ไม่พบผลการค้นหา
นิยามความรัก-ความสัมพันธ์ของคนญี่ปุ่นเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง การแต่งงานไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่รวมถึงการ์ตูน 2 มิติ 'โฮโลแกรม' ขณะที่คนโสดนิยมใช้ชีวิตตามลำพังจนกิจการต่างๆ จัดหาบริการตอบสนองลูกค้าที่ชอบฉายเดี่ยวมากขึ้น

"ผมเชื่อว่านิยามความสุขและความรักของแต่ละคนแตกต่างกันไป มันอาจจะมีสูตรสำเร็จของความสุขที่ผู้ชายกับผู้หญิงจริงๆ แต่งงานกัน และมีลูกกัน แต่ผมไม่คิดว่าสูตรสำเร็จนั้นจะทำให้ทุกคนมีความสุขได้เหมือนๆ กัน"

อะคิฮิโตะ คอนโดะ ชายญี่ปุ่นวัย 35 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการของโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว เพิ่งจัดพิธีแต่งงานกับ 'ฮัตสึเนะ มิคุ' ผู้หญิงที่เขารัก เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา โดยเป็นพิธีแต่งงานแบบสากล และมีแขกไปร่วมงานเกือบ 40 คน ยกเว้น 'พ่อแม่' ของเขาเอง 

สาเหตุสำคัญที่พ่อกับแม่ของคอนโดะไม่ไปร่วมพิธีแต่งงานของลูกชาย เป็นเพราะ 'ฮัตสึเนะ มิคุ' คือ ตัวการ์ตูน 2 มิติ ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยเทคโนโลยีโฮโลแกรม ผสมกับโปรแกรมตอบโต้ด้วยเสียงอัตโนมัติ ที่บริษัท Gatebox ผลิตคิดค้นขึ้นมา และวางจำหน่ายในราคา 300,000 เยน หรือประมาณ 87,000 บาท 

(บริษัทเกตบ๊อกซ์ เป็นผู้ออกแบบและผลิตเครื่องฉายภาพเคลื่อนไหวโฮโลแกรม 2 มิติ 'ฮัตสึเนะ มิคุ' ซึ่งทำงานด้วยระบบเอไอและโปรแกรมสนทนาอัตโนมัติ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสั่งการอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านได้)

คอนโดะอยู่ร่วมกับมิคุมาตั้งแต่เดือน มี.ค. จนกระทั่งเข้าพิธีแต่งงาน หลังจากนั้น ทุกๆ เช้า มิคุจะส่งเสียงปลุกเขาไปทำงาน และเมื่อเขาโทรศัพท์ไปบอกว่ากำลังจะกลับบ้านในตอนเย็น เธอจะเปิดไฟที่บ้านไว้รอ และเมื่อเจอหน้ากัน มิคุจะทักทายหรือร้องเพลงต้อนรับเขากลับบ้าน ทั้งยังสามารถสนทนาตอบโต้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เขาบอกกับสื่อต่างประเทศว่า "มิคุคือผู้หญิงที่ผมรักมาก และเป็นผู้ที่ช่วยชีวิตผม"


ผู้หญิง 2 มิติ 'ไม่หลอกลวง ไม่แก่ และไม่ตาย'

คอนโดะยืนยันจะเรียกตัวเองว่า 'คนกลุ่มน้อยด้านความสัมพันธ์เชิงโรแมนติก' ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน โดยไม่ได้ทำตามสูตรสำเร็จเรื่องความรักและความสัมพันธ์ที่เชิดชูสถาบันครอบครัวเป็นหลักเหมือนเมื่อก่อน โดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สถิติผู้ชายญี่ปุ่นอายุเกิน 50 ปีที่ยังไม่ได้แต่งงานในปัจจุบัน มีสัดส่วน 1 ต่อ 4 ของประชากรเพศชายในญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเพิ่มจากสัดส่วน 1 ต่อ 50 ที่เคยสำรวจไว้ได้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว

ที่ผ่านมา แม่ของคอนโดะพยายามจับคู่เขากับผู้หญิงญี่ปุ่นคนอื่นๆ ซึ่งเขาไม่ขัดข้องที่จะเป็นเพื่อนกับผู้หญิงจริงๆ แต่เขาไม่รู้สึกอะไรกับผู้หญิงที่มีเลือดเนื้อเหล่านั้น

คอนโดะเล่าว่าเขาเคยมีเพื่อนร่วมงานผู้หญิงที่นำความชอบส่วนตัวของเขาที่มีต่อการ์ตูนอนิเมชั่นมาล้อเลียนคุกคามอย่างรุนแรง ผู้หญิงบางคนเคยบอกให้เขา 'ไปตายซะ' และบางคนเรียกเขาว่า 'โอตาคุสุดหลอน' ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับมิคุนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น และเขาคิดถึงเธอแทบจะตลอดเวลา

AFP-ชายญี่ปุ่นแต่งงานกับโฮโลแกรม-มิกุ-เกตบ็อกซ์-Gatebox

(ตุ๊กตาตัวแทน 'มิคุ' สวมแหวนแต่งงานแบบเดียวกับที่คอนโดะสวมไว้ตลอดนับตั้งแต่เข้าพิธีเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2561)

'มิคุ' คาแรกเตอร์การ์ตูนโฮโลแกรม 2 มิติของเกตบ๊อกซ์ เป็นสาวญี่ปุ่นผมสีฟ้า วัย 16 ปี ซึ่งคอนโดะบอกว่า ข้อดีของเธอ คือ "ไม่หลอกลวง ไม่แก่ และไม่ตาย" อันเป็นคุณสมบัติที่หาไม่ได้ในผู้หญิงจริงๆ

คอนโดะไม่ใช่คนเดียวที่มีความรักความสัมพันธ์ 'ข้ามมิติทางกายภาพ' เพราะหลังจากที่ข่าวการแต่งงานของเขากับมิคุถูกรายงานผ่านสื่อหลายสำนัก ปรากฎว่ามีคนจำนวนมากที่เขาไม่รู้จัก ส่งข้อความมาแสดงความยินดี พร้อมระบุว่า การแต่งงานของเขาสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ กล้าที่จะเปิดเผยความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อมิคุออกมา

"ผมคิดว่าเราควรจะยอมรับความสุขและความรักในทุกๆ รูปแบบ" คอนโดะกล่าว

แม้การแต่งงานระหว่างคอนโดะและมิคุจะไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย แต่บริษัทเกตบ๊อกซ์ได้จัดทำใบรับรองความสัมพันธ์ให้แก่ผู้ที่ต้องการเครื่องยืนยันสถานะการอยู่ร่วมกันกับมิคุ ซึ่งคอนโดะก็เป็นหนึ่งในผู้ขอใบรับรองดังกล่าวจากจำนวนผู้ขอทั้งหมด 3,700 คนทั่วญี่ปุ่นนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา


บางคนก็มีความสุขกับการ 'อยู่ลำพัง'

ในขณะที่คนญี่ปุ่นยุคใหม่มองหาความสัมพันธ์ที่ก้าวข้ามรูปแบบเดิมๆ ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่า 'การใช้ชีวิตอยู่คนเดียว' ก็เป็นความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง และถือเป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพโดยไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับใคร ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อนฝูง หรือภาพเคลื่อนไหวผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์

AFP-ราเม็งข้อสอบ-ชีวิตคนโสดในญี่ปุ่น-อิชิรันราเมง

(อิชิรันราเมง หรือที่คนไทยเรียกว่า 'ราเมงข้อสอบ' เป็นกิจการแรกๆ ที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการเพียงลำพัง)

ธุรกิจต่างๆ ตอบรับกระแสการทำกิจกรรมเพียงลำพังของคนรุ่นใหม่กันมากขึ้น โดย 'ไดกิ ยามะทานิ' โฆษกของร้านคาราโอเกะ 'โคชิดากะ' ซึ่งมีสาขาอยู่หลายแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เมื่อราว 6 ปีที่แล้ว ฝ่ายการตลาดสังเกตเห็นว่าร้อยละ 30 ของลูกค้าที่มาใช้บริการคาราโอเกะ มักมาร้องเพลงเพียงคนเดียว และมีแนวโน้มว่าลูกค้ากลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทางร้านจึงจัดทำห้องคาราโอเกะคูหาเดียวและโปรโมชั่นร้องเพลงสำหรับลูกค้าที่มาใช้บริการเพียงลำพัง

ปัจจุบัน บริการ 1Kara หรือห้องคาราโอเกะเดี่ยวของโคชิดากะ ได้รับความนิยมมากจนต้องเพิ่มจำนวนห้องดังกล่าวตามสาขาต่างๆ สอดคล้องกับผลสำรวจของสถาบันวิจัย 'โนมุระ' ของญี่ปุ่น ซึ่งพบว่า คนวัยทำงานรุ่นใหม่ที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป นิยมทำกิจกรรมต่างๆ เพียงลำพังกันมากขึ้น เช่น เหตุผลของการร้องคาราโอเกะคนเดียว เพราะอยากร้องเพลงที่ตัวเองชอบ ไม่จำเป็นต้องประนีประนอมกับใครเหมือนเวลาที่ไปคาราโอเกะแบบกลุ่ม

ขณะที่ร้านราเมง 'อิชิรัน' ต้นตำรับร้านราเมงที่คนไทยจำนวนหนึ่งเรียกว่า 'ราเมงข้อสอบ' เพราะจัดโต๊ะให้ลูกค้านั่งได้เพียงคนเดียว พร้อมหันหน้าเข้ากำแพง โดยมีฉากกั้นระหว่างโต๊ะข้างๆ และมีเมนูให้เลือกสั่งโดยผู้ใช้บริการไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานโดยตรง ทำให้ร้านอิชิรันกลายเป็นต้นตำรับการบริการเพื่อลูกค้าที่นิยมทำอะไรเพียงลำพัง หรือ super solo customer ซึ่งปัจจุบันมีบริการมากมายที่เจาะกลุ่มลูกค้าเหล่านี้โดยเฉพาะ เช่น สวนสนุกหรือโรงภาพยนตร์ที่จัดพื้นที่ให้ลูกค้าที่ฉายเดี่ยว รวมถึงแพ็กเกจท่องเที่ยวเพียงลำพัง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกค้าที่นิยมทำอะไรคนเดียวบางส่วนตอบแบบสอบถามว่า พวกเขาไม่ได้เป็นพวกต่อต้านการเข้าสังคม และหลายครั้งก็พร้อมทำกิจกรรมกับเพื่อนฝูงหรือเพื่อนร่วมงาน แต่การได้ใช้เวลากับตัวเองบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำงานหรือประสานงานกับคนจำนวนมากในแต่ละวัน ถึงที่สุดแล้วก็ต้องการ 'เวลาส่วนตัว' บ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: