ไม่พบผลการค้นหา
เหลืออีกเพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น ก่อนที่ทั้งทวีปยุโรปจะเข้าสู่ฤดูหนาว ส่งผลให้มีความต้องการใช้พลังงานพุ่งสูงที่สุดในรอบปี และเมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงไม่มีทีท่าว่าจะจบลงในเร็ววันนี้ ยุโรปจึงต้องเผชิญกับความยากลำบากและความท้าทายในการจัดการพลังงานของตน เพื่อความอยู่รอดในช่วงเวลาที่จะมาถึง

อย่างไรก็ดี วิกฤตทางด้านพลังงานที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการเอาชนะกับความหนาวเย็นเพียงเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับสภาพเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก ราคาพลังงานที่สูงขึ้นทำให้ต้นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ รอบโลกเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และในขณะที่ชาติต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ พยายามใช้เครื่องมือทางการทูต ผ่านการเจรจาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดูเหมือนว่าความพยายามดังกล่าวอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

‘วอยซ์’ ชวนสำรวจสถานการณ์ล่าสุดของวิกฤตด้านพลังงาน ทั้งในภูมิภาคด่านหน้าของความขัดแย้งอย่างยุโรป รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และประเทศผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปค พร้อมทั้งย้อนดูผลกระทบของปัญหาระดับนานาชาติ ที่จะยังผลมาถึงประเทศไทย

 

ยุโรปพร้อมรับความหนาวแค่ไหน?: สำรวจสถานการณ์ด้านพลังงานล่าสุดในยุโรป

ที่ผ่านมานั้น สหภาพยุโรปพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเป็นจำนวนมาก โดย 29% ของการนำเข้าพลังงานน้ำมัน 43% ของพลังงานก๊าซธรรมชาติ และ 54% ของการนำเข้าถ่านหินทั้งหมดของสหภาพยุโรปมาจากรัสเซีย ภาวะการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในปริมาณมาก ประกอบกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายประเทศในยุโรปเริ่มหันมาปฏิรูประบบพลังงานของตนเองและหันมาใช้แหล่งพลังงานทางเลือกอย่างพลังงานลม และพลังงานนิวเคลียร์มากขึ้น แม้ในจำนวนนี้จะมีบางประเทศที่เลือกดำเนินนโยบายแตกต่างออกไป อาทิ เยอรมนี ซึ่งพยายามขจัดการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศทั้งหมดก็ตาม

อย่างไรก็ดี เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การปรับตัวของชาติยุโรปเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียนั้นเกิดขึ้นช้าเกินไป เพราะเมื่อรัสเซียรุกรานยูเครนในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ยุโรปพบว่าตนเองต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ด้านพลังงานครั้งสำคัญ ในช่วงฤดูร้อนที่ชาติตะวันตกเริ่มต้นใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเป็นครั้งแรก ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นถึง 130 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5,330 บาท) ต่อบาร์เรล และในเวลาต่อมา เมื่อกาซพรอม บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของรัสเซีย ที่มีรัฐบาลรัสเซียอยู่เป็นเบื้องหลัง ได้ตัดสินใจหยุดการส่งก๊าซเข้าสู่ยุโรปผ่านท่อนอร์ดสตรีม 1 ในวันที่ 3 ก.ย. โดยอ้างเหตุผลเรื่องการซ่อมบำรุงอย่างไม่มีกำหนดนั้น ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปก็พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง

ราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงกับค่าไฟฟ้าในยุโรป โดยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าของฝรั่งเศสพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 1,146 ยูโร (ประมาณ 42,000 บาท) ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง หรือคิดเป็น 10 เท่าตัวของระดับราคาเมื่อเดือน ม.ค. ในด้านของเยอรมนีนั้น ค่าไฟฟ้าในเดือน ส.ค. ดีดตัวไปอยู่ที่ 699 ยูโร (ประมาณ 26,000 บาท) ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง หรือประมาณ 6 เท่าของเดือน ม.ค.

อย่างไรก็ตาม ราคาของก๊าซธรรมชาติในยุโรปได้ปรับตัวลดลงในช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเหลืออยู่ที่ 150 ยูโร (ประมาณ 5,600 บาท) ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง ทั้งนี้ ในวันที่ 9 ต.ค. คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศว่า หลังจากที่มีการควบคุมการบริโภคก๊าซได้ลดลง 10% ทำให้จากที่ในเดือน ก.พ. ปริมาณก๊าซสำรองของสหภาพยุโรปคงเหลืออยู่ที่ 30% แต่ในขณะนี้ สหภาพยุโรปมีปริมาณก๊าซสำรองสูงถึง 90% แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขอความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ให้ลดการใช้พลังงานลง อย่างไรก็ตาม ระดับราคา 150 ยูโรดังกล่าวยังถือว่าสูง หากเทียบกับระดับราคา 38 ยูโร (ประมาณ 1,420 บาท) ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมงในปีที่แล้ว

ในขณะที่ราคาก๊าซอยู๋ในระดับที่ต่ำลง อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เสนอนโยบายกำหนดเพดานราคาพลังงานไปพร้อมๆ กัน ในด้านหนึ่ง สหภาพยุโรปต้องการให้มีการกำหนดเพดานราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกอีกรูปแบบ นอกเหนือไปจากก๊าซจากท่อส่งของรัสเซียที่มีการขายในตลาด โดย ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ชี้ว่า ปัจจุบันราคาของก๊าซ LNG ถูกเก็งกำไร และได้รับอิทธิพลจากราคาก๊าซของรัสเซีย ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ฟ็อน แดร์ ไลเอิน เสนอให้มีการใช้เพดานราคาสำหรับก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าโดยเฉพาะ ทั้งนี้ แนวทางทั้งสองจะต้องทำไปพร้อมๆ กันกับการลดการใช้พลังงานในภูมิภาคยุโรปลงด้วย

นโยบายของ ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ถูกท้วงติงโดยบางประเทศ เช่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ที่เสนอให้มีการใช้ตัวเลือกอื่นที่เป็นการแทรกแซงตลาดน้อยกว่านี้ เช่นเดียวกันกับ บรูเกล ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ ที่ออกมาเตือนว่าการกำหนดเพดานราคาดังกล่าว อาจทำให้เกิดการบริโภคก๊าซที่สูงขึ้นได้

ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ร่างแผนการในการประหยัดพลังงานอีกฉบับในเดือน ก.ย. ซึ่งส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องลดการผลิตลงในช่วงวิกฤตพลังงาน สิ่งนี้ทำให้อัตราการผลิตในยูโรโซนลดลงและทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย โดย คริสทีน ลาการ์ด ผู้อำนวยการธนาคารกลางยุโรปคาดการณ์ว่า แผนดังกล่าวอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปได้ แม้จะมีผู้วิเคราะห์ว่าภาวะดังกล่าวอาจเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเพิ่มอุปสงค์และทำให้ราคาก๊าซลดต่ำลง

 

ความตึงเครียดสหรัฐฯ-โอเปค: ปัจจัยเสริมความท้าทายด้านพลังงานโลก

แม้ยุโรปจะเป็นปราการด่านหน้า ที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ด้านพลังงานมากที่สุด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย โดยมีจุดประสงค์สำคัญ คือ การโน้มน้าวให้ซาอุดีอาระเบียและประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ เพิ่มการผลิตขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาด้านราคาพลังงานที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าความพยายามของไบเดนจะประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

เพราะแทนที่ซาอุดีอาระเบียจะเพิ่มการผลิตน้ำมันตามที่สหรัฐฯ ต้องการ ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โอเปคกลับประกาศลดการผลิตน้ำมันลงท่ามกลางการกดดันของนานาชาติ การตัดสินใจที่นำโดยซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น 2% ในทันที ทั้งนี้ ไบเดนโต้ตอบโอเปคโดยการประกาศว่า การกระทำของโอเปคจะมีผลกระทบตามมาอย่างแน่นอน แม้ไบเดนจะไม่ได้ระบุว่าเป็นผลกระทบอย่างไร พร้อมกันนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ยังประกาศว่า จะมีการนำน้ำมันสำรอง 10 ล้านบาร์เรลออกมาขายในตลาดภายในเดือนหน้า และอาจมีการนำน้ำมันออกมาขายเพิ่มหากจำเป็น

ไบรอัน ดีซ ประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า ไบเดน “ผิดหวังกับการตัดสินใจที่มองในระยะสั้น ในขณะที่ทั้งโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบเชิงลบ จากการรุกรานยูเครนของปูติน” และ “การตัดสินใจของโอเปคจะส่งผลเสียมากที่สุด ต่อประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ที่เสียหลักจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น”

แม้ว่าจะซาอุดีอาระเบียจะมีอำนาจนำในโอเปค และอ้างว่าประเทศสมาชิกทั้ง 23 ของโอเปคให้ความเห็นชอบต่อการลดการผลิตน้ำมันลง แต่สำนักข่าว The Financial Times รายงานว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอิรักเป็น 2 ประเทศสมาชิก ที่แสดงความกังวลใจต่อการตัดสินใจดังกล่าว แหล่งข่าวรายงานว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พยายามชะลอการลดการผลิตน้ำมันลง แต่ก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จ โดย ซูฮาอิล อัลมาซรูอี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กล่าวหลังการประชุมของโอเปคในกรุงเวียนนาว่า การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเรื่องเชิงเทคนิค และไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด

คำกล่าวของอัลมาซรูอีสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ มาร์วัน คาลาบาน จากศูนย์ศึกษาภูมิภาคอาหรับเพื่อการวิจัยและนโยบาย ซึ่งกล่าวกับสำนักข่าว Aljazeera ว่า เขาไม่เชื่อว่าการกระทำของซาอุดีอาระเบียเป็นไปเพื่อแสดงจุดยืนที่สนับสนุนรัสเซีย คาลาบานมีความเห็นว่าการตัดสินใจของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียนั้น วางอยู่บนเหตุผลทางเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น

“ขณะนี้รัสเซียกำลังอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างอ่อนแอ และไม่สามารถทดแทนความเป็นพันธมิตรที่ซาอุดีอาระเบียมีต่อสหรัฐฯ ได้เลย ซาอุดีอาระเบียต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรทางความมั่นคงท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นมากมาย” เขากล่าว

อย่างไรก็ดี ท่าทีของโอเปคได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ อย่างมาก เนื่องจากมันทำให้ความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่จะใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียมีประสิทธิภาพลดน้อยลงไปมาก นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของไบเดนยังสูญเสียลงไปจากการกลับทิศทางนโยบายต่อซาอุดีอาระเบีย ที่แต่เดิมไบเดนจงใจที่จะโดดเดี่ยว และกดดันมกุฎราชกุมารโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน จากกรณีความเกี่ยวโยงกับการสังหาร จามาล คาชอกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบียที่เสียชีวิตในปี 2561

 

ย้อนดูเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความวุ่นวายของวิกฤตพลังงาน

ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 90% ของน้ำมันทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ โดยจากสถิติล่าสุดในเดือน ก.ค. 2565 พบว่า แหล่งที่มาของน้ำมันที่ประเทศไทยนำเข้า มาจากแหล่งตะวันออกกลาง 63% แหล่งตะวันออกไกล เช่น พม่า มาเลเซีย 12% และแหล่งอื่นๆ อีก 30% จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยเองเป็นหนึ่งในประเทศที่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากภายนอกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแหล่งที่มาของน้ำมันในสัดส่วนที่สูงที่สุดยังมาจากพื้นที่ตะวันออกกลาง ซึ่งมีการประกาศลดการผลิตน้ำมันลง วิกฤตการณ์ด้านพลังงานที่เป็นผลพวงมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และนโยบายของโอเปคจึงส่งผลอย่างยิ่งต่อราคาน้ำมันของไทย

เมื่ออุปทานของน้ำมันในตลาดลดลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคพลังงานกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังวิกฤตโควิด-19 เริ่มคลี่คลายตัวในประเทศไทย และส่งผลให้ภาคการขนส่งและท่องเที่ยวฟื้นตัวมากขึ้น ทำให้ราคาของน้ำมันในประเทศไทยยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดีเซลล่าสุด (8 ต.ค.) อยู่ที่ประมาณ 34 บาท ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมากจากช่วงเดือนม.ค. ก่อนการรุกรานยูเครนของรัสเซียที่ระดับราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ประมาณ 29 บาท

ทั้งนี้ เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดของเดือน ก.ย. พบว่ามีอยู่ที่ 6.41% จากระดับเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-3% ซึ่งมีผลทำให้กำลังซื้อของครัวเรือนไทยลดต่ำลงไปด้วย ในภาวะเช่นนี้ ราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มสูงขึ้น ย่อมสร้างความลำบากให้กับประชาชนที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายหลายประการในปัจจุบัน ทำให้ในอนาคตประเทศไทยอาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

อย่างไรก็ดี ยิ่งเวลาดำเนินไปเข้าใกล้ช่วงปลายปีมากขึ้น ความตึงเครียดด้านวิกฤตพลังงานที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของสงครามรัสเซีย-ยูเครนในช่วงต้นปี จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงอย่างทวีคูณ ในขณะที่สหภาพยุโรปพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อก้าวพ้นวิกฤตอันน่ากังวลดังกล่าว ก็กลับยังไม่สามารถประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้ได้อย่างสมบูรณ์ ในขณะที่แนวนโยบายของโอเปคยิ่งเพิ่มความท้าทายให้กับปัญหาที่ค้างคาเข้าไปอีก

เมื่อย้อนกลับมาสำรวจประเทศไทยของเรา อาจต้องมีการตั้งคำถามใหม่ว่า การลดราคาภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาท/ลิตร ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศขยายช่วงเวลาดำเนินนโยบายไปจนถึงวันที่ 20 พ.ย. นี้ เป็นมาตรการรับมือที่เพียงพอต่อสถานการณ์แล้วหรือไม่ และไทยจะสามารถแข่งขันกับความเร่งด่วนของวิกฤตพลังงานโลก ที่ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วได้ทันจริงหรือ

 

เรียบเรียงโดย ภีมพศ สีมาวุธ

 

ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2022/10/12/biden-vows-consequences-for-saudi-arabia-after-oil-output-cuts

https://data.go.th/dataset/dataset_11_81

https://www.aljazeera.com/news/2022/10/4/how-bad-could-europes-energy-crisis-get-this-winter

https://www.bangchak.co.th/th/oilprice/historical

https://tradingeconomics.com/germany/electricity-price

https://tradingeconomics.com/france/electricity-price

https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/Pages/OverviewInflation.aspx

https://www.dw.com/en/energy-crisis-europe-faces-winters-of-discontent-with-high-prices-here-to-stay/a-63412238

https://www.euronews.com/my-europe/2022/09/09/europes-energy-crisis-how-will-eu-ministers-address-rising-prices

https://www.euronews.com/my-europe/2022/10/10/europes-gas-prices-reach-three-month-low-as-consumer-demand-and-industrial-production-decl

https://www.washingtonpost.com/world/2022/10/13/saudi-opec-oil-production-biden/