ไม่พบผลการค้นหา
องค์การอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (นาซา) ร่วมมือกับบริษัทอินเทล พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) คำนวณเส้นทางในอวกาศเพื่อกำหนดพิกัดบอกทาง เพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจดาวเคราะห์ต่างๆ ในอนาคต

โครงการทดลองและวิจัยพัฒนานำร่อง (FDL) ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญและองค์กรเครือข่ายด้านวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และเทคโนโลยีอวกาศขององค์การนาซา ปิดฉากการประชุมระดมกำลังสมองที่ใช้เวลานานกว่า 8 สัปดาห์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อเสนอจากคณะนักวิจัยนานาชาติให้นาซาร่วมมือกับบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยี 'อินเทล' เพื่อพัฒนาระบบการคำนวณเส้นทางและพิกัดต่างๆ บนดาวเคราะห์ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการสำรวจสภาพอวกาศและการตั้งอาณานิคมนอกโลกในอนาคต

คณะนักวิจัยนานาชาติ ประกอบด้วย แอนดรูว์ ชุง, ฟิลิปป์ ลุดวิก, รอส พอตเตอร์ และเบนจามิน อู๋ เสนอให้ใช้ยานสำรวจอวกาศติดตั้งระบบคำนวณผลแบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ เพื่อให้ทำหน้าที่รวบรวมและประมวลผลข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียม, การตรวจวัดอุณหภูมิ และการเก็บตัวอย่างแร่ธาตุบนผิวดินของดาวต่างๆ ที่มีการสำรวจ ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าโครงการนำร่องที่จะใช้เอไอสำรวจและกำหนดพิกัดเส้นทางบนดาวต่างๆ ในอวกาศจะเริ่มขึ้นที่ดวงจันทร์เป็นอันดับแรก

โครงการสำรวจเส้นทางและระบุพิกัดในอวกาศมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างกลไกการทำงานที่ใกล้เคียงกับระบบจีพีเอสซึ่งใช้ในการค้นหาตำแหน่งบนพื้นโลก และการพัฒนาระบบเอไอเพื่อระบุพิกัดเส้นทางในอวกาศจะยิ่งช่วยให้หุ่นยนต์หรือยานสำรวจไร้คนขับ รวมถึงโครงการก่อสร้างอาณานิคมในอนาคตดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น

ขณะเดียวกัน องค์การอวกาศยุโรป (ESA) ก็ได้ยิงจรวดปล่อยดาวเทียม 'อีโอลัส' ขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ ที่ความสูงราว 360 กิโลเมตรเหนือโลก เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าให้ดาวเทียมดังกล่าวเก็บข้อมูลและจัดทำแผนที่และรูปแบบการเคลื่อนตัวของกระแสลมและพายุต่างๆ บนพื้นโลก เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการพยากรณ์อากาศและเพิ่มประสิทธิภาพในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ

ทั้งนี้ ชื่อของดาวเทียมอีโอลัสถูกตั้งขึ้นตามชื่อเทพเจ้าแห่งสายลมตามตำนานกรีกโบราณ

ภาพ: Unsplash

ที่มา: TNW/ The Guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: