ไม่พบผลการค้นหา
วันแรก 7 วันอันตราย มีผู้เสียชีวิตแล้ว 43 ราย บาดเจ็บ 446 ราย เกิดอุบัติเหตุรวมทั้งสิ้น 464 ครั้ง 'ประจวบฯ - เชียงราย' มีผู้เสียชีวิตมากมากที่สุดจังหวัดละ 4 ราย สาเหตุยังคงเป็นเมาแล้วขับ ด้านอนุทิน ขอคนไทย "เมาไม่ขับ หลับให้พอ" ลดอุบัติเหตุ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวสรุปอุบัติเหตุวันแรกของ 7 วันอันตรายคือวันที่ 27 ธ.ค. 2562 ของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 464 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 43 ราย ผู้บาดเจ็บ 466 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 20 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย และประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดละ 4 ราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 22 คน

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 30.39 ขับรถเร็ว ร้อยละ 24.78 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.08 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.22 ถนนใน อบต.และหมู่บ้าน ร้อยละ 30.60 

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 – 20.00 น. ร้อยละ 30.39 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร้อยละ 29.27 

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,026 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 63,961 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 731,933 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 158,453 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 42,912 ราย ไม่มีใบขับขี่ 39,584 ราย

โดยสั่งการทุกจังหวัดดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยในปีนี้จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด กำชับจุดตรวจเพิ่มความเข้มข้นในการเรียกตรวจยานพาหนะ และความพร้อมของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ซึ่งฝากสโลแกนส่วนตัว ว่า "เมาไม่ขับ หลับให้พอ" รวมถึงปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมพร้อมบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย ยานพาหนะ พร้อมเข้าถึงจุดเกิดเหตุทันที เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือน้อยที่สุด 

พร้อมกันนี้ ยังฝากถึงคอลเซ็นเตอร์ 1669 ต้องรับสายให้เร็วที่สุด ไม่ให้ผู้ใช้บริการรอนานจนเกินไป สอบถามให้ตรงประเด็นและให้ได้ข้อมูลมากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มากที่สุด

ด้านนายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เปิดเผยว่า ศปถ.ได้เน้นย้ำให้จังหวัดและอำเภอบูรณาการตามแผนปฏิบัติการอย่างเข้มข้น ใช้กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน จิตอาสาในการป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน โดยเพิ่มความเข้มข้นในการจัดตั้งด่านชุมชน ด่านครอบครัว ในการเรียกตรวจยานพาหนะ และความพร้อมของผู้ขับขี่ รวมถึงประสานเคลื่อนย้ายรถที่เกิดอุบัติเหตุออกจากจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน และให้การจราจรมีความคล่องตัว

นอกจากนี้ ให้ดูแลความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ พนักงานต้องมีสภาพร่างกาย ที่พร้อมขับรถอย่างปลอดภัยและมีระดับแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง