ไม่พบผลการค้นหา
กรมการขนส่งทางบกเปิดตัวแอปพลิเคชัน Taxi OK เพิ่มทางเลือกผู้ใช้บริการ รมว.คมนาคมตั้งเป้าภายใน 5 ปี แท็กซี่ทั้งระบบเป็น Taxi OK ส่วนปีนี้คาดมีรถร่วมโครงการกว่า 4.6 หมื่นคัน ฟากคนขับแท็กซี่ โอเค ชี้ปลอดภัยทั้งผู้โดยสารทั้งคนขับ ยอมรับช่วงแรกลูกค้าไม่กล้าใช้บริการ เพราะงงไฟสถานะว่าง 'สีเขียว'

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการ Taxi OK หวังยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับการใช้บริการรถแท็กซี่ พร้อมกับเพิ่มทางเลือกเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน Taxi OK ซึ่งแอปฯ ดังกล่าวเปิดให้บริการครั้งแรกในวันนี้ (26 มกราคม) 

พร้อมกันนี้ได้รับรายงานข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า ตั้งแต่เปิดตัวโครงการและกำหนดให้รถแท็กซี่อายุใช้งานครบ 9 ปี รวมกับที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมา ต้องติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยนั้น ส่งผลให้มีแท็กซี่เดิมสมัครใจเข้าร่วมโครงการแล้ว 30,000 คัน บวกกับแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ 9 พฤศจิกายน 2560 อีก 6,000 คัน และปีนี้จะมีรถแท็กซี่ที่ทะเบียนหมดอายุและต้องต่อทะเบียนอีก 10,000 คัน จะเข้าสู่โครงการ Taxi OK ซึ่งคาดว่า เมื่อถึงสิ้นปีจะมีแท็กซี่ โอเค ให้บริการประมาณ 46,000 คัน และภายใน 5 ปี จะเป็นแท็กซี่ โอเคทั้งระบบ 

สำหรับ Taxi OK มีความแตกต่างจาก Taxi Meter ในปัจจุบัน เช่น ใช้เทคโนโลยีจีพีเอส แทร็กกิ้งค์ และอุปกรณ์บันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ, มีระบบยืนยันตัวตนของผู้ขับ, มีกล้องบันทึกภาพในรถแบบสแนป ช็อต, มีปุ่มฉุกเฉิน (SOS) อย่างน้อย 1 จุด เชื่อมข้อมูลแบบเรียลไทม์กับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์แท็กซี่ที่มีทั้งสิ้น 14 ศูนย์ทั่วประเทศ, กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกับมีแอปพลิเคชัน Taxi OK ซึ่งสามารถดาวน์โหลดผ่านทั้งระบบไอโอเอส, แอนดรอยต์ และวินโดว์ โฟน โดยมีค่าบริการเรียกผ่านแอปฯ ครั้งละ 20 บาท ส่วนค่าโดยสารเริ่มที่ 35 บาทเช่นแท็กซี่ทั่วไป 

ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการสามารถเลือกศูนย์บริการสื่อสารรถแท็กซี่ที่ต้องการในระบบได้จำนวน 14 ศูนย์ทั่วประเทศ มีรถแท็กซี่ให้บริการกว่า 5,610 คัน และขณะอยู่บนรถแท็กซี่ผู้โดยสารสามารถแจ้งผู้อื่นให้รับทราบตำแหน่งพิกัดได้ตลอดการเดินทาง กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้โดยสารสามารถกดปุ่มฉุกเฉินภายในรถแท็กซี่ หรือกดขอความช่วยเหลือผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วย 

นอกจากนี้ ยังมีจุดจอดรถแท็กซี่ในแหล่งชุมชนที่ประชาชนนิยมใช้บริการรถแท็กซี่เป็นจำนวนมาก อาทิ จุดจอดกรมการขนส่งทางบก จุดจอดหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น  

ค่าติดตั้งอุปกรณ์ประมาณ 2-4 หมื่นบาท

ด้านนายสนิทใจ แย้มใส คนขับแท็กซี่ Taxi OK วัย 63 ปี เปิดเผยว่า เข้าร่วมโครงการนี้เพราะรถแท็กซี่ที่ขับมาก่อนหน้านี้หมดอายุการใช้งาน จึงต้องซื้อใหม่และจดทะเบียนใหม่หลัง 9 พฤศจิกายนปีที่ผ่านมา โดยรถคันนี้เป็นรถเขียว-เหลือง เป็นรถตัวเอง พอเข้าโครงการทางกรมการขนส่งทางบกก็เรียกมาอบรมและแนะนำวิธีการใช้งานแอปพลิเคชัน ส่วนการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติมนั้น เนื่องจากซื้อรถแท็กซี่จากบริษัท เค.พี.เอ็น. มอเตอร์คาร์ จำกัด บริษัทติดตั้งแต่อุปกรณ์กล้องหน้ากล้องหลัง อุปกรณ์การบันทึกการเดิมทาง ปุ่มฉุกเฉินทั้งของผู้โดยสารและคนขับ และการเชื่อมต่อระบบข้อมูลมาให้พร้อม โดยค่าอุปกรณ์เหล่านี้ ประมาณ 35,000 บาท และบริษัทจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง เจ้าของรถจ่ายเพิ่มอีก 15,000 บาท

แท็กซี่ โอเค

"ผมชอบแบบนี้นะ เพราะปลอดภัยทั้งผู้โดยสารและคนขับแท็กซี่ มีระบบคนขับต้องแสดงบัตรใบอนุญาตขับรถโดยสาร พอขึ้นรถ สตาร์ทเครื่อง ก็ต้องรูดบัตรกับการ์ดรีเดอร์ในรถ แล้วข้อมูลต่างๆ ก็จะเชื่อมกับกรมการขนส่งฯ ศูนย์แท็กซี่ และสถานีตำรวจ เพื่อแสดงตัวตนคนขับ พอผู้โดยสารขึ้นมา เมื่อกดมิเตอร์ กล้องในรถก็จะบันทึกภาพห้องโดยสารและคนขับไว้ พร้อมกับมีจีพีเอสติดตาม หากมีอะไรฉุกเฉินก็กดปุ่ม" นายสนิทใจ กล่าว

ส่วนไฟเขียวแสดงสัญลักษณ์ว่ารถคันนี้ว่าง แทนไฟแดงแบบเดิม นายสนิทใจ ยอมรับว่า ช่วงเดือนแรกๆ ที่ออกมา ผู้โดยสารยังงงๆ ไม่แน่ใจว่า รถคันนี้จะรับเขามั้ย จนต้องจอดถามว่า ต้องการใช้บริการมั้ย แต่คาดว่า หลังจากนี้เมื่อกรมการขนส่งทางบกมีการประชาสัมพันธ์มากขึ้น มีรถออกมาวิ่งมากขึ้น สักพักปัญหานี้จะหมดไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวันนี้ (26 มกราคม) เป็นวันแรกที่เปิดให้เรียกใช้บริการรถแท็กซี่ โอเค ผ่านแอปฯ Taxi OK จึงอาจยังติดขัดรถแท็กซี่บางครั้งรับงานผ่านแอปฯ ยังไม่ได้ เรื่องนี้ คาดว่าจะได้รับแก้ปัญหาต่อไป

ทั้งนี้ ค่าอุปกรณ์ต่อพ่วงสำหรับแท็กซี่โอเค ปัจจุบันมีราคาตั้งแต่ 20,000 -40,000 บาทต่อคัน

ขนส่งฯ ยันแท็กซี่เก่าไม่ต้องรีบเปลี่ยน จนกว่ารถจะหมดอายุใช้งาน

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า การมีแอปฯ Taxi OK สำหรับเรียกใช้บริการแท็กซี่จะสร้างความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้ใช้บริการ และจะเข้ามาแก้ปัญหาความไม่สะดวกสบายต่างๆ เช่น คนขับเลือกรับผู้โดยสาร ปฏิเสธให้บริการทั้งที่เปิดไฟสถานะว่าง คิดค่าโดยสารตามมิเตอร์เพราะมีความเที่ยงตรงของมาตรค่าโดยสาร 

"สำหรับแท็กซี่ปัจจุบันที่ยังไม่พร้อมเข้าร่วมโครงการ Taxi OK ยังสามารถให้บริการสาธารณะตามกฎหมายได้ จนกว่าจะหมดอายุใช้งานรถ ภายใต้มาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีมาตรการเข้มงวดกวดขันและลงโทษสูงสุดเด็ดขาดทุกกรณีความผิด มาตรฐานเดียวกันกับแท็กซี่มิเตอร์และแท็กซี่ โอเค"นายสนิทกล่าว

แท็กซี่ โอเค

นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ป้ายแท็กซี่โอเคเมื่อว่างจะมีสีเขียวแสดงขึ้นมา ซึ่งเป็นการใช้สีตามมาตรฐานสีเขียว ซึ่งหมายถึงผ่านตลอดและปลอดภัยเหมือนต่างประเทศ แตกต่างจากแท็กซี่ทั่วไปที่แสดงสถานะว่างเป็นสีแดง อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าแท็กซี่โอเคจะไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร เพราะมีระบบตรวจสอบพฤติกรรมผู้ขับขี่และเปิดให้ประชาชนร้องเรียนพฤติกรรมและจัดการปัญหาในช่องทางที่รวดเร็วขึ้น

อ่านเพิ่มเติม :

ขนส่งฯ เปิดตัว TAXI OK เรียกได้ผ่านแอปฯ