ไม่พบผลการค้นหา
คณะอนุกรรมการด้านการป้องกันควบคุมโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส เห็นชอบให้ขยายผลการดำเนินงานไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ใน 12 จังหวัด นำร่องให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการป้องกันควบคุมโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ครั้งที่1/2561 เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ณ กรมควบคุมโรค โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบใน 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 

1.ให้มีการขยายผลการดำเนินงานไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ใน 12 จังหวัดนำร่องให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ผ่านกลไก MCH board (Maternal Child Health Board) 

2.ให้หารือผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมควบคุมโรค ดำเนินการพื้นที่นำร่องทั้งการดำเนินงานที่เข้าถึง คัดกรอง และรักษาในกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบีและซี 

โดยที่ผ่านมาโรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ขอความร่วมมือให้ทุกประเทศร่วมกันกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบี โดยมีเป้าหมายให้ความชุกของการป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบบี ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ต่ำกว่าร้อยละ 0.1 ภายในปี 2573 ซึ่งประเทศไทยคาดว่าจะเป็นผู้นำด้านการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ตั้งเป้าหมายในการกำจัดการถ่ายทอดโรคไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ภายในปี 2568

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการกำจัดการถ่ายทอดโรคไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก ดำเนินการในพื้นที่ 12 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่, พิษณุโลก, นครสวรรค์, นนทบุรี, ราชบุรี, ฉะเชิงเทรา, ขอนแก่น, อุดรธานี, สุรินทร์, อุบลราชธานีล นครศรีธรรมราช, และสงขลา ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 ที่ผ่านมา เพื่อนำร่องระบบการดำเนินงานและมาตรการที่สำคัญต่างๆ และเตรียมวางแผนงานเพื่อขยายผลการดำเนินงานดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตามมติที่ประชุม ต่อไป

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นคือที่ประชุมให้ร่วมหารือผู้เชี่ยวชาญ สปสช. และกรมควบคุมโรค ดำเนินการพื้นที่นำร่อง ทั้งการดำเนินงานที่เข้าถึง คัดกรอง และรักษาในกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งทาง สปสช. จะได้พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินในการตรวจคัดกรอง การยืนยันในชุดสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมประชาชนที่มีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีทุกราย รวมถึงพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การรักษาผู้ป่วยโรคตับอักเสบซีเรื้อรัง โดยไม่เลือกปฏิบัติ สนับสนุนการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีทุกสายพันธุ์ 

โดยเสนอให้บรรจุอยู่ในบัญชียาหลัก และสนับสนุนให้แพทย์ทั่วไปสามารถรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีได้ สำหรับการติดตามการดำเนินงาน กรมควบคุมโรค ร่วมกับ สปสช. แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบการเก็บรวบรวมข้อมูล การตรวจรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ให้มีพัฒนาการจัดการระบบข้อมูลที่ดี เพื่อเก็บข้อมูลประชากรกลุ่มเสี่ยง และช่วยในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ 

โดยมีแผนการกำจัดโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ภายใต้แผนปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ.2562-2564 ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไวรัสตับอักเสบบีและซีอย่างเป็นรูปธรรม มีเป้าหมายเพื่อลดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี ในประชาชนกลุ่มเสี่ยงภายในปี 2564 และได้กำหนดเป้าหมาย ดังนี้ 1) ลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี น้อยกว่าร้อยละ 0.1 2) ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับที่เกี่ยวข้องกับไวรัสตับอักเสบบี ร้อยละ 15 3) ลดอุบัติการณ์ของประชาชนที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ร้อยละ 30 และ 4) ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับที่เกี่ยวข้องกับไวรัสตับอักเสบซี ร้อยละ 15