ไม่พบผลการค้นหา
มองยาวๆ กับบทสัมภาษณ์ยาวๆ อ่านมุมคิดสื่อรุ่นใหญ่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ทำไมเขาถึง “ไม่กลัว” เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงการสื่อสารอย่างถึงรากถึงโคน

“ขรรค์ชัย บุนปาน” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เคยมีวาทะเปรียบเทียบการเปลี่ยนผ่านการทำหนังสือพิมพ์ ไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ด้วยการกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านจาก “สื่อกระดาษ” (หนังสือพิมพ์) และการมาถึงของ “สื่อกระจก” (เวบไซต์ข่าว) ในยุคตั้งต้นเวบไซต์ข่าวออนไลน์ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และนั้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของเครือมติชน ที่จะปรับตัวและขยับไปให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

มาถึงวันนี้ ในปี 2561 เมื่อคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี 3G / 4G มากกว่า 10 ปีก่อน อุตสาหกรรมที่ถูก Disrupt ถูกเทคโนโลยีเข้าแทรกแซง และถูกเขย่าขวัญมากที่สุดแขนงหนึ่ง คือ “สื่อสารมวลชน”

“วอยซ์ ออนไลน์” ชวน “ฐากูร บุนปาน” หลานชายขรรค์ชัย และปัจจุบันทำหน้าที่กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) มองทิศทางอุตสาหกรรมสื่อไทยในช่วงเปลี่ยนผ่าน และการขับเคี่ยวทางธุรกิจ เพื่อรักษาคุณภาพงานสื่อสารมวลชน ในยุคที่มีความท้าทายอย่างยิ่งนี้

ยุคที่ธุรกิจสื่อกำลังเปลี่ยนผ่าน “มติชน” ถือว่าปรับตัวเร็วกว่าคนอื่นไหม

ผมว่าไม่มีใครฉลาดกว่าใคร หรือใครโง่กว่าใครในตลาด แต่ที่มาที่ไปของแต่ละคน ปัจจัยที่มา ต้นทุนความถนัด ซึ่งหมายถึงความรู้ ความเอาใจใส่ ทิศทางนโยบายของแต่ละค่ายทำให้มองคนละมุมได้ และอาจโชคดีที่เครือมติชนไม่ได้เข้าประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งทำให้เราทุ่มความสนใจและโฟกัสไปที่ออนไลน์ได้มากขึ้น

อีกอย่างคือ ในฐานะคนทำสื่อ อาชีพสื่อ มันสอนเรื่องสำคัญอันหนึ่งคือ เราต้องเคารพข้อเท็จจริง และหลายปีที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงบอกเราว่า สิ่งพิมพ์ไปไม่ไหวแล้ว จากที่เราเคยขายหนังสือพิมพ์ทุกหัวในเครือรวมกันวันละ 2.2 ล้านฉบับ วันนี้มันเหลือเพียง 1.1 ล้านฉบับ มันหายไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งเวลายอดพิมพ์หายไปครึ่งหนึ่งต้นทุนไม่ได้ขึ้นเพียง 1 เท่า แต่มันขึ้นถึง 3 เท่า เพราะเรายังต้องส่งหนังสือพิมพ์ 1,000 จุดทั่วประเทศ ต้องใช้รถ ใช้น้ำมัน ใช้คนขับเท่าเดิม ขณะที่จำนวนสินค้าต่อจุดลดลง ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้ไม่ได้เกิดกับมติชนเครือเดียว แต่เกิดทั้งประเทศและทั่วโลก หนังสือพิมพ์ในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่การอ่านเข้มแข็งก็ถูก disrupt ไปก่อนเราแล้ว


080118_Thakoon-01.jpg


ดังนั้น เมื่อเห็นอยู่แล้วว่าข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ คำถามคือ แล้วคุณจะเอาอย่างไร จะเดินทางไหน ย้อนไปเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว มันก็มีทางเดินอยู่ 2-3 ทาง ตอนนั้นไม่มีใครคิดหรอกว่า ดิจิทัลจะโตกระโดดพรวดพราดขนาดนี้ วันนั้น คนใช้เฟซบุ๊กในเมืองไทยยังมีแค่ 2 ล้านบัญชีกว่าๆ แต่วันนี้ ผ่านมา 6 ปีเท่านั้น คนไทยใช้เฟซบุ๊ค 44 ล้านบัญชี มันเพิ่มขึ้นมา 22 เท่า หรือกว่า 2,000% และเมื่อ 5-6 ปีก่อน คนอ่านเวบข่าวในเมืองไทยมีประมาณ 1-2 ล้านคน แต่วันนี้มีเฉลี่ย 14-15 ล้านคน เพิ่มเป็น 7 เท่า

ดังนั้น เมื่อย้อนคิดกลับไป วันนั้นมีทางเลือก 2 ทางคือ หนึ่ง ทำสื่อคุ้นเคยคือเปลี่ยนจากกระดาษไปเป็นทีวี หรือ วิทยุที่มีอยู่ กับอีกทางคือ ไปทำของใหม่ คือ ดิจิทัล ที่มันดูขมุกขมัว ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่า เมื่อไร และเท่าไร แต่รู้ว่ามันมาแน่ ซึ่งในทางธุรกิจ การไม่รู้ 2 เรื่องนี้ มันก็เสี่ยงพอสมควร เพราะมันคะเนต้นทุนไม่ได้

จริงๆ แล้ว อะไรเป็นเหตุผลที่เครือมติชน ไม่เข้าประมูลทีวีดิจิทัล

เอาจริงๆ นะ นาทีนั้น มันไม่มีทางเลือก การที่เครือมติชนไม่เลือกเข้าประมูลทีวีดิจิทัล เพราะคิดเลขไม่ออกว่า จากเดิมมีทีวี 4 ช่อง สมมติโฆษณามี 100 บาท อยู่ๆ เพิ่มทีวีเป็น 24 ช่อง ถามว่าเม็ดเงินโฆษณา คูณ 6 กลายเป็น 600 มั้ย มันก็ไม่ใช่ แต่มันก็ยัง 100 บาทเท่าเดิม แล้วถามว่า 2 เจ้าใหญ่ คือ ช่อง 7 และ ช่อง 3 ที่ควบคุมส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อยู่ 80% เขาก็ไม่ได้เอามือซุกหีบ งอมืองอเท้า เขายังแอคทีฟเหมือนเดิม ดังนั้นมันจึงกลายเป็นว่า มี 22 ช่องแข่งกันกินมาร์เก็ตแชร์ 20% และผมจะไปแข่งอะไรกับเขาได้ ด้วยเหตุนี้ เครือมติชนจึงต้องมาทางนี้ ทางดิจิทัล ซึ่งมันจะเรียกว่า โชคดี หรือ มาก่อน หรืออะไรก็ตาม มันก็อย่างที่เห็น มันก็เจริญเติบโตงอกงามมาเรื่อย

ความท้าทายของสื่อดิจิทัลในวันนี้คืออะไร

ก็อย่างที่ทุกคนเห็น คือทุกคนกระโดดเข้ามาที่ดิจิทัลกันหมด เข้ามาอยู่ในสนามเดียวกันอีกแล้ว มันก็เป็นการเปลี่ยนจากสนามรบหนึ่ง มาอีกสนามรบหนึ่ง เราก็อุตส่าห์มาก่อน เขาก็ตามมาทันแล้ว เรื่องนี้ไม่มีใครโง่ ใครฉลาดกว่าใคร แต่คุณจะเดินนำหน้าเขาต่อไปอย่างไร อันนี้เป็นโจทย์ที่ต้องคุยกันข้างใน

อย่างที่สองคือ มันยังมีส่วนต่าง มีแก็ประหว่างจำนวนทราฟฟิกกับรายได้ ซึ่งอาจจะเป็นด้วยตลาดยังไม่คุ้นชิน หรือเราเองยังไม่เก่งพอในเรื่องการหารายได้อย่างนี้ เพราะเมื่อเทียบกับแบบเดิม สมมติขายหนังสือพิมพ์ได้วันละ 4 แสนเล่ม ได้รายได้ 100 วันนี้ เฉพาะ 7 เวบไซต์ในเครือมติชน มีคนอ่านคนดู 2 ล้านคนต่อวัน มีคนดูไลฟ์ ดูคลิปอีก 8 ล้านคน วันนี้เรามีลูกค้า 10 ล้านคน แต่รายได้ก็ยัง 100 เท่าเดิม ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่า มันเป็นปัญหาของตลาด ที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน หรือเป็นปัญหาความสามารถของเราเอง อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาส่วนนี้มันก็ขยายตัวเร็ว แต่มันได้แค่ชดเชยกับส่วนที่หายไป จากช่วง 1-2 ปีแรกชดเชยไม่ได้ด้วยซ้ำ เพิ่งมาปีที่ 3-4 นี่แหละที่พอได้ และดูท่าทีว่าปี 2561 มันก็มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ดังนั้น ความท้าทายของเราคือ ต้องจัดการกับตลาดให้ได้ และต้องจัดการกับตัวเราเองข้างในด้วย

5-10 ปีข้างหน้า จะเห็นเครือมติชนเป็นอย่างไรได้บ้าง

จริงๆ ชีวิต หรือธุรกิจมันเหมือนกัน เป้าหมายสูงสุดของมันคือ การอยู่รอด แต่ในแง่องค์กรมันมีมากกว่าชีวิตปกติ โดยเฉพาะองค์กรสื่อ มันต้องมีหลักยึด การอยู่รอดเฉยๆ ก็ไม่ได้ แต่ต้องอยู่รอดแบบสง่าผ่าเผย ซึ่งไม่ได้แปลว่า กำไรมหาศาล แต่หมายความว่า คุณยังเป็นที่น่าเชื่อถือ ถ้าเป็นบริษัทผลิตน้ำ คุณต้องถามตัวเองว่า จะยังเป็นคนผลิตน้ำบริสุทธิ์ สะอาดอยู่รึเปล่า ขณะที่ในอีกซีกหนึ่ง ในทางธุรกิจ คุณก็ต้องอยู่ได้ด้วย ไม่ใช่ผลิตน้ำบริสุทธิ์สะอาด แต่ธุรกิจร่อแร่ๆ มันก็ไม่ไหว


080118_Thakoon-02.jpg

เรื่องเหล่านี้มันเป็นโจทย์ที่ต้องเดินคู่กันและการปรับตัวทั้งหมดของเครือมติชน ต้องเป็นไปเพื่อตอบสนองเป้าหมายหลัก 2 อย่าง คือ หนึ่ง เพื่อเอื้อให้สามารถผลิตเนื้อหาคุณภาพให้เหมือนเดิมหรือดียิ่งขึ้นกว่าเดิมต่อๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นด้วยรูปแบบไหน นักข่าวจะไม่ใช่แค่คนที่เขียนหนังสือพิมพ์ได้เท่านั้น อีกต่อไปแล้ว แต่คุณต้องเป็นกึ่งๆ ช่างภาพ ต้องรู้จักโปรแกรมตัดต่อ ต้องสามารถยื่นโทรศัพท์มือถือไปที่ท่านนายกฯ ขณะที่เขาแว๊กใส่ได้ เพราะการที่ท่านแว๊กเพียงครั้งเดียวเนี่ย คนดูเยอะกว่าข่าวที่คุณเขียนประมาณ 10 เท่า

ในฐานะคนบริหารธุรกิจสื่อจึงต้องจัดการเรื่องคุณภาพให้ได้ และต้องแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ จากความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ 2 อันนี้ต้องเดินคู่กัน และกระบวนการปรับตัวทั้งหมดต้องเดินไปเพื่อตอบสนองเป้าหมาย 2 อย่างนี้ โดยอย่างแรกคุณภาพต้องมาก่อน เพราะการทำสื่อ ถ้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีความน่าเชื่อถือ คุณจะอยู่ได้ไม่นาน จะขึ้นมาแป็บเดียว เดี๋ยวก็ต้องมีอันเป็นไป

ด้วยพฤติกรรมคนอ่านยุคนี้ ในอนาคตอาจทำให้บางหัวหนังสือพิมพ์ในเครือต้องออกจากตลาดไปหรือไม่

ถ้าดูตอนนี้ ก็ยังไม่มีนะครับ และเราต้องดูที่ข้อเท็จจริงทั้งตัวเลขการขาย รายได้ มันเป็นตัวบอกเราว่า ผู้อ่าน ผู้ชมต้องการอะไร เรามีหน้าที่ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้อ่านผู้ชม โดยต้องคงคุณค่าหลัก (core value) ของเราเอาไว้ อย่างที่บอกว่า ผลิตน้ำให้ดี ส่วนจะขายน้ำในรูปแบบเป็นขวด ขายน้ำเป็นถัง ขายผ่านท่อ กลั้นสดทางอากาศ จะใช้วิธีอย่างไร มันก็ปรับไปตามเทคโนโลยีและรสนิยมของตลาด แต่สิ่งสำคัญคือ น้ำต้องดีก่อน ผมไม่เชื่อว่าสิ่งพิมพ์จะตาย แต่มันต้องปรับเปลี่ยน เปลี่ยนรูป ต้องเปลี่ยนทั้งหน้าตา การนำเสนอ และคอนเทนต์ของมันให้สอดและรับกัน

มีตัวอย่างหนึ่งน่าสนใจ ในวันที่อินเทอร์เน็ตบุกญี่ปุ่น หนังสือพิมพ์โยมิอูริชิมบุน ซึ่งเคยพิมพ์วันละ 16 ล้านฉบับ โดนอย่างจัง ยอดพิมพ์ตกรูดเหลือวันละ 10 ล้านฉบับ และระหว่างทางที่ตก เขาก็ปรับแก้ โดยตั้งสำนักข่าวออนไลน์ขึ้นมา ทำงานคู่ขนานกับหนังสือพิมพ์ ปรับการทำงานกับหนังสือพิมพ์ ทำคล้ายๆ กับที่นิวยอร์ก ไทม์ส ทำ กระทั่งวันนี้ เวบเบอร์ 1 ของญี่ปุ่น คือ เวบไซต์ของโยมิอูริชิมบุน ซึ่งเป็นเวบข่าว และคือการจัดอันดับรวมกับทุกเวบไซต์ในญี่ปุ่น ขณะที่ธุรกิจหนังสือพิมพ์ของเขาที่ปรับตัวแล้ว วันนี้ก็กลับมาพิมพ์ได้วันละ 12 ล้านฉบับ ซึ่งมันมีรีบราวน์ได้ด้วย

แล้วเราก็เห็นอะไรคล้ายๆ กันอย่างนี้ ในตลาดสหรัฐฯ จากที่ธุรกิจหนังสือพิมพ์เซไปพักหนึ่ง แต่เมื่อกลางปี 2559 นิวยอร์ก ไทม์ส แถลงอย่างภาคภูมิใจว่า เขามีคนดูแซง BuzzFeed และ Huffington Post ซึ่งเกิดจากเขารู้จักปรับตัวกับดิจิทัล และตั้งหลักได้ แล้วมาแก้ไขปรับปรุง ซึ่งทำให้วันนี้หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สก็ยังอยู่ เข้มขึ้น ดุขึ้น ข้อมูลแน่นด้วย ดังนั้นเราก็ต้องอยู่ร่วมกันได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

สำหรับประเทศไทย ผมคาดว่า ภายใน 20 ปีต่อจากนี้ คนอ่านหนังสือพิมพ์ไม่มีหมดไปหรอก เพราะสังคมไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมสูงวัย อีก 7 ปีข้างหน้า เราจะมีคนอายุเกิน 60 ปี ในสัดส่วน 25% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นฐานอันมั่นคงของหนังสือพิมพ์

ตำแหน่งทางธุรกิจของมติชนตอนนี้คืออะไร

เราต้องเป็น content provider (ผู้ผลิตข่าวสาร เนื้อหาต่างๆ) เพราะทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของสื่อ คือ คอนเทนต์

เดินมาถึงวันนี้แล้วเครือมติชนยังต้องเหนื่อยกับสมรภูมิใหม่ๆ นี้อยู่ไหม

เหนื่อยสิครับ ไม่มีไม่เหนื่อยหรอก เพราะวันนี้สนามรบมันเปลี่ยนแล้ว ตอนทำหนังสือพิมพ์ คุณรบกันเองในประเทศ จิกกัดตบตีกันในประเทศ แต่วันนี้ ง่ายๆ เลย คุณจะไปเอาส่วนแบ่งรายได้โฆษณาดิจิทัลคืนจากกูเกิล เฟซบุ๊ค อย่างไร

ขณะที่ด้านหนึ่ง คุณก็จับมือกันอยู่ช่วยกันทำธุรกิจ พัฒนาอย่างอื่นอยู่ แต่อีกมือหนึ่งคุณต้องถือดาบฟาดฟันกันไป เหมือนในภาพยนตร์แกลดิเอเตอร์ ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ ฝีมือหรือความสามารถของคุณต้องพอฟัดพอเหวี่ยงกับเขา ถ้าคุณเป็นหมู คุณก็จะถูกเขาเชือดตลอด แล้วถึงไม่มีกูเกิล เฟซบุ๊ค มันก็มีผู้เล่นระดับโลกรายอื่นอยู่ดี เช่น อาลีบาบา เทนเซนต์ (Tencent)

คุณรู้มั้ย วันนี้เวบไซต์เบอร์ 1 ในประเทศไทย ถ้าไม่ใช่ข่าวสด ก็เป็นสนุก ดอท คอม (sanook.com) ซึ่งเขาคือ เทนเซนต์จากจีน วันนี้สนามรบมันเป็นอย่างนี้ แต่สิ่งที่คุณต้องทำคือยกตัวเองขึ้นมา และที่ต้องถามคือทุกวันนี้ยกตัวเองอยู่หรือเปล่า หรือหยุดยืนอยู่กับที่ หรือถอยหลัง หรือกดตัวเองลงไป คำถามนี้ไม่ใช่ผมถามคนเดียว แต่ทุกคนในบริษัทต้องถาม ทุกคนในประเทศต้องช่วยกันถามว่า เราเดินขึ้นบันไดอยู่ทุกวันหรือเปล่า เพราะเวลานี้เราไม่ขึ้น ก็ไม่ได้ เพราะระหว่างที่เราเดินขึ้นบันได คนอื่นๆ เขาขึ้นลิฟท์ไปแล้วนะครับ

สื่อสารกับเอเจนซี่อย่างไรในวันที่สมรภูมิสื่อเปลี่ยนอย่างนี้

สิ่งที่จำเป็นต้องทำคือการรบกับกูเกิล หรือ เฟซบุ๊ก เพราะมันเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งโลก เนื่องจากทั้งโลกตอนนี้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลประมาณ 75% ไหลเข้า 5 บริษัท ซึ่งมีกูเกิล เฟซบุ๊ค เวอริซอลอยู่ในนั้น ส่วนในเมืองไทย มากกว่า 80% ไหลเข้าเฟซบุ๊ค กับกูเกิล เพียง 2 แห่ง เช่น ปี 2560 สมาคมธุรกิจโฆษณาบอกว่า เม็ดเงินในโฆษณาดิจิทัลประมาณ 10,000 ล้านบาท ประมาณ 8,000 ล้านบาท อยู่ที่กูเกิล กับเฟซบุ๊ค ส่วน 2,000 ล้านบาท หรือ 20% ที่เหลือก็มีสิ่งพิมพ์กับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ แย่งชิงตบตีกันแทบตายอยู่ตรงนั้น ซึ่งผมว่ามันไม่ได้แล้วละ และมันต้องมีวิธีการที่ดีกว่านี้


080118_Thakoon-03.jpg

ดังนั้น ตอนนี้เราจึงต้องเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น อย่างในเวียดนาม ผมเข้าใจว่า 60% ของโฆษณาดิจิทัล ผ่านบริษัทสิ่งพิมพ์ภายในประเทศ และ 40% เท่านั้นที่ผ่านกูเกิล หรือ เฟซบุ๊ค เพราะในเวียดนามมีการเขียนระบบที่เรียกว่า DFP (DoubleClick For Publishers) คล้ายกับซอฟแวร์ของกูเกิล ซึ่งเป็นระบบจัดการหลังบ้าน เพื่อวัดว่าคนอ่านเป็นอย่างไร เป็นการตรวจเช็คกลุ่มเป้าหมาย และเป็นตัวเสริมโฆษณา เวียดนามเขียนระบบนี้ขึ้นมาแล้วพร้อมใจใช้กันทั้งประเทศ จึงทำให้เม็ดเงินส่วนใหญ่วนเวียนอยู่ในประเทศ ซึ่งผมเห็นว่า อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดี แทนที่จะไปก้มหน้าก้มตาตบตีกับเขา เก็บภาษีกับเขา คุณก็เพียงพัฒนาตัวเองให้เข้มแข็งขึ้นมา ซึ่งผมว่า ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น AIS DTAC TRUE หรืออื่นๆ ก็คงคิดอย่างนี้อยู่ เตรียมทำอย่างนี้อยู่ และในระยะยาว ถ้าอยากให้ธุรกิจดิจิทัล สื่อดิจิทัลในเมืองไทยโต คุณต้องลดอิทธิพลของกูเกิล และเฟซบุ๊คลง และเพิ่มแรงแก่ Local Publisher ให้มากขึ้น ซึ่งไม่ได้ต้องใช้กฎหมายมากำหนด แต่คุณต้องสร้างแพลตฟอร์มที่ดีให้เรายืนได้ อาจเป็นเทคโนโลยีแพลตฟอร์มก็ได้ หรือแพลตฟอร์มทางกฎหมายก็ได้ เพื่อเอื้อและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาภายในประเทศ

เพราะวันนี้ธุรกิจนี้ คุณไม่ได้ฟัดกันเองในประเทศนี้อีกต่อไปแล้ว แต่คุณอยู่บนสนามรบระดับโลก จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม แต่ทุกวันที่เปิดคอมพิวเตอร์ปั๊บ คุณขึ้นไปอยู่บนเวทีโลกแล้ว และถ้าคุณเป็นเพียงพลเมืองชั้น 2 ของเวทีโลก คุณก็จะได้แค่นี้ กินน้ำใต้ศอก ได้เศษกระดูกที่เขาแบ่งให้ตลอด แล้วทั้งชาตินี้คุณจะไม่มีทางเผยอขึ้นไปเทียบกับเขาได้ และอย่าไปหวังว่าจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง เพราะถ้าคุณไม่เก่งพอ คุณทำไม่ได้ ดังนั้นรัฐจึงมีหน้าที่อย่างเดียวคือส่งเสริมให้คนเก่งเกิดขึ้นเยอะๆ แทนที่จะคุม คุณต้องส่งเสริมผม ซึ่งผมกำลังพูดว่า กฎหมายคอมพิวเตอร์ต้องรื้อใหม่

ผลประกอบการมติชนปี 2561จะเป็นอย่างไรหลังจากขาดทุนต่อเนื่องมา 3 ปีและ 9 เดือนแรกปีที่ผ่านมายังขาดทุนอยู่

สิ้นปี 2560 ไม่น่าจะขาดทุนแล้ว แต่กำไรคงไม่เยอะ และระหว่างที่ขาดทุนมาหลายปี ข้อดีอย่างหนึ่งคือ เราก็ถือโอกาสกวาดอะไรที่อยู่ใต้พรมออกมาทั้งหมด เคลียร์มันซะทีเดียว ไหนๆ มันขาดทุนแล้ว ก็ล้างไปเลย ล้างให้มันสะอาด เพื่อตอนเริ่มต้นใหม่ จะได้ไม่มีอะไรกองอยู่ข้างหลัง มันจะได้ตัวเบา และทำให้เราจดจ่อ กับงานข้างหน้ามากขึ้น โดยไม่ต้องพะวงหลัง

การปัดกวาดบ้าน รวมถึงการขายกิจการโรงพิมพ์ในปีที่ผ่านมาด้วยใช่ไหม

เราตัดสินใจเลิกกิจการพิมพ์และขนส่ง มันไม่ใช่เรื่องของการลดต้นทุน แต่มันเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพให้ตัวเบาที่สุด เพราะในการทำธุรกิจ มันมี 2 ทางเท่านั้น ให้คุณเลือก คือคุมรายจ่าย กับเพิ่มรายได้ ฝั่งคุมรายจ่าย มันเป็นมาตรการระยะสั้น มาตรการเบื้องต้น ซึ่งพอทำไประดับหนึ่งมันจะหยุดแล้ว แล้วก็ทำสเต็ปต่อไปคือ เพิ่มรายได้




080118_Thakoon-04.jpg

กรณีการเลิกกิจการโรงพิมพ์และขนส่ง เพราะเรามองแล้วว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีคนพิมพ์หนังสือพิมพ์และส่งทั่วประเทศได้ 4 เจ้า ซึ่งปัจจุบัน 4 รายนี้ ขาดทุนหมด แล้วจะตะบันทำต่อไปทำไม ธุรกิจนี้ควรจะยุบรวมให้เหลือที่เดียวหรือ ไม่เกิน 2 ที่ เพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตและการขนส่งโดยรวมของทั้งระบบและของทุกบริษัทให้ลดลง ผมมองว่า เราจะแข่งกันเรื่องเนื้อหาแข่งอะไรกันก็ได้ แต่ต้นทุนต้องช่วยกัน อย่างการที่มติชนไปจ้างสยามสปอร์ตพิมพ์ ส่งผลให้ต้นทุนต่อเล่มของสยามสปอร์ตลดลงทันที เพราะจำนวนชั่วโมงที่แท่นพิมพ์วิ่งเยอะขึ้น จำนวนเล่มที่รถขนส่งได้เยอะขึ้น ดังนั้นไม่ต้องคิดไรเลย ในแง่ประสิทธิภาพสยามสปอร์ตได้ ส่วนในแง่มติชน ก็ไม่ต้องแบกอะไรอีกต่อไปแล้ว

อีกอย่างคือ การยุติธุรกิจนี้ เป็นการส่งสัญญาณ เป็นการบอกเพื่อนฝูงกลายๆ ว่า เราเลยป้ายยูเทิร์นมาแล้วนะ และเมื่อคุณเลิกโรงพิมพ์ไปแล้ว อยู่ๆ จะกลับมาทำใหม่ ไม่ง่ายแล้ว เพราะช่างพิมพ์ คนงานเขาก็ไม่กลับมาแล้ว แท่นพิมพ์ที่หยุดไป 1-2 เดือนจะให้มันกลับมาเช้งวับเหมือนเดิม เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว มันเลยจุดยูเทิร์นไปแล้ว พระเจ้าตากต้องเข้าตีเมืองจันทน์แล้ว เพราะทุบหม้อข้าวไปแล้ว

ดังนั้น เราจึงต้องเดินหน้าสเต็ปที่สอง หลังจากปรับตัว หลังจากส่งสัญญาณแล้ว คือเพิ่มความสามารถในการหารายได้จากดิจิทัล ซึ่งเมื่อย้อนดูรายได้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราเห็นชัดเลยว่า รายได้การขายหนังสือตกลงมา รายได้ของการขายโฆษณาในสิ่งพิมพ์ตกลงมา แต่รายได้ที่เพิ่มมี 2 ตัวชัดๆ คือกิจกรรมพิเศษ เช่นจัดสัมมนา จัดอีเวนต์ เพราะมันเป็นออนไลน์บวกออฟไลน์ จัดกิจกรรมสัมมนา เอาคลิปมาแปะก็มีคนตามมาดู และอีกส่วนหนึ่งคือรายได้จากโฆษณาดิจิทัล ซึ่งโจทย์ตอนนี้คือจะทำอย่างไรไปล้วงอ้อยจากปากช้างมาให้ได้

ในฐานะผู้บริหารธุรกิจสื่อที่เป็นนักข่าวมาก่อน ในเวลาที่คนทำอาชีพนักข่าวกังวลถึงอนาคตในอาชีพนี้ มีคำแนะนำอย่างไร

อย่างที่ผมบอก จริงๆ มันเป็นอรุโณทัยของวงการ แต่คุณต้องเก่งจริง แล้วถ้าคุณกลัวแปลว่า คุณทำงานหนักไม่พอ การที่กลัวอะไรสักอย่าง อาจเป็นเพราะเราไม่รู้จะรับมือกับมันอย่างไร ซึ่งมันง่ายมาก คือนักข่าวต้องเป็นมืออาชีพมากกว่าคนปกติที่เล่นเวบ วันนี้คุณต้องถามตัวเองว่า เป็นมืออาชีพพอหรือยัง ไม่ว่าจะอยู่ในแพลตฟอร์มไหน เพราะถ้าคุณไม่เป็นมืออาชีพ ถึงคุณทำหนังสือพิมพ์ ก็ทำได้แค่หนังสือพิมพ์ขยะ เป็นออนไลน์ คุณก็เป็นเว็บขยะ ถ้าคุณเป็นมืออาชีพ หนังสือพิมพ์คุณก็ดี ออนไลน์ก็ดี ทีวีก็ดี วิทยุก็ดี อะไรก็ดีไปหมด มันอยู่ที่ตัวคุณมากกว่าอย่างอื่น อย่ากลัว


080118_Thakoon-05.jpg

ยิ่งมันหลากหลายมากขึ้น เราเห็นเทรนด์อย่างหนึ่งคือ คนจะยิ่งแสวงหาสิ่งที่มันเชื่อถือได้มากขึ้น ยิ่งมีข่าวปลอมมาก คนที่จะได้อานิสงส์มากที่สุด กลายเป็นสำนักข่าวจริงๆ เพราะทุกครั้งที่ได้ข่าวแปลกๆ มา คนต้องมาตรวจจากสำนักข่าวว่า คุณรายงานอย่างไร กลายเป็นคนมาตรวจที่คุณเหมือนตรวจหวย แต่สิ่งที่ท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้คนอ่านแทนที่จะไปตรวจหวยใน sanook.com แต่มาคลิกตรวจข่าวที่เวบไซต์เราเยอะๆ เพราะโลกดิจิทัล บางทีมันไม่ชัวร์ มันหลอกกันได้ง่ายมาก และสิ่งที่คนทั่วไปต้องการคือ Trust (ความน่าเชื่อถือ) และคุณต้องดำรงความน่าเชื่อถือไว้ให้ได้

บนแพลตฟอร์มดิจิทัล สิ่งที่จะไป reach คนอ่านคนดู อาจจะไม่ใช่สิ่งที่บอกว่า เป็นน้ำสะอาดก็ได้ ตรงนี้ทำอย่างไร

มันก็ผสมกันไป สมัยผมยังเป็นนักข่าวตัวเล็กๆ มีอบรมของ ICJ อาจารย์ที่มาอบรมชื่อแกรม วัตต์ เขาเป็นหัวหน้าข่าวต่างประเทศของไฟแนนเชียล ไทม์ส ตอนนั้นผมบ่นๆ กับเขาว่า เราทำข่าวอย่างนี้ๆๆๆ คนไม่ดูเลย ไม่อ่านเลย วัตต์ก็หัวเราะแล้วบอกว่า ยูรู้มั้ยในอังกฤษ ไฟแนนเชียล ไทม์สของผม รวมถึงการ์เดี้ยน ดิอินดิเพนเดนท์ รวมกัน 3 หัวหนังสือพิมพ์ ยอดขายยังไม่เท่าครึ่งหนึ่งของเดอะ ซัน เลยว่ะ แล้วแกก็สรุปง่ายๆ ว่า People always go to rubbish คือคนน่ะ ชอบขยะมากกว่า แต่ถามว่า ถ้าคนชอบขยะมากกว่า แล้วเราต้องทำขยะด้วยเหรอ มันก็ไม่จำเป็น ในโลกความจริง มันอาจจะมีคนทำ แต่เราก็ทำเรื่องที่เราถนัดสิ แล้วถ้ามันยังอยู่มาได้ ถ้ามันยังเติบโตอยู่ แสดงว่าตลาดมันมี

ดัง���ั้น ที่มติชนจึงดีใจ ที่ยอดคนดูไลฟ์ดร.วีรพงษ์ รามางกูร พูดเรื่องเศรษฐกิจตัวแอลหางยาวเมื่อ 2 ปีก่อน มากถึง 2.5 แสนวิว มียอด engagement คือดูตั้งแต่ต้นจนจบ 80% หรือมากถึง 2 แสนคน แล้วพอเอาคลิปขึ้นยูทูป ตอนนี้มีคนดูแล้ว 5 แสนวิว หรือวันที่คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พูดเรื่อง Moore’s Law ในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจเมื่อกลางปีที่ผ่านมา จนกลายเป็นไวรัลคลิป มีคนดูในยูทูปตอนนี้ถึง 7 แสนวิว ล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย. คุณชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ พูดเรื่อง disrupt ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจ ผ่านมา 2 เดือนก็มีคนดูคลิปกว่า 2 แสนวิวแล้ว

สิ่งเหล่านี้ เป็นตัวอย่างที่บอกเราว่า ถ้าคลิปมีสาระ มันก็มีคนดูหลักแสน และแปลว่า คุณมีลูกค้าอยู่ ที่เข้มแข็งและมีเยอะพอสมควร ซึ่งมันอาจไม่ทำให้คุณรวยเท่ากับบริษัทเอ็นเตอร์เทนเมนต์ทั้งหลาย แต่มันก็ทำให้คุณเข้มแข็งได้ระดับหนึ่ง ถ้าคุณจัดการกับมันเป็น มันทำให้คุณมีแรงมีทรัพยากรพัฒนาคุณภาพให้มันขึ้นไปอีกขั้นได้อีก

อีกอย่างในเครือมติชน เรามีสินค้าและสื่อในมือหลายประเภท ซึ่งคุณอาจไม่เชื่อว่า คลิปที่ทีมทีวีที่เราเรียกว่า FEED ในปัจจุบันนี้ ผลิต และติด 1 ใน 5 คลิปที่มีคนดูมากที่สุดของเรา คือ คลิปปลูกเห็ดฟางในบ้าน ตอนนี้มียอดวิว 3 ล้านแล้ว มันเป็นตัวอย่างที่บอกเราว่า มันไม่ต้องบันเทิงอย่างเดียวก็ได้ คุณทำสาระให้มีสาระจริงๆ และดูสนุกได้ มันมีตลาด แม้มันไม่มากเท่าหน้ากากนักร้องคนดู 11 ล้านวิว แต่ถ้าคุณทำสม่ำเสมอ มันก็มีทางของมัน อีกอย่างข่าวคือสิ่งที่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไร เรามีหน้าที่เพียงไปจับ และไปตามปรากฎการณ์มานำเสนอ

การที่โซเซียลมีเดียเข้ามาแล้ว ทำให้ใครๆ ก็เข้าถึงสื่อได้ และตัวคนทำข่าวเองก็สามารถเป็น influencer ในตัวเองได้ด้วย มันจึงมีความท้าทายเรื่องระเบียบวิธีการบรรณาธิการอยู่ มติชนมีระบบระเบียบในเรื่องเหล่านี้อย่างไร

ผมคิดว่าทุกกองบรรณาธิการก็ยังทำแบบเดิม คือไม่ว่าข่าวมันจะมาแบบไหน แต่อันดับหนึ่ง ข่าวมันต้องถูกต้อง เป็นธรรม ส่วนเร็ว ไม่เร็ว มันอยู่ที่วิธีการ แต่คุณต้องจับหลัก 2 เรื่องนี้ ถ้าหลุดจากนี้ ก็เจ๊ง ก็พังทุกที มันไม่ซับซ้อนเลย ... ปฏิบัติให้ได้ละกัน จับหลักได้แล้ว ก็ทำ ทำ ทำ ทำต่อเนื่องจนเป็นนิสัย แล้วมันก็จะไปได้ของมันเอง