ไม่พบผลการค้นหา
CIA เปิดเผยรายละเอียดการคุมขังนักโทษอัลกออิดะห์ในคุกลับในประเทศไทย ขณะที่วันที่ 9 พฤษภาคมนี้ ว่าที่ผอ. CIA ซึ่งเคยควบคุมคุกลับดังกล่าวจะต้องเข้ารับการอภิปรายในวุฒิสภาว่าเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่

จินา แฮสเปล ได้รับการเสนอชื่อจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือ CIA แทนนายไมค์ ปอมเปโอ ที่ถูกดึงตัวไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศแทนนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ที่ถูกปลดจากตำแหน่ง แม้ว่าจะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเธอมีประวัติด่างพร้อยจากการมีส่วนในการบริหาร "Black Sites" หรือคุกลับในไทย จนกระทั่งแฮสเปลขอถอนตัวจากตำแหน่ง แต่นายทรัมป์ก็ยืนยันว่าเธอเหมาะสม เพราะทำงานใน CIA มานานกว่า 30 ปี โดยมีผลงานที่น่าชื่นชมมากมาย +

AP18124751933690.jpg

จินา แฮสเปล จะเป็นผู้อำนวยการ CIA คนแรกที่เป็นผู้หญิง หากเธอผ่านการอภิปรายซํกถามจากกรรมาธิการวุฒิสภา

ในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ แฮสเปลจะต้องเข้ารับการอธิปรายในวุฒิสภาตามขั้นตอน ซึ่งเธอจะต้องตอบคำถามเรื่องบทบาทในการบริหารคุกลับ รวมถึงการปกปิดข้อมูลของปฏิบัติการดังกล่าวเมื่อคุกถูกปิดไปแล้ว เนื่องจาก Black Sites ของ CIA ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นปฏิบัติการที่ขัดต่อกฎหมายสหรัฐฯ และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล มีการทรมานนักโทษ และกักขังโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน และไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามระยะเวลาอันควร

ก่อนหน้านี้ไม่นาน CIA ได้ปลดสถานะความลับเอกสารหลายชุดที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการกักขังนักโทษรายสำคัญ คือนายอับด์ อัล-ราฮิม อัล-นาชิรี สมาชิกอัลกออิดะห์ซึ่งอยู่ในการดูแลของฮาสเพลในระหว่างถูกคุมขังในคุกลับที่ประเทศไทย

อ่านเอกสารฉบับเต็มได้ ที่นี่

นาชิรีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการวางระเบิดเรือรบ USS Cole ในเยเมนเมื่อปี 2000 เขาถูกจับในดูไบเมื่อปี 2002 และถูกส่งตัวให้ CIA ซึ่งนำตัวเขาไปยังอัฟกานิสถาน ก่อนจะถูกส่งมายังคุกลับชื่อ "Cat's Eye" ในไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2002 แต่เอกสารไม่ได้ลำดับเวลาอย่างละเอียด จึงไม่สามารถระบุลำดับเหตุการณ์ที่แน่นอนที่นาชิรีถูกควบคุมตัวอยู่ในไทยจนกระทั่งถูกส่งไปยังคุกลับอีกแห่งที่โปแลนด์ได้ แต่รายงานการสอบสวนระบุว่าการ "สอบปากคำอย่างเข้มข้น" เริ่มต้นทันทีที่เขามาถึงไทย และนาชิรีถูกทรมานด้วยวิธี "วอเทอร์บอร์ด" อย่างน้อยถึง 3 ครั้งระหว่างอยู่ในคุกลับแห่งนี้ 

นอกจากนี้ ในเอกสารยังระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้วิธีรุนแรงในการสอบสวนนาชิรีได้ หากเห็นว่าจำเป็น และมีการบันทึกอย่างชัดเจนว่าครั้งหนึ่งเขาปฏิเสธที่จะให้การว่าตนเองทำอะไรอยู่ในเดือนเมษายน 2002 หลังจากปฏิบัติการวางระเบิดเรือขนส่งน้ำมันในช่องแคบฮอร์มุซถูกยกเลิกไป เจ้าหน้าที่จึงจับเขายัดใส่กล่องเล็กแคบ เพื่อให้เขา "พิจารณาให้ดีว่าอยากพูดอะไร"

นาชิรียังถูกทรมานด้วยวิธี "Walling" ซึ่งหมายถึงการจับนักโทษใส่ปลอกคอหรือคล้องคอไว้ด้วยผ้า แล้วจับไหล่นักโทษกระแทกกับกำแพงที่ยืดหยุ่นพิเศษเพื่อลดแรงกระแทก แต่ทำให้นักโทษรู้สึกเหมือนตนเองถูกกระแทกอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยา และเมื่อเขายังไม่ได้ให้ความร่วมมือ ก็ถูกขู่ฆ่า และ CIA ถึงกับพยายามจัดฉากว่ามีการพยายามจู่โจมเพื่อสังหารนาชิรี แต่เจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเขาไว้ได้ เพื่อให้นาชิรีเกิดความไว้ใจและให้ความร่วมมือกับผู้สอบสวนมากขึ้น แต่เมื่อเขายังคงไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลใดๆ เจ้าหน้าที่จึงขู่ว่าเขาจะต้องถูกส่งตัวไปยังสถานที่ที่เลวร้ายกว่าเรือนจำแห่งนี้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: