาแนวทางร่วมเพื่อทำให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงประชาธิปไตยที่มีแต่เปลือกหรือแต่ชื่อ เพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบที่คิดว่าดีที่สุด ดังนั้นในการที่จะเดินหน้าคืนสู่ประชาธิปไตย ก็ควรให้ประชาชน มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น และมีโอกาสได้เสนอสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเอง

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวในงานเสวนา "ปรองดองแบบ คสช. เมื่อไรจะเจออุโมงค์” เมื่อวันที่ 16 พ.ย. ถึงกรณีเดียวกันว่า แม้ว่าในขณะนี้จะดูริบหรี่แต่การเมืองยังเป็นเรื่องของหวัง แม้ว่าโอกาสจะน้อย ที่จะเซ็ตซีโร่ระบบคสช.หรือระบบทหารออกจากประชาธิปไตย เมื่อถึงเวลานั้นหากไม่มีทางออกทุกอย่างก็เกิดขึ้นได้ แต่มีเงื่อนไขว่าความคิดสุดขั้วของแต่ละฝ่ายต้องออกไปก่อน

"มันไม่มีอะไรที่ยากเกินไปหากทั้งทุกฝ่ายลดทิฐิเพราะมองไปซ้าย ขาว ข้างหน้า ก็คือคนไทย เราจะสู้กันให้ตายไปข้างหนึ่ง ซึ่งหากใครพูดแบบนั้นก็ควรจะออกจากการเมืองด้วยเช่นกัน" นายนิพิฏฐ์ กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า ความขัดแย้งจะจบหรือไม่ขึ้นอยู่กับ ส.ว.250 คน จะคำนึงถึงเสียงของประชาชนที่จัดตั้งขึ้นหรือไม่ หรือจะไปสนับสนุนคนที่ประชาชนไม่ได้เลือกมา หากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นชนวนความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีก