ไม่พบผลการค้นหา
ไอซ์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายให้ผู้ชายและผู้หญิงมีรายได้เท่าเทียมกัน โดยนายจ้างที่ฝ่าฝืนจะต้องถูกปรับ

ไอซ์แลนด์ออกกฎหมายรายได้เท่าเทียมระหว่างเพศ ทำให้ไอซ์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ห้ามนายจ้างให้ค่าแรงผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยกฎหมายนี้จะบังคับใช้กับบริษัทและหน่วยงานรัฐที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป หากองค์กรไหนฝ่าฝืนก็จะถูกปรับ

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมกันโหวตผ่านร่างกฎหมายนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนขจัดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงภายในปี 2020 สมาคมสิทธิสตรีไอซ์แลนด์กล่าวว่า หลายสิบปีที่ผ่านมา มีการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมด้านรายได้ของผู้ชายและผู้หญิง แต่ก็ยังคงมีช่องว่างระหว่างกันอยู่ กฎหมายนี้เป็นกลไกพื้นฐานที่บริษัทและองค์กรจะใช้ประเมินตนเอง และเมื่อยืนยันว่า กระบวนการทำงานและจ่ายค่าแรงเป็นไปอย่างเท่าเทียมระหว่างผู้ชายและผู้หญิง องค์กรนั้นๆก็จะได้รับใบรับรองจากหน่วยงานรัฐ

รายงานช่องว่างทางรายได้ของผู้ชายและผู้หญิงทั่วโลกของ World Economic Forum ได้ประเมินความเท่าเทียมทางเพศของแต่ละประเทศ ทั้งในด้านโอกาสทางเศรษฐกิจ พลังทางการเมือง สุขภาพ และอัตราการรอดชีวิต โดย ปี 2006 คะแนนความเหลื่อมล้ำทางเพศของไอซ์แลนด์ยังอยู่ที่ร้อยละ 10 แต่ไอซ์แลนด์ก็แก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังจนเป็นประเทศที่มีการปรับปรุงด้านความเท่าเทียมทางเพศได้รวดเร็วที่สุด

9 ปีที่ผ่านมา ไอซ์แลนด์ถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศมากที่สุดในโลก ในรายงานของ WEF จัดอันดับให้ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ รวันดา และสวีเดนเป็น 5 ประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศสูงที่สุดในโลก ในขณะที่เยเมนอยู่อันดับรั้งท้ายที่ 144 เนื่องจากมีผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมด้านเศรษฐกิจน้อยมาก และยังขาดโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมาก