ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่าย กป.อพช ออกแถลงการณ์ค้านแนวคิด 'รองนายกรัฐมนตรี' ย้ำการเผาป่าไม่ได้มาจากวิถีชีวิตประชาชน หยุดสร้างมายาคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ ปิดป่าไม่ได้แก้ปัญหาไฟป่า ตราบใดที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วม จากกรณีที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พร้อมคณะ ได้เดินทางไป จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามรับทราบความคืบหน้าการแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ณ ศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก และมีการเผยแพร่ผลการหารือทางสื่อมวลชนโดยระบุว่า ได้มีการรายงานถึงสาเหตุของไฟป่า ว่ายังมีการเผาพืชไร่และการเผาป่าจากการเข้าไปหาของป่า

โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กล่าวเน้นย้ำกับข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า หากคุมไม่ได้ เกิดปัญหาซ้ำซาก สร้างความเดือดร้อนเสียหายเป็นวงกว้างเช่นทุกปี “อาจจำเป็นต้องปิดป่าฤดูร้อนก็ต้องทำ”

จากเหตุการณ์ดังกล่าว องค์กรท้ายแถลงการณ์นี้ ขอชี้แจงต่อ พล.อ.ประวิตร ผ่านสื่อมวลชนดังนี้

1.สาเหตุหลักของการเผาป่าไม่ได้มาจากวิถีชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการทำกินหรือการทำเกษตรเพื่อยังชีพ ข้อมูลจากจุดความร้อน (hot spot) และพื้นที่เผาไหม้ (burn scar) ชี้ชัดว่า ไฟป่าส่วนใหญ่เกิดในเขตป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แม้ว่ามีประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีที่ดินทำกินทับซ้อนกับเขตป่าอนุรักษ์ แต่ชุมชนชาติพันธุ์เหล่านี้ต่างก็มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ป่าและวิธีการจัดการไฟป่าตามภูมิปัญญาท้องถิ่น อีกด้านหนึ่งไฟป่าที่เกิดขึ้นก็เกิดจากสาเหตุหลายประการที่มีความซับซ้อน

แนวทางการจัดการไฟที่เหมาะสมตามธรรมชาติของป่าผลัดใบ เช่น ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง เป็นต้น ต้องมีการแก้ไขปัญหาการสะสมของเชื้อเพลิง เพื่อไม่ให้เกิดไฟจากเชื้อเพลิงที่สะสมจนกระทั่งทำลายผืนป่าอย่างหนักหน่วง นอกจากนั้น การเผาป่ายังมีเบื้องหลังมีบริบทนอกเหนือจากการทำกินของประชาชน และมีมิติทางการเมืองด้วย เช่น ไฟป่าเกี่ยวข้องกับงบประมาณ ความไม่เป็นธรรมของภาครัฐ และการจัดการของภาครัฐในระบบอำนาจรวมศูนย์ เป็นต้นในทางกลับกัน ขณะที่เกิดปัญหาไฟป่าทั่วภาคเหนือ ประชาชนจากหลายร้อยหมู่บ้านได้ช่วยกันป้องกันและดับไฟป่าอย่างเข้มแข็ง จนกระทั่งหลายคนเสียชีวิตจากการช่วยกันดับไฟป่า มีการระดมทุนและการสนับสนุนจากสังคมเพื่อสู้กับไฟป่ามาโดยตลอดนับแต่เกิดเหตุไฟป่าในภาคเหนือ

ดังนั้น การชี้นิ้วกล่าวโทษว่าไฟป่ามีสาเหตุจากการเผาพืชเกษตรเพื่อยังชีพและการหาของป่า จึงเป็นการลดทอนปัญหาของไฟป่าให้เหลือเพียงประชาชนเป็นแพะรับบาป กลบเกลื่อนความล้มเหลวในการจัดการปัญหาเชิงระบบของรัฐ และ เป็นการตอกย้ำภาพมายาคติที่แฝงไว้ซึ่งอคติต่อกลุ่มชาติพันธุ์และ การใช้อำนาจอย่างไม่ยุติธรรมกับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับป่าอนุรักษ์ของรัฐ

2. คำกล่าวของพล.อ.ประวิตร ในกรณีที่หากคุมไฟป่าไม่ได้ เกิดปัญหาซ้ำซาก สร้างความเดือดร้อนเสียหายเป็นวงกว้างเช่นทุกปี อาจจำเป็นต้องปิดป่าฤดูร้อนนั้น สะท้อนถึงมุมมองการแก้ปัญหาที่(คับแคบ) มองเพียงว่าประชาชนเป็นต้นตอของปัญหา ต้องใช้อำนาจเด็ดขาดในการจัดการถึงขั้นปิดป่า แต่วิธีคิดดังกล่าวนี้จะไม่มีทางจัดการปัญหาไฟป่าได้สำเร็จ เพราะยิ่งเป็นการแยกคนออกจากป่า กีดกันไม่ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลผืนป่า ปกป้องและจัดการไฟป่า ตามวิถีชีวิตที่เกื้อกูลกัน อีกทั้งยังซ้ำเติมปัญหาระบบอำนาจเด็ดขาดรวมศูนย์ของหน่วยงานรัฐ ทางออกที่ถูกต้องจำเป็นจะต้องมีการร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ประชาชนภายนอก ราชการ และภาคประชาสังคม

องค์กรในท้ายแถลงการณ์นี้ ขอยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าวของรองนายกรัฐมนตรี และขอเรียกร้องต่อสังคมไทยร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการในการดับไฟป่าดังนี้

1.หยุดสร้างมายาคติด้วยการชี้นิ้วว่าประชาชนคือสาเหตุของไฟป่า แต่ควรมองว่าประชาชนโดยเฉพาะชุมชนคือกำลังสำคัญในการป้องกันและดับไฟป่า และให้ชุมชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการป้องกันและดับไฟป่า โดยการทำให้ประเด็นของไฟป่าเป็นประเด็นสาธารณะที่ทุกฝ่ายได้มีโอกาสมาร่วมกันวิเคราะห์ถึงสาเหตุของไฟป่า แนวทางในการจัดการไฟป่าที่ถูกต้อง และปฏิบัติการร่วมกันในการจัดการกับไฟป่า

2.กรณีชุมชนที่อยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากป่าอนุรักษ์ การจัดการป่าและไฟป่าต้องไม่กีดกันการมีส่วนร่วมของชุมชนออกไป แต่ต้องถือว่าชุมชนคือหัวใจของการช่วยกันจัดการไฟป่า โดยรัฐต้องให้สิทธิ/อำนาจแก่ชุมชนในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากร รวมถึงป้องกันไฟป่า และสนับสนุนชุมชนในการจัดการป่าและไฟป่า

3. การจัดการไฟป่าควรผสมผสานภูมิปัญญาความรู้ท้องถิ่นในการจัดการเชื้อเพลิงโดยที่ไม่ก่อความเสียหายต่อระบบนิเวศป่า และหากจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย หรือกฎระเบียบ หรือประกาศ หรือคำสั่ง เพื่อให้เอื้อต่อการจัดการไฟป่าที่เหมาะสมต่อระบบนิเวศ ก็จำเป็นต้องทำ

4.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องไม่ฉวยโอกาสท่ามกลางวิกฤตไฟป่าละเมิดสิทธิของชุมชนที่มีอยู่ในเขตป่าทุกประเภท รวมไปถึงการกลั่นแกล้งจับกุมคุมขังและดำเนินคดี

เราขอยืนยันว่า การจัดการไฟป่าต้องคำนึงถึงสิทธิของชุมชนเป็นสำคัญ ไม่ตั้งบนพื้นฐานของอำนาจนิยม แต่ต้องเป็นประเด็นสาธารณะที่ประชาชนมีส่วนร่วม

S__170180611.jpgS__170180613.jpg