ไม่พบผลการค้นหา
ความคืบหน้าการค้นหาทีมฟุตบอลหมูป่า ต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 หลายหน่วยงานสนธิกำลังเดินทางหาทางเข้าถ้ำด้านอื่น คู่ขนานกับการทำงานของหน่วยซีล ที่ค้นหาภายในทำ ขณะที่โค๊ชทีมหมูป่าเผยที่มาของทีมนักเตะ ส่วนผู้ปกครองมีความหวังขอให้รอดชีวิต

ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการค้นหาจากหลายหน่วยงาน อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ทหาร ทีมกู้ภัย จัดทีมเดินเท้าเข้าพื้นที่ เพื่อหาช่องทางอื่นเข้าถ้ำหลวง ควบคู่กับการค้นหาภายในถ้ำของหน่วยซีล ในการเร่งค้นหานักฟุตบอลทีมทอล์ค (หมูป่า) อะคาเดมี แม่สาย จังหวัดเชียงราย และโค้ช รวม 13 คน ที่หายไปตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. โดยกลุ่มผู้ปกครองยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด และมีความหวังว่าทุกคนจะกลับออกมาอย่างปลอดภัย ท่ามกลางฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องทั้งนี้ หน่วยซีลวางแผนการค้นหาให้ถึงบริเวณที่เรียกว่า พัทยาบีช ห่างจากสามแยก จุดวานนี้ (25 มิ.ย.) ประมาณ 2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นที่ที่คาดว่าเด็กจะหนีน้ำมาปักหลักรอการช่วยเหลือ

ขณะที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สั่งการเร่งด่วนให้เดินสายไฟเข้าไปในถ้าเพื่อใช้สูบน้ำออก และใช้เครื่องสูบน้ำระยะไกล ซึ่งสูบได้นาทีละ5,000 ลิตร ทำการสูบน้ำในอ่างเก็บน้ำที่อยู่ด้านล่างถ้ำ เพื่อช่วยให้ระดับน้ำในถ้ำลดลงอีกทางหนึ่ง โดยทำตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา

"ตอนนี้เราไม่ได้ทำงานแข่งกับใคร แต่สิ่งที่เราแข่ง คือแข่งกับเวลา เพราะเวลาทุกนาทีมีค่ากับชีวิตน้องๆ ผมจะทำทุกทางพาน้องๆ กลับออกมาให้ได้" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ด้านนายนพรัตน์ กันทะวงค์ หรือโค๊ชนก โค๊ชทีมฟุตบอล เปิดเผยถึงที่มาของทีมฟุตบอลระหว่างเดินทางมาร่วมติดตามสถานการณ์ว่า ได้รวมตัวกันมาประมาณ 3 ปีแล้ว แต่มาใช้ชื่อทีมหมูป่าได้ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยตั้งชื่อตามสปอนเซอร์ที่ให้การสนับสนุน ซึ่งทีมหมูป่าเริ่มจากลูกหลานรวมตัวกันฝึกซ้อมฟุตบอลและได้ชวนเพื่อนมาเล่นด้วย จนมีสมาชิกเยอะขึ้น ซึ่งตนเป็นคนที่ชื่อชอบในกีฬาฟุตบอลอยู่แล้ว มีอายุมากแล้วร่างกายไม่สามารถเล่นฟุตบอลได้จึงอยากทำในสิ่งที่รัก อยากให้โอกาสเด็กๆ ในพื้นที่ที่ขาดโอกาส เด็กส่วนมากจะเป็นเด็กชาติพันธุ์ เด็กบัตรหัวศูนย์และเด็กขาดโอกาส ให้ได้เรียนรู้ทักษะฟุตบอลที่ถูกต้องตามที่ตนได้ไปอบรมมา ตามหลักสูตรที่เขาจัดไว้ โดยสอนให้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย โดยมีสมาชิกในทีมประมาณ 4 รุ่น คือรุ่น 11-13 ปี รุ่นไม่เกิน 15 ปี รุ่น 17 ปี และรุ่น 19 ปี ประมาณ 70 คน

นายนพรัตน์ กล่าวด้วยว่า ผลงานล่าสุดถือว่าเด็กในทีมประสบความสำเร็จอย่างมาก แม้จะเป็นทีใมเล็กๆ แต่ก็คว้าชัยทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด ล่าสุดปีนี้ได้รองแชมป์ภาคเหนือในรายการคาเนซ่าคับ ทำให้ความผูกพันธุ์ระหว่างตนกับเด็กที่ติดอยู่ในถ้ำมีความแน่นแฟ้น เพราะบางคนเริ่มมาอยู่ด้วยกันอายุเพียง 8-9 ขวบ โดยรุ่นที่ติดในถ้ำนี้ถือว่าสนิทสนมเยอะที่สุด แต่วันเกิดเหตุไม่ได้มาควบคุมการฝึกซ้อมด้วยตนเอง เนื่องจากตนต้องออกสำรวจข้อมูลให้กับหมู่บ้าน เพราะเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด้วย จึงให้ผู้ช่วยโค๊ชชื่อเอก (เอกพล กันทะวงค์ หนึ่งในกลุ่มที่สูญหาย) ไปทำการฝึกซ้อมแทน ซึ่งซ้อมเสร็จเวลาประมาณเที่ยงวันทางผู้ช่วยโค๊ชก็ส่งคลิปการฝึกซ้อมมาให้เพื่อประเมินผลการซ้อมรอบ 3 เดือนก่อนที่จะมีการแข่งขันเดือนหน้านี้

นายนพรัตน์ กล่าวอีกว่า คาดว่าหลังจากซ้อมเสร็จอากาศคงจะร้อน เด็กจะต้องผ่านทางเส้นทางจึงอยากแวะเข้าเที่ยวถ้ำ น่าจะเดินเพลินจึงทำให้เข้าไปลึกมากจนถูกน้ำป่าไหลบ่าเข้าภายในถ้ำทำให้ปิดทางเข้าออก ฝนที่ตกหนักทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นด้วยสันชาติการเอาตัวรอดทำให้เด็กหนีออกไปเรื่อยๆ ทำให้ทีมค้นหาไม่เจอ โดยเชื่อว่าเด็กจะยังอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการเอาชีวิตรอด