ไม่พบผลการค้นหา
กลายเป็นประเด็นที่กำลังคุกกรุ่นในแวดวงการศึกษาของไทย สำหรับ 'TCAS' ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย ที่เริ่มใช้เป็นปีแรก เสียงวิพากษ์วิจารณ์มีในหลายแง่หลายมุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยุติธรรม ค่าใช้จ่าย กั๊กที่นั่ง ระบบล่ม แล้วอย่างนี้ 'TCAS' จะได้ไปต่อได้หรือไม่

เสียงสะท้อนจากนักเรียนที่กำลังเขย่าแวดวงการศึกษาของไทย หลังระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาแบบใหม่ Thai University Central Admission System หรือ TCAS 61 ที่เริ่มใช้เป็นปีแรก

โดยรูปแบบการคัดเลือกระบบนี้แบ่งออกเป็น 5 รอบ

  • รอบที่ 1 การรับด้วยแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)
  • รอบที่ 2 การรับแบบโควตา
  • รอบที่ 3 การรับตรงร่วมกัน
  • รอบที่ 4 การรับแบบ Admission และ
  • รอบที่ 5 การรับตรงแบบอิสระ  

ผลปรากฏว่าเมื่อดำเนินการมาถึงรอบที่ 3 กับพบปัญหาสารพัด ตั้งแต่เว็บล่มในวันรับสมัคร รวมไปถึงล่าสุดเกิดข้อกังวลของเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง ถึงความไม่เป็นธรรมในระบบ TCAS รอบที่ 3 ซึ่งนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 4 แห่ง โดยส่วนใหญ่มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นักเรียนที่มีคะแนนสูง เกิดการกั๊กที่นั่งในสถาบันอุดมศึกษา ส่งผลให้เด็กนักเรียนคนอื่นเสียสิทธิพลาดโอกาส 

เรื่องนี้ร้อนถึงที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) นัดประชุมด่วน เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ผลสรุปว่าจะแก้ไขปัญหาโดยการแบ่งการยืนยันสิทธิ์ออกเป็น 2 รอบคือ 3/1 และ 3/2 โดยให้มีการสอบสัมภาษณ์พร้อมกัน ระหว่างวันที่ 10-11 มิ.ย. 2561

ทั้งนี้ การสละสิทธิ์สาขาวิชาที่ได้รับสิทธิในรอบ 3/1 นักเรียนจะไม่มีสิทธิในการเลือกสาขาวิชานั้นๆ อีก ในรอบ 3/2 แต่จะมีสิทธิเลือกสาขาวิชาที่มีการคัดเลือกเพิ่มเติมใน 3/2 ตามจำนวนที่ตนเองไม่ได้รับการคัดเลือกมาก่อนแล้วเท่านั้น 

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนความเห็นว่า ระบบดังกล่าวถือเป็นความตั้งใจดีของ ทปอ. ที่ต้องการแก้ไขปัญหาไม่ให้เด็กจำนวนหนึ่งต้องวิ่งสอบตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำให้รบกวนระบบการศึกษาในโรงเรียน รวมถึงเป็นความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่ปรากฎพอใช้จริงกลับต้องมาเจอปัญหาใหม่ และแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนขึ้น


"การให้เด็กเลือกได้ 4 สาขาวิชา ทำให้เด็กกลุ่มเก่งมีโอกาสได้ทุกที่ที่ตัวเองยื่นไว้ เป็นการไปกั๊กที่นั่งของเด็กกลุ่มกลาง แต่ตอนนี้มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการยืนยันสิทธิ์ 2 รอบ อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ก็ต้องติดตามต่อไป เนื่องจากระบบนี้ไม่ได้ถูกคิดมาตั้งแต่ต้น จึงยังไม่ชัดเจนว่าจะนำไปสู่การปรับปรุงในการสอบปีต่อๆ ไปหรือไม่" ผศ.อรรถพล ระบุ


ขณะเดียวกัน การให้เด็กนักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชายังทำเด็กที่มีคะแนนสูงๆ เลือกคณะแบบกระจัดกระจาย แสดงให้เห็นว่าเด็กเก่งๆ ยังไม่รู้จักตัวเองจึงหว่านไปหมด สะท้อนความล้มเหลวการจัดแนะแนวในโรงเรียน ที่ทำให้เด็กแทงกั๊กอย่างเดียว ไม่เข้าใจว่าตัวเองถนัดอะไร ไม่ถนัดอะไร 


ปัญหาหนึ่งที่ชัดเจนมากคือการคิดแบบ Top Down จากกลุ่มผู้ใหญ่ในการมองระบบและออกแบบระบบ โดยไม่ได้เอาเด็กเป็นตัวตั้ง เพราะการยื่นสอบ 5 รอบมีผลต่อจิตใจผู้สอบ เพราะบางคนยื่นแล้ว เพื่อนได้ที่เรียนแล้ว เรายังไม่ได้ มันไม่ได้เป็นแค่ความทุกข์ของเด็กเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลให้พ่อและแม่ต้องทุกข์ไปด้วย


"ถ้าเขาไม่รับฟังจากสาธารณะเลย ไม่ฟังข้อเสนอแนะจากคนที่เข้ามาทดลองใช้ระบบ ระบบไม่มีทางถูกออกแบบมาได้ตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งนโยบายการจัดการการศึกษาที่ผ่านมามักเป็นแบบนั้น คือคิดจากที่ประชุมช่วยกันออกแบบ ทดลองเล็กๆ แล้วประกาศใช้ ตราบใดที่ไม่ใช่เด็กที่ต้องมาตะลุยสอบเอง ไม่ได้อยู่หน้างาน จะไม่มีทางเข้าใจว่าจะกระทบต่อคนใช้ระบบอย่างไร แล้วสุดท้ายก็กลับมาที่โจทย์เดิม คือ ตราบใดที่ไม่สร้างการมีส่วนร่วมความเข้าใจร่วมกัน นโยบายใดๆ มันก็จะไม่เกิดผลในเชิงบวก" อาจารย์อรรถพล แนะเตือน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเชื่อว่าเป็นบทเรียนสำคัญอีกครั้งของระบบการศึกษาไทย การปฏิสัมพันธ์กับสาธารณะ (public engagement) หรือ การสื่อสารกับสาธารณะ (public communication) คือหัวใจสำคัญของทุกนโยบาย ดังนั้นตอนสร้างระบบต้องให้กลุ่มเป้าหมายเข้ามามีส่วนร่วมด้วย 

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายภาพ ระบบ TCAS อย่างน่าสนใจว่า มีข้อเสียมากกว่าข้อดี ถ้าหากมองในมุมของมหาวิทยาลัยจะถือว่าได้ประโยชน์จากการสอบครั้งนี้มาก เพราะปัญหาขณะนี้คือ จำนวนเด็กลดลง การสอบที่มีถึง 5 รอบ จะเป็นการกรองเด็กนักเรียนให้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้จำนวนที่ต้องการ รวมไปถึงเรื่องรายได้ หรือผลประโยชน์อื่นๆ 

แต่หากเป็นด้านสังคม ตัวเด็กนักเรียนหรือครอบครัว เหมือนมหาวิทยาลัยจะยังไม่เข้าใจประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เราไม่จำเป็นต้องสอบถึง 5 รอบมากมายขนาดนี้ มหาวิทยาลัยควรจะรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก ของสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 


"ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม มหาวิทยาลัยเอกชน หรือมหาวิทยาราชภัฎ ต้องรับรู้ร่วมกัน เพราะโจทย์ปัญหาเรื่อง TCAS ไม่ใช่โจทย์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นปัญหาร่วมที่จะต้องช่วยกันวิจารณ์ หรือ เสนอแนะ และช่วยกันแก้ไข ผมจึงคิดว่า TCAS จะใช้แค่เพียงปีเดียว"


ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวเสริมอีกว่า ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ มันไม่ได้แก้ไขโดยการสอบได้อย่างเดียว เด็กบางคนใช้เรื่องการสอบขั้นสูงสุดถึง 40 คอร์ส และเด็กบางคนแค่ 2-3 คอร์ส บางคนยื่นได้หลายรอบ บางคนยื่นได้รอบเดียว มันแสดงถึงโอกาสในการเข้าถึง ยืนอยู่บนความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น TCAS อย่าตอบโจทย์หลายเรื่องในเวลาเดียวกัน  

เรื่องที่เกิดขึ้นยืนยันว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัย 2 ครั้งเป็นจำนวนที่เพียงพอ หรือจะใช้ระบบรับตรง 9 สาระวิชา หรือ แอดมิชชั่น ให้สอบอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ให้สอบ 2 รอบ เพื่อให้โอกาสเด็ก และกันเด็กพลาด ส่วนจำนวนรายวิชาไม่ต้องถึง 22-25 รายวิชา สมัยก่อนสอบกัน 5-7 วิชา แต่ทำไมตอนนี้เราต้องสอบกันถึง 22-25 รายวิชา สอบถึง 5 รอบ 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้วงการการศึกษาขณะนี้เต็มไปด้วยความประหวั่นพรั่นพรึง ความไม่แน่นอน ความวิตก เป็นความเครียดสะสมยาวนาน มีผลด้านจิตใจของเด็กนักเรียนมาก ซึ่งจะส่งผลระยะยาว ตรงนี้ต้องระมัดระวังมหาวิทยาลัยควรจะออกมาเยียวยากันมากกว่านี้

ศ.ดร.สมพงษ์ แนะนำว่า ควรเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ควรเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำด้วยซ้ำ เพราะว่าเวลาที่มีการสอบเข้ามามหาวิทยาลัย มันเป็น ‘ค ขวด’ ทางการศึกษา ที่ผ่านมาคนที่คิดเรื่องระบบ ก็จะเป็น ทปอ. ซึ่งมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องต่ำมาก มันจะถูกกำหนดจากที่ประชุมเยอะมาก 

ท้ายที่สุด ทาง ทปอ.ควรออกมาทำงานในเรื่องประชาพิจารณ์ การพูดคุย การเก็บข้อมูล การค้นข้อมูล การทำวิจัยก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่เช่นนั้นแล้ว จะเป็นการยึดเอาแต่สถาบันหรือองค์กรของตัวเองว่า ต้องมีการสอบแบบนี้ ต้องการจำนวนนิสิต นักศึกษาเท่านี้ แต่ไม่ได้มองถึงปัจจัยพื้นฐานว่าจะเกิดผลอย่างไรขึ้นกับ ‘ค ขวด’ จะเกิดปัจจัยใดกับคุณภาพชีวิตของเด็ก เงินที่พ่อแม่ต้องเก็บออมแล้วไปใช้จ่ายกับเรื่องพวกนี้ กระทบต่อครอบครัวมากน้อยแค่ไหน


อ่านเพิ่มเติม