ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 แล้วคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติห้ามใช้วัตถุอันตราย 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีทั้งผู้สนับสนุนและแรงต้าน รวมถึงข้อมูลต่างๆทั้งที่มีข้อมูลวิทยาศาสตร์สนับสนุนและไม่มีไหลเวียนในโซเชียลมีเดีย

การเริ่มต้นการห้ามใช้ไกลโฟเซต

ไกลโฟเซตเป็นสารเคมีที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในห้องปฏิบัติการและนักเคมีชาวสวิตเซอร์แลนด์ในปี 1950 โดยมิได้ใช้ด้านการกำจัดวัชพืชแต่อย่างใด และไม่มีการจดสิทธิบัตร ต่อมาเมื่อปี 1970 บริษัทมอนซานโตได้พัฒนาและสังเคราะห์อนุพันธุ์ไกลโฟเซต ซึ่งค้นพบว่ามีคุณสมบัติในการกำจัดวัชพืช มีฤทธิ์ละลายน้ำได้ สะดวกในการใช้ ซึ่งบริษัทมอนซานโตได้จดสิทธิบัตรไกลโฟเซตและอนุพันธุ์สารพร้อมจดเครื่องหมายการค้ายี่ห้อราวด์อัพ นอกจากนี้นี 1996 บริษัทมอนซานโตก็คิดค้นเมล็ดพืชตัดแต่งพันธุกรรมที่ทนสารเคมีไกลโฟเซตได้ เช่น ถั่วเหลือง ฝ้าย ข้าวโพด เพื่อนำออกขายร่วมกับยากำจัดวัชพืช ไกลโฟเซตเป็นสารเคมีปราบวัชพืชที่ทั่วโลกนิยมใช้ ช่วงเวลา 40 ปีระหว่าง 1974-2014 มีการใช้สารไกลโฟเซตในสหรัฐฯอเมริการวมสูงถึง 1.6 พันล้านกิโลกรัม ในขณะที่ทั่วโลกมีปริมาณการใช้รวม 8.6พันล้านกิโลกรัม[1]   

อย่างไรก็ตามการใช้ไกลโฟเซตเป็นเวลานานก็ส่งผลกระทบเชิงลบในหลายๆด้าน ในด้านระบบนิเวศก็เกิดมีการกลายพันธุ์ของวัชพืชให้ทนทานต่อสารไกลโฟเซต 17 สายพันธุ์วัชพืชที่ทนทานต่อไกลโฟเซตพบในสหรัฐฯอเมริกา 13 สายพันธุ์ในออสเตรเลีย 9 สายพันธุ์ในอาร์เจนตินา 8 สายพันธุ์ในบราซิล 5 สายพันธุ์ในแคนาดา[2] พื้นที่ส่วนใหญ่ที่พบวัชพืชดังกล่าวก็เป็นในเขตเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ตัดต่อเพื่อทนทานสาไกลโฟเซต ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการสูญเสียทางเศรษฐกิจตามมา

การใช้ไกลโฟเซตแพร่หลายเพราะเชื่อว่าผลต่อความเสี่ยงสุขภาพมีเพียงเล็กน้อยและสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้อุปกรณ์ที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามงานศึกษาในช่วงหลายๆปีมานี้กลับพบว่าไกลโฟเซตเป็นสารที่สามรถสร้างความเสียหายทั้งในจุลชีพและสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ ส่งผลทั้งพืช สัตว์และมนุษย์ สารตกค้างจากไกลโฟเซตมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง และส่งผลกระทบต่อไต รวมถึงโรคทางระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน สารไกลโฟเซตส่งผลต่อโรคทางผิวหนัง และโรคทางเดินหายใจ[3] งานศึกษาวิทยาศาสตร์จำนวนมากยืนยันผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพของไกลโฟเซต และสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่เฝ้าระวังในเวทีโลก ในปี 2015 International Agency for Research on Cancer ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้สังกัดองค์กรอนามัยโลกที่วิจัยด้านมะเร็งได้ประกาศว่าสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตเป็นสารที่จัดอยู่ในกลุ่ม 2A หมายถึงเป็นกลุ่มที่มีความเป็นไปได้ในการก่อมะเร็ง เนื่องจากมีการศึกษาในห้องวิจัยพบถึงความสัมพันธ์ของสารไกลโฟเซตกับมะเร็ง ถึงแม้มีจำนวนการศึกษาที่จำกัดในการวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างไกลโฟเซตกับมะเร็งในมนุษย์

หลังจากนั้นประเทศต่างๆเริ่มมีการประกาศห้ามใช้ไกลโฟเซต ปัจจุบันมีจำนวน 53 ประเทศ เช่น อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ศรีลังกา เป็นต้น และรวมถึงประเทศไทยที่มีการประกาศเมื่อ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา  

ภาคเกษตรกรรมไทย: นโยบายเกษตรกรรมแบบรัฐผลักภาระให้เกษตรกร

ถึงแม้การเกษตรจะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศไทย แต่อุตสาหกรรมการเกษตรและการใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรในการผลิตเพิ่งมีการแพร่หลายต่อเกษตรกรเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ลักษณะการเกษตรช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยนั้น รัฐผลักภาระให้ชาวนารับความเสี่ยงในการผลิต โดยไม่มีแผนนโยบายระดับชาติในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ มาตรการเพิ่มผลผลิตการเกษตรมุ่งเน้นการขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่ไม่มีการพัฒนาระบบชลประทาน อย่างทั่วถึง ดังที่รายงานซิมเมอร์แมนบันทึกไว้ว่า “ไม่มีท้องที่ปลูกข้าวใดๆเลยที่มีการใช้เทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ เช่น ปุ๋ยคอก การคัดเลือกเม็ดพันธุ์ การไถคราดอย่างระมัดระวัง การสูบน้ำ เป็นต้น” ซ้ำร้ายเมื่อความต้องการเพาะปลูกเพิ่มสูงขึ้นก็ส่งผลให้ค่าเช่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้นตามมา รัฐบาลไม่มีมาตรการใดช่วยเหลือเกษตรกรในการเข้าถึงที่เพาะปลูก สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวชาวนาจึงยากจน เป็นหนี้สิน  

ด้วยปัญหาดังกล่าวแนวทางแก้ปัญหาของเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูญธรรมจึงให้รัฐเข้าไปแทรกแซงกิจกรรมเศรษฐกิจของประชาชน ด้วยการให้รัฐผูกขาดที่ดิน ปัจจัยทุนการผลิต เพื่อนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรไทยอย่างทั่วถึงและนำไปเพาะปลูก เกษตรกรจะได้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและนำผลผลิตส่วนเกินขายให้รัฐบาลได้ นโยบายการพัฒนาจึงเป็นการใช้อำนาจรัฐในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตของเกษตรกรอย่างถอนราก จากเกษตรกรรมแบบพออยู่พอกินเป็นเกษตรกรรมการใช้เทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต โดยรัฐร่วมประกันความเสี่ยงของเกษตรกร อย่างไรก็ตามข้อเสนอของเค้าโครงนี้ก็ได้รับการต่อต้านและไม่เกิดขึ้นจริง

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยมีสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯอเมริกาและได้รับความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและการถ่ายทอดเทคโนโลยี นโยบายพัฒนาประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก อย่างไรก็ตามแนวทางนโยบายก็แตกต่างจากแนวคิดในเค้าโครงเศรษฐกิจตรงที่ว่า รัฐจะสนับสนุนเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น โดยไม่เข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดมากนัก รัฐลงทุนด้านระบบชลประทาน ถนนหนทาง การวิจัยพันธุ์พืช การให้ความรู้เทคโนโลยีการผลิต การผลักดันเกษตรกรให้ใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ แต่การเข้าถึงปัจจัยการผลิต ทั้งปัจจัยนำเข้าและปัจจัยทุน การหาตลาด การเพิ่มมูลค่าผลผลิต เป็นเรื่องที่เอกชนต้องรับผิดชอบตามกลไกตลาด มีการใช้ปุ๋ย และสารเคมีในการผลิตเพิ่มมากขึ้น เช่น ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 1 ใน 6 ของเกษตรกรก็เริ่มใช้ปุ๋ย สารเคมี ในการเพาะปลูก กล่าวโดยสรุปคือรัฐเข้ามาผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตของเกษตรกรเพื่อยอมรับการใช้เทคโนโลยีชนิดใหม่เพื่อเร่งผลผลิต แต่ต้นทุนราคาต่างๆของเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆเหล่านี้ล้วนเป็นเกษตรกรแต่ละคนเป็นผู้รับผิดชอบลงทุน ดังเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่หนึ่งระบุว่า “...อนึ่ง เนื่องจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติได้เน้นหนักเฉพาะกิจการส่วนของรัฐ การผลิตผลการเกษตรเป็นเรื่องของเอกชน ซึ่งรัฐไม่มีนโยบายจะเข้าไปกำหนดหรือวางข้อบังคับแต่ประการใด หน้าที่ของรัฐในเรื่องการเกษตร ได้แก่ การส่งเสริมและสนับสนุนเอกชนเท่านั้น...”

อย่างไรก็ตามการเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่นั้นผลประโยชน์กลับไม่ถึงเกษตรกรเท่าใด เพราะเมื่อปริมาณการผลิตสูงในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรผันผวน และมีแนวโน้มถูกลงจากจำนวนสินค้าเกษตรล้นตลาด เกษตรกรมีรายได้ลดลงแต่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นทั้งในรูปค่าแรง และเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆที่รัฐผลักดันให้เกษตรกรเป็นคนจ่าย ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายากำจัดศัตรูพืช ค่าเครื่องจักร ค่าเช่าที่เพาะปลูก

การห้ามใช้ไกลโฟเซต: การแลกเปลี่ยนผลได้ผลเสียระหว่างสุขภาพ-เศรษฐกิจ

เมื่อรัฐบาลทหารประกาศห้ามใช้ไกลโซเฟตแล้วย่อมมีผลได้ผลเสียของนโยบายที่ต้องพิจารณา ไกลโซเฟตเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่ราคาถูกและมีประสิทธิภาพ การห้ามใช้ย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรงที่ต้องหาวิธีการกำจัดวัชพืชแบบอื่น ซึงมีต้นทุนที่สูงกว่า ส่วนกลุ่มผู้เสียประโยชน์กลุ่มอื่นได้แก่บริษัทยาที่สูญเสียตลาดไกลโฟเซตในประเทศไทย ซึ่งมีปริมาณการนำเข้า 61.8 ล้านกิโลกรัม หรือมูลค่า 2944 ล้านบาท[4]  

ผลดีของการแบนไกลโฟเซต คือ ลดการปนเปื้อนสารเคมีในสิ่งแวดล้อม และลดการกลายพันธุ์ของวัชพืช ส่วนด้านสุขภาพก็เป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากไกลโฟเซต ซึ่งจากรายงานพบว่ามีผู้ป่วยจากสารพิษเคมีในช่วงปี 2561-62 จำนวน 3067 ราย และเสียชีวิต 407 ราย และส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า[5]  

นอกจากนี้ถ้ามองไกลโฟเซตในฐานะเป็นเทคโนโลยีการผลิตชนิดหนึ่ง จะพบว่าไกลโซเฟตเป็นการใช้เทคโนโลยีแบบเก่าที่มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ แต่ไม่ได้มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยยังคงเป็นในรูปวัตถุดิบเป็นหลัก โดยไม่มีการแปรรูปหรือเพิ่มมูลค่าแบบในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งขัดกับนโยบายเกษตรกร 4.0 ที่รัฐบาลทหารได้วาดภาพฝันเอาไว้ให้ครัวไทยเป็นครัวโลกและสร้างความมั่นคงทางอาหาร ดังเห็นได้จากยุทธศาสตร์ที่ 3 ของแผนพัฒนาการเกษตร (2560-2564) ที่ระบุว่า “...พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศการเกษตร และสร้างความเชื่อมโยงของข้อมูลอย่างเป็นระบบ รวมถึงส่งเสริมการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ เน้นการขึ้งเทคโนโลยีการเกษตรของเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มเกษตรกร เพื่อช่วยขับเคลื่อนพัฒนาภาคการเกษตรให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน”

การห้ามใช้ไกลโฟเซตจึงเป็นการผลักดันอุตสาหกรรมการเกษตรให้เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น และบังคับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตของเกษตรกรอีกครั้ง เพื่อเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรแบบเดิมที่มุ่งเน้นปริมาณ เป็นการผลิตเพื่อเพิ่มคุณภาพและราคาสินค้า อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากังวลคือ การผลักดันดังกล่าวเป็นการผลักภาระเพิ่มต้นทุนเกษตรกรเหมือนเช่นนโยบายเกษตรแห่งชาติที่ผ่านมา โดยไม่มีมาตรการรองรับหรือช่วยเหลือเกษตรกรในการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีชนิดใหม่ เกษตรกรต้องรับความเสี่ยงเหล่านี้โดยลำพัง

และประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ เป็นอีกครั้งที่กฎหมายที่ต้องการการพิจารณารอบคอบจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม การพิจารณาอย่างโปร่งใส และรายงานต่อประชาชน กลับถูกพิจารณาอย่างรวดเร็วจากรัฐบาลทหาร  

อ้างอิง

[1] Benbrook, C. 2016. Trends in glyphosate herbicide use in the United States and globally. Environmental Sciences Europe. 28;3.

[2] Heap, I. and Duke, S. 2017. Overview of glyphosate-resistant weeds. Pest Manag Sci. 74; 1040-1049.

[3] Van Bruggen, A.H.C., et al. 2018. Environmental and health effects of the herbicide glyphosate. Science of Total Environment. 616-614; 255-268.

[4] สำนักข่าวอิศรา. 19 กันยายน 2560. เปิดตัวเลข 3 ปีย้อนหลัง นำเข้าสารเคมีอันตรายพบ ไกลโซเฟตสูงสุด มูลค่ารวม 1 หมื่นล้านบาท. จากเวปไซต์ https://www.isranews.org/isranews-scoop/59676-paraquat.html

[5] TCIJ. 5 ตุลาคม 2562. 11 ปีไทยนำเข้าสารเคมีเกษตร 1.66 ล้านตัน 2.46 แสนล้านบาท เจ็บป่วยเฉลี่ย 4พันราย. จากเวปไซต์ https://www.tcijthai.com/news/2019/10/scoop/9456

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog