ไม่พบผลการค้นหา
สรรพากรโต้นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ตั้งข้อสังเกตถึงมาตรการช็อปช่วยชาติ ชี้มีคนใช้สิทธิกว่า 1.4 ล้านคน มีทุกระดับอัตราภาษี

ตามที่ ศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งข้อสังเกตถึงมาตรการช็อปช่วยชาติ (13 พ.ย.- 3 ธ.ค. 2560) ในประเด็นดังนี้

1. ผลของมาตรการช็อปช่วยชาติต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ เม็ดเงินสะพัด ไม่ถึง 10,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายที่ต้องจ่ายตามปรกติอยู่แล้ว ซึ่งอาจทำให้เกิดการชะลอการบริโภคในระยะต่อไป

2. ประชาชนที่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ เป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างจำกัด โดยเป็นผู้เสียภาษีในอัตราภาษี 20% ขึ้นไปซึ่งเป็นกลุ่มคนเพียง 7% ของผู้ยื่นแบบเสียภาษี

กรมสรรพากร ขอเรียนว่า

1. จากข้อมูลการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2559 (มาตรการช็อปช่วยชาติ) พบว่ามีผู้ใช้มาตรการดังกล่าวจำนวนมากกว่า 1.4 ล้านราย คิดเป็นจำนวนเงินที่ใช้สิทธิมากกว่า 14,000 ล้านบาท โดยมีผู้ใช้มาตรการนี้ในทุกระดับอัตราภาษี ทั้งนี้ จำนวนผู้ใช้สิทธิในมาตรการนี้และเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 20 นั้น มีจำนวนสูงกว่าผู้ใช้สิทธิและเสียภาษีในอัตราตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไป ซึ่งกรมสรรพากรคาดว่า มาตรการช็อปช่วยชาติในปี 2560 จะได้รับผลตอบรับดีกว่าปีก่อน โดยอาจต้องรอดูข้อมูลการบริโภคภายในประเทศต่อไป

2.การออกมาตรการนี้เป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดา ซึ่งจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ดี มาตรการนี้จะส่งเสริมให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคที่มีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้า แม้ว่าจะไม่ได้ใช้ลดหย่อนก็ตาม อีกทั้งยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคของการอยู่ในระบบภาษีอากร อันจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ทั้งนี้ ในการกำหนดมาตรการภาษีในแต่ละครั้งนั้น กรมสรรพากรได้พิจารณาถึงความคุ้มค่า ความเหมาะสม และผลกระทบ จากการกำหนดมาตรการภาษีแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ประเมินผล 'ช็อปช่วยชาติ' เงินสะพัดไม่ถึงหมื่นล้าน

คลังคาดช็อปช่วยชาติกระตุ้น ศก. 2 หมื่นล้าน