ไม่พบผลการค้นหา
ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์ว่า การประกาศของ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ว่าจะโจมตีใส่สถานที่ทางวัฒนธรรม ถือเป็นการข่มขู่ว่าจะก่ออาชญากรรมสงคราม

ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลออกแถลงการณ์ว่า หากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะสั่งการให้กองทัพสหรัฐฯ โจมตีสถานที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรมของอิหร่าน ตามที่ได้ประกาศไว้ ก็จะถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ควรออกมาชี้แจงทันทีว่า จะปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องสงครามเสมอ

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ขู่ว่า หากรัฐบาลอิหร่านโจมตีชาวอเมริกันหรือทรัพย์สินของสหรัฐฯ จะโจมตี 52 จุดในอิหร่าน "อย่างรวดเร็วและอย่างหนัก" โดยเป้าโจมตีทั้ง 52 จุดเป็นสัญลักษณ์แทนชาวอเมริกัน 52 คนที่ถูกจับตัวไปจากสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน เพื่อไปเป็นตัวประกันในช่วงปี 1979 และบางสถานที่ที่สหรัฐฯ วางแผนว่าจะโจมตี เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญมากต่อรัฐบาลและวัฒนธรรมอิหร่าน

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านยกระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังกองทัพสหรัฐฯ สังหารพลตรีกัสซิม โซเลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์ กองกำลังสำคัญของกองทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน ด้วยการโจมตีทางอากาศจากโดรนที่กรุงแบกแดดของอิรักเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา

แอนเดรีย แพรโซว รักษาการผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ในกรุงวอชิงตันกล่าวว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ควรต้องออกมาประกาศต่อสาธารณะว่าจะไม่โจมตีสถานที่ที่มีความสำคัญทางวัฒนธรรม และชี้แจงให้ชัดว่าเขาจะไม่สั่งให้มีการก่ออาชญากรรมสงครามแต่อย่างใด กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ควรต้องย้ำต่อสาธารณะอีกครั้งว่าจะมีความมุ่งมั่งที่จะปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสงคราม และจะปฏิบัติตามคำสั่งทางทหารที่ชอบธรรมด้วยกฎหมายเท่านั้น

แพรโซวกล่าวต่อว่า การข่มขู่ของทรัมป์ว่าจะโจมตีมรดกทางวัฒนธรรมของอิหร่านแสดงให้เห็นถึงความตายด้านต่อหลักนิติธรรมสากล จากที่ผ่านมา ทรัมป์ก็แสดงออกว่าไม่ค่อยเคารพสิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธที่จะประณามการสังหาร จามาล คาช็อกกี ผู้สื่อข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย หรืออภัยโทษให้กับอาชญากรสงคราม

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า กฎหมายว่าด้วยสงครามระบุว่า ห้ามไม่ให้จงใจโจมตีใส่เป้าหมายของพลเรือนที่ไม่ได้ถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการทหาร สิ่งของที่มีความสำคัญมากต่อมรดกทางวัฒนธรรมของประชาชนจะต้องไม่เป็นเป้าโจมตี โดยมาตรา 53 ในอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 1 ได้ระบุไว้อย่างเจาะจงว่าห้ามมุ่งร้ายต่อวัตถุทางวัฒนธรรม และกฎหมายว่าด้วยสงครามของสหรัฐฯ เองก็มีส่วนที่เกี่ยวกับการปกป้องทรัพย์สินทางวัฒนธรรม


ที่มา : Human Rights Watch, The Guardian