ไม่พบผลการค้นหา
ทำความเข้าใจ ‘อาการสมองเสื่อม’ เมื่อสาเหตุ 90 เปอร์เซ็นต์รักษาไม่หาย และ 65 เปอร์เซ็นต์ป้องกันไม่ได้

คงไม่มีใครรู้จักร่างกายตัวเองดีเท่ากับตัวเอง แต่เมื่อเวลาผ่าน อายุเพิ่ม แม้ใจจะรู้สึกแข็งแรงดี ทว่าร่างกายกลับส่งสัญญาณแตกต่างออกไป แล้วจะเป็นอย่างไรเมื่อถึงวัยต้อง ‘แก่’ กันจริงๆ และเป็นวันที่สมองทำงานติดๆ ขัดๆ

ประเทศไทยมีผู้สูงวัยสมองเสื่อมถึง 8 แสนคน และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของอาการสมองเสื่อมมาจากสาเหตุที่ไม่สามารถรักษาได้ Voice On Being จึงเข้าพบ ศ.นพ. วีรศักดิ์ เมืองไพศาล จากคลินิกผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เพื่อหาคำตอบว่าเราเหลือทางเลือกใดบ้างที่จะใช้ชีวิตเตรียมรับวันที่สมองอาจไม่เต็มร้อยเหมือนเดิม


แก่แล้วหลงลืม ไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ

แม้คนทั่วไปมักมีทัศนคติว่า คนแก่หลงๆ ลืมๆ กันเป็นเรื่องธรรมดา แต่การหลงลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน จำเหตุการณ์ใหม่ๆ ไม่ได้ ซึ่งเป็นสัญญาณ ของความจำเสื่อมนั้น ไม่ใช่การเสื่อมตามธรรมชาติ

ศ.นพ. วีรศักดิ์ อธิบายว่า สาเหตุของอาการสมองเสื่อมที่พบมากถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์คือ ‘อัลไซเมอร์’ รองลงมาคือ การเสื่อมจากปัญหาหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดสมองตีบ หรือหลอดเลือดสมองแตก นอกเหนือจากนั้นเป็นสาเหตุพบไม่บ่อยนัก เช่น ภาวะสมองเสื่อมในผู้ป่วยพาร์กินสัน และโพรงสมองคั่งน้ํา

“จริงๆ ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนจะสมองเสื่อม เพียงแต่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ถ้าพูดง่ายๆ ก็คล้ายๆ กับเบาหวาน ซึ่งมักเป็นในผู้สูงอายุ แต่ก็ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคน ภาวะสมองเสื่อมบางคนก็เป็นก่อนอายุ 60-65 ปี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นหลัง 65 ปี ฉะนั้นถ้าจะบอกว่าเป็นการเสื่อมตามธรรมชาติคงไม่ใช่ เพราะถ้าบอกว่าเป็นการเสื่อมตามธรรมชาติแปลว่าทุกคนต้องเป็น”

d-a-v-i-d-s-o-n-l-u-n-a-359388-unsplash.jpg
  • Photo by Davidsonluna

ถึงอย่างนั้น เค้าความจริงที่ว่าคนแก่มักหลงลืมก็มีเหตุผล เพราะยิ่งอายุมาก ความเสี่ยงสมองเสื่อมยิ่งสูงขึ้น โดย ศ.นพ. วีรศักดิ์ เปรียบเทียบว่า ในคนอายุ 60 ปี 100 คน อาจจะมีสัก 1 คนสมองเสื่อม หากอายุ 65 จะเป็น 2 คน 70 ปี จะเป็น 4 คน 75 ปี เป็น 8 คน 80 ปี เป็น 16 คน กล่าวคือจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 2 เท่า ทุก 5 ปี

สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตที่ระบุว่า ผู้สูงอายุในไทยสมองเสื่อมกันกว่า 8 แสนคน และผู้ที่อายุ 60 ปี 100 คน จะมี 8 คนที่สมองเสื่อม ทว่าเรื่องที่น่ากังวลกว่าอัตราเสี่ยงคือ อาการสมองเสื่อมส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่มีวิธีรักษา


90 เปอร์เซ็นต์รักษาไม่หาย 65 เปอร์เซ็นต์ป้องกันไม่ได้

ส่วนเรื่องภาวะสมองเสื่อมจะกลับมาเป็นปกติได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ แต่สาเหตุสมองเสื่อมส่วนใหญ่อย่างโรคอัลไซเมอร์ หรือหลอดเลือดสมองมักจะแก้ไขไม่ได้ สำหรับสาเหตุสมองเสื่อม 10 เปอร์เซ็นต์ ที่รักษาได้ก็เช่นสมองเสื่อมจากไทรอยด์ทำงานน้อยลง ขาดวิตามินบางชนิด เป็นเนื้องอกในสมอง โพรงสมองคั่งน้ำ ยาบางตัวรบกวนความจำ หรือเป็นโรคซึมเศร้าแล้วสนใจสิ่งต่างๆ น้อยลง จึงทำให้รู้สึกว่าความจำไม่ค่อยดี หากสมองเสื่อมเพราะสาเหตุเหล่านี้เมื่อจัดการต้นตอ เช่น ได้รับวิตามินที่ขาด หรือกำจัดเนื้องอกได้ก็อาจจะรักษาให้หายได้

เมื่อสาเหตุสมองเสื่อมอีกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์อย่างอัลไซเมอร์ หรือโรคหลอดเลือดนั้นเป็นเหตุที่รักษาให้ฟื้นคืนไม่ได้ การวินิจฉัยจึงเป็นไปเพื่อการดูแลและชะลอการถดถอยของสมอง

นอกจากจะรักษาไม่ได้แล้ว 65 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยสมองเสื่อมยังเกิดจากปัจจัยที่ป้องกันหรือปรับแก้ไม่ได้ เช่น ความเสี่ยงจากพันธุกรรมและอายุที่มากขึ้น คำถามคือเมื่อสมองเสื่อมอาจเลี่ยงไม่ได้ แล้วเราเหลือทางเลือกรับมืออย่างไรบ้าง


ความเสี่ยงที่ลดได้

แม้สาเหตุของอาการสมองเสื่อมส่วนใหญ่จะเลี่ยงไม่ได้ แต่การใส่ใจควบคุมปัจจัยก็มีความหมาย ศ.นพ. วีรศักดิ์ เน้นย้ำปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรม โดยแนะนำให้เลี่ยงอาหารไขมันอิ่มตัวสูงอย่าง เนื้อติดมัน หนัง ครีม เนย และควรกินผัก ผลไม้ เนื้อปลา เมล็ดธัญพืชแทน

มากไปกว่านั้น ควรให้ความสำคัญกับการควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อหลอดเลือด เช่น โรคเบาหวาน ความดัน การสูบบุหรี่ เพราะสาเหตุหนึ่งของสมองเสื่อมคือ หลอดเลือดตีบ หรือแตก และในผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดร่วมด้วย

สำหรับกิจกรรมลดความเสี่ยงสมองเสื่อมควรมีองค์ประกอบ 5 อย่างด้วยกัน ประการแรกคือ ต้องชอบก่อน หากบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่ชอบก็ยากจะทำให้สม่ำเสมอได้ สอง ต้องทำได้บ่อยด้วย เช่น หากฝึกคิดโจทย์เลขพัฒนาสมองแค่เดือนละหนคงไม่ได้ผล สาม ควรเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้อื่นเป็นกลุ่ม เพื่อให้ได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สี่ กิจกรรมนั้นควรเป็นกิจกรรมที่ได้ใช้สมองคิด และห้า นอกจากใช้สมองคิดแล้วก็ต้องได้ออกกำลังกายด้วย

eberhard-grossgasteiger-255502-unsplash.jpg
  • Photo by Eberhard Grossgasteiger

ในความเป็นจริงแล้ว ศ.นพ. วีรศักดิ์ เข้าใจว่ากิจกรรมหลายๆ อย่างอาจจะตรงตามเกณฑ์เพียง 3-4 ข้อ เช่น การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ อาจจะชอบ เล่นได้บ่อย ได้คิด แต่ก็ไม่ได้ออกกำลังกาย แต่ก็มีกิจกรรมอย่างการเต้นรำ การเต้นแอโรบิก มวยจีน หรือโยคะ ที่อาจจะได้ประโยชน์ครบทุกข้อ โดยควรเลือกให้เหมาะกับตัวเอง

เหตุผลที่วิธีการป้องกันความจำเสื่อมนั้นดูเหมือนวิธีการรักษาสุขภาพทั่วๆ ไป เป็นเพราะเราไม่มีทางรู้ได้ว่า ในอนาคตเราจะเป็นสมองเสื่อมชนิดใด อาจจะเป็นอัลไซเมอร์ เป็นโรคทางหลอดเลือดสมอง หรือสาเหตุอื่นๆ การป้องกันจึงต้องเป็นการป้องกันอย่างรวมๆ

“บางทีหลายๆ สาเหตุเราไม่รู้ร้อยเปอร์เซ็นต์ทำไมคนนี้เสื่อม ทำไมอีกคนหนึ่งไม่เสื่อม บางทีคนสองคนพันธุกรรมความจำเสื่อมก็ไม่มีทั้งคู่ บุหรี่ เหล้า เบาหวาน ความดัน คือดีทั้งคู่ แต่คนนี้กลับเสื่อม ทำไมคนนี้กลับไม่เสื่อม อายุก็เท่าๆ กัน เพราะฉะนั้นก็คือว่ามันจะมีบางสาเหตุที่เรายังไม่ทราบอยู่ แต่สาเหตุที่เป็นตัวหลักเลยที่สำคัญคืออายุ”


สังเกตอย่างไร ใครสมองเสื่อม

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาการสมองเสื่อมส่วนใหญ่นั้นรักษาให้กลับเป็นปกติไม่ได้ ศ.นพ. วีรศักดิ์ จึงย้ำว่าเป้าหมายของการแพทย์ในปัจจุบันเน้นไปที่การชะลอการถอดถอยของสมอง ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการสังเกตคนใกล้ตัวให้เข้ารับการดูแลเพื่อชะลอการถดถอยได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

แม้การสูญเสียความจำจากอุบัติเหตุ หรือหลอดเลือดสมองตีบ จะไม่มีการแบ่งแยกว่าผู้ป่วยจะสูญเสียความทรงจำส่วนใด อาจจะลืมเรื่องในอดีตด้วยก็ได้ แต่สำหรับสาเหตุโดยปกติแล้ว ในช่วงแรกๆ ความจำที่สูญเสียก่อนเมื่อสมองเสื่อมจะเป็นความจำในเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น หรือจำสิ่งใหม่ๆ ที่เรียนรู้ไม่ค่อยได้ คือมักจะลืมเรื่องใหม่ๆ มากกว่าลืมเรื่องในอดีต จึงควรสังเกตว่าหากพูดซ้ำบ่อยๆ พูดแล้วพูดอีก จำไม่ได้ว่าพูดไปแล้ว จำไม่ได้ว่าถามไปแล้ว หรือลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดไม่นาน เช่น ซื้อของกลับมาแล้วจำไม่ได้ อาจจะเป็นสัญญาณของการเสียความจำระยะสั้นซึ่งเป็นระยะแรกของอาการสมองเสื่อม

black-and-white-elderly-man-119597.jpg
  • Photo by Max Martin

“เรามักจะเข้าใจว่าอายุมากแล้ว คงลืมบ้าง เห็นว่าก็ยังอาบน้ำแต่งตัวเองได้ ยังจำรูปได้ ก็เลยรู้สึกว่าไม่เสื่อม แต่จริงๆ แล้วบางทีเสื่อมใหม่ๆ เนี่ย บางคนยังไปซื้อของที่ร้านค้าได้ ยังออกนอกบ้านไปซื้อได้ ยังคุยกับคนในบ้านได้ แต่จะเสียอะไรที่เป็นความสามารถที่ซับซ้อนหน่อย เช่น ขับรถไม่ได้ ใช้อินเทอร์เน็ตไม่เป็น อะไรที่ซับซ้อนซึ่งบางทีผู้สูงอายุบางคนเขาไม่ได้ทำแล้ว ถ้าเกิดเริ่มจำลูกไม่ได้ หรือทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานไม่ได้เนี่ย มักจะเสื่อมค่อนข้างจะรุนแรงแล้ว”

ข้อสงสัยประการหนึ่งคือ หากตัวเราสมองเสื่อมแล้วจะสามารถรู้ได้ด้วยตัวเองไหมนั้น ศ.นพ. วีรศักดิ์ ตอบว่า โดยปกติแล้วมักจะบอกกันว่า คนเป็นไม่รู้ คนรู้ไม่เป็น เพราะเมื่อสมองเสื่อมแล้วอาจจะหลงลืม กระทั่งไม่รู้ตัวว่าเสื่อม ขณะที่คนจำได้ว่าตัวเองลืมอะไร หรือกังวลเกี่ยวกับการหลงลืมของตัวเอง โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่ค่อยเสื่อมจริง

ถึงอย่างนั้นเกณฑ์นี้ก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ในคนที่ระดับความสามารถเดิมของสมองค่อนข้างสูง ทำกิจวัตรซับซ้อนได้ บางทีในช่วงแรกๆ ก็อาจจะรู้ตัว คนไข้บางรายเล่าเองเลยว่า รู้สึกว่าความทรงจำ หรือความสามารถในการตัดสินใจถดถอยก็มี


สมองเสื่อม ไม่เท่ากับ ความจำเสื่อม

เมื่อพูดถึงสมองเสื่อม หลายคนคงนึกถึงเรื่องความทรงจำแย่ลง หลงๆ ลืมๆ เป็นหลัก ทว่าปัญหาความทรงจำเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาการสมองเสื่อมเท่านั้น

สมองเสื่อม คือคำเรียกอาการที่การรู้คิด ความจำ การรับรู้ทิศทาง การตัดสินใจ การคิดอ่านในด้านต่างๆ บกพร่อง แล้วมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน หรืออาชีพ โดยผู้ป่วยสมองเสื่อมมักมีปัญหาทางด้านอารมณ์ร่วมด้วย หากแบ่งให้ชัดเจนแล้ว ผลกระทบที่เกิดจากสมองเสื่อมมีอยู่ 3 ด้านด้วยกันคือ ระบบการคิด ความสามารถถดถอย และพฤติกรรมอารมณ์

สำหรับระบบการคิดที่ถดถอย นอกจากเรื่องของความจำแล้ว ก็จะมีเรื่องของทิศทาง ขับรถหลงทิศ หาห้องน้ำในบ้านไม่เจอ ด้านการใช้ภาษา เสียความเข้าใจ เข้าใจอะไรยากขึ้น หรือบางคนอาจจะนึกคำพูดไม่ออก พูดไม่คล่องเหมือนเดิม เรียกไอ้นั่น ไอ้นี่ เป็นการแทนสิ่งของ บางคนเสียทักษะด้านการคิดตัดสินใจ การวางแผน จัดลำดับความสำคัญไม่ถูก เริ่มตัดสินใจวางแผนอะไรได้ไม่เหมือนเดิม สมาธิถดถอย จดจ่ออะไรไม่ได้นานเหมือนเดิม ซึ่งก็ส่งผลกับด้านความสามารถที่อาจจะทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ เพราะหลงลืม คิดไม่ออก

hermes-rivera-265441-unsplash.jpg
  • Photo by Hermes Rivera

สำหรับด้านพฤติกรรม คนไข้สมองเสื่อมอาจจะแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเนื่องจากอาการป่วย ซึ่งอาจทำให้เกิดความยากลำบากในการดูแล แต่จำเป็นต้องใช้ความเข้าใจด้วยในเรื่องนี้

“จริงๆ อยากจะให้คนที่ไม่เป็นได้มีความเข้าใจว่า สมองเสื่อม นอกจากเรื่องของความจำ การคิด การคำนวณตัวเลข ทิศทาง และการตัดสินใจที่เริ่มมีปัญหาแล้วบางทีการเข้าสังคม ความสามารถก็จะถดถอยลง อาจจะแสดงพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่ค่อยเหมาะสม เช่น อาจจะก้าวร้าว หงุดหงิด หวาดระแวง อาจจะซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นได้

“ฉะนั้นเวลาเจอผู้สูงอายุที่เดิมมีลักษณะพฤติกรรมแบบหนึ่ง พออายุมากขึ้น พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปมาก ต้องระวังเรื่องสมองเสื่อม ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เกิดจากการที่เขาเป็นโรคอันหนึ่ง เป็นความเจ็บป่วยอันหนึ่ง ไม่ใช่เกิดจากการที่เป็นนิสัยของเขา หรือบุคลิกภาพของเขา แต่เกิดจากการที่เขาเจ็บป่วย ฉะนั้นถ้าทุกคนมีความเข้าใจก็จะดี ที่สำคัญคือเราเอง ทุกคนก็มีโอกาสที่จะเกิดสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยเช่นกันเมื่ออายุมากขึ้น”


นิสัยอาจเปลี่ยนไป แต่ภายในคือคนๆ เดิมที่เรารัก

ผู้ป่วยสมองเสื่อมควรได้รับความเข้าใจมากกว่าการถูกเหมาว่าเป็นอารมณ์แปรปรวนของคนวัยทอง หรือมองว่าคนสมองเสื่อมคนอื่นยังไม่เห็นเป็นแบบนี้บ้างเลย ผู้ดูแลอย่างคนในครอบครัวจึงควรทำความเข้าใจกับบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไปด้วย

ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมอารมณ์ มาจาก 3 ส่วน ส่วนหนึ่งคือปัจจัยด้านชีวภาพ เช่น สารสื่อประสาทเริ่มเปลี่ยน คนสมองเสื่อมสองคนก็อาจมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงในสมองที่ไม่เหมือนกัน สำหรับด้านนี้มักจะต้องใช้ยาในการควบคุม

ด้านที่สองคือปัจจัยด้านจิตสังคม คือทักษะสังคมที่ลดลงเพราะไม่สามารถสื่อสารความต้องการของตัวเองออกมาได้ เช่น ผู้ป่วยอาจจะรู้สึกร้อนมาก จึงถอดเสื้อผ้าเลยทั้งๆ ที่ยังมีแขกอยู่ในบ้าน เพราะไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองออกมาได้ว่าเขาร้อน

ปัจจัยอีกด้านหนึ่งคือปัจจัยภายนอก อย่างสิ่งแวดล้อม โดยอาจเกิดจากการกระตุ้นของผู้ดูแล เช่น ผู้ดูแลบางคนอาจต้องการให้คนไข้กลับมาสู่ความปกติทันที

“บางคนผู้ดูแลต้องการให้คนไข้ปรับเปลี่ยนกลับมาสู่ความปกติ เช่น บอกว่า เอ๊ะ พฤติกรรมอย่างนี้มันไม่ถูกนะ จริงๆ ต้องทำอย่างนี้ โดยปกติก็มักจะต้องถามกับผู้ดูแลว่าถ้าเปลี่ยนแปลงคนที่สมองเสื่อมกับคนที่สมองปกติ คิดว่าควรจะเปลี่ยนแปลงใคร คนที่สมองเสื่อมเนี่ย ถ้าเราหวังว่าจะไปเปลี่ยนแปลงให้เขาคิดให้ถูก มันมักจะไม่เกิดขึ้น”

สิ่งแวดล้อมบางอย่างก็อาจทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย เช่น แสงไฟที่ไม่ค่อยเพียงพอ หรือการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในบ้านบ่อยๆ การย้ายเฟอร์นิเจอร์ ทาสีบ้านใหม่ หรือย้ายที่นอนบ่อยๆ ไปต่างจังหวัด หรือย้ายไปอยู่บ้��นลูกอีกคน คนไข้บางคนก็อาจจะสับสนได้ง่าย

DSC05631.JPG
  • ศ.นพ. วีรศักดิ์ เมืองไพศาล คลินิกผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

สำหรับปัจจัยด้านนี้ ผู้ที่ควรจะแก้จึงควรจะเป็นผู้ดูแลมากกว่า เนื่องจากผู้ที่มีอาการสมองเสื่อมแล้วจะแก้ด้วยตัวเองค่อนข้างยาก ไม่อยู่ในสถานภาพที่จะสามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้ง่ายๆ บางทีคนไข้อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองระแวง ไม่รับรู้ว่าตัวเองหงุดหงิด ฉะนั้นผู้ดูแลจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเรื่องการปรับเปลี่ยน

เมื่อบุคลิกเปลี่ยนไป แม้แต่คนใกล้ชิดก็อาจจะถูกหลงลืม ในบางครั้งอาจทำให้ผู้ดูแลรู้สึกเหน็ดเหนื่อย เสียใจ ว่าคนไข้ไม่ใช่คนเดิมที่เคยรู้จัก แต่ศ.นพ. วีรศักดิ์ ก็ย้ำเตือนว่าถึงแม้คนไข้สมองเสื่อมจะมีความสามารถดถอยไปบ้าง แต่เขาก็ยังเป็นคนๆ เดิม เพียงแต่อาจจะต้องได้รับความเข้าใจที่มากขึ้น

“จริงๆ เขาก็คนเดิมนะครับ เพียงแต่ว่าเขาแค่จะเป็นคนที่หลงลืม จำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้ บางครั้งญาติอาจจะรู้สึกค่อนข้างจะกระทบกับจิตใจมากเมื่อเขาเริ่มจำญาติไม่ได้ ก็จะรู้สึกว่าเขาเปลี่ยนไปมากนะครับ แต่จริงๆ เขาคือคนเดิม เพียงแต่ว่าความสามารถของเขาถดถอยไป ไม่เพียงแค่ความสามารถในการทำกิจวัตร อาบน้ำ แต่งตัว เคลื่อนไหว มันเป็นความสามารถในการคิด การจำ ต่างๆ เขาถดถอยไป แต่เขาคือคนเดิม”