ไม่พบผลการค้นหา
3 ฝ่าย การท่า-นักลงทุน-ผู้เดินเรือ มั่นใจในศักยภาพของท่าเรือแหลมฉบัง สามารถรองรับการเดินเรือสากลได้ พร้อมดึงเม็ดเงินด้านการส่งออกเข้าประเทศ

โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นหนึ่งใน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” การพัฒนาครั้งนี้เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือเพื่อรองรับ ความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

หลังจากที่ ท่าเรือแหลงฉบัง (ทลฉ.) ประกาศเชิญชวนและขายเอกสารคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ระหว่างวันที่ 5-19 พ.ย. 2561 มีนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสนใจเข้าร่วมประมูลทั้งหมด 32 ราย โดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีกำหนดให้เอกชนยื่นซองประมูล ในวันที่ 14 ม.ค. 2562 คาดว่าจะตัดสินผู้ชนะได้ภายในเดือนก.พ. 2562 และมีกำหนดลงนามในสัญญาในต้นเดือนมี.ค. 2562 ก่อนเริ่มก่อสร้างเดือนพ.ค. 2562

โครงการนี้มีพื้นที่รวม 1,600 ไร่ ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 4 ท่า ยาวรวม 4,420 เมตร โดยองค์ประกอบโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ประกอบด้วย (1) การก่อสร้างท่าเรือตู้สินค้า 4 ท่า (ท่าเรือ E1 E2 F1 F2) ความจุ 7 ล้านตู้ต่อปี (2) การก่อสร้างท่าเรือขนส่งรถยนต์ (RO-RO) ความจุ 1 ล้านคันต่อปี (3) การก่อสร้างท่าเรือชายฝั่ง ความจุ 1 ล้านตู้ต่อปี (4) การก่อสร้างสถานีขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟระยะที่ 2 (SRTO2) (5) การปรับปรุงระบบในการรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าทางรถไฟให้ได้ 4 ล้านตู้ต่อปี โดยใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) โครงการจะสามารถเปิดดำเนินการอย่างช้าภายใน ปี พ.ศ. 2568 มีแผนการก่อสร้างแบ่งออกเป็นการโครงสร้างพื้นฐาน 5 ปี (ปี พ.ศ. 2561 – 2566) และการก่อสร้างท่าเทียบเรือและติดตั้งอุปกรณ์ขนถ่าย 3 ปี (ปี พ.ศ. 2565 - 2568)

การพัฒนาครั้งนี้ก่อให้เกิดความสามารถในการเชื่อมต่อการขนส่งหลายรูปแบบภายในพื้นที่ท่าเรือ ตามแผนแม่บทโครงการอีอีซี ที่หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าโดยตรงไปยังต่างประเทศแบบไร้รอยต่อ ทั้งทางด้านการขนส่งสินค้าแบบถ่ายลำเรือจากเรือขนสินค้าขนาดเล็กไปยังเรือแม่ขนาดใหญ่ หรือการเปลี่ยนการขนส่งสินค้าไปสู่ระบบราง ซึ่งเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ประเทศลาว เวียดนาม กัมพูชา เมียนมาและประเทศจีนตอนใต้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค

 การท่า-นักลงทุน-ผู้เดินเรือ มั่นใจหรือหวั่นใจ

ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวถึงความพร้อมและบทบาทหน้าที่ของท่าเรือแหลมฉบัง ว่า ท่าเรือแหลมฉบังพัฒนาท่าเรือตามความต้องการการใช้ท่าของเอกชน โดยตามหลัก กทท. จะเปิดท่าใหม่เมื่อขีดความสามารถเดิมทะลุไปประมาณร้อยละ 70 การเร่งเปิดเร็วเกินไป จะทำให้เกิดอุปทานส่วนเกิน ส่งผลให้ท่าเรือไม่มีความคล่องตัว

เรือขนส่งสินค้า one columb

ท่าเรือแหลมฉบัง รองรับได้ 10.8 ล้านทียู ปัจจุบันรองรับอยู่ที่ 8 ล้านทียู เหลือระยะปลอดภัยอยู่ประมาณ 3 ล้านทียู อัตราการเติบโตของท่าเรือแหลมฉบังอยู่ที่ปีละ 500,000 ตู้ ภายใน 6 ปี ท่าเรือแหลมฉบังจะไม่สามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอ จึงเป็นเหตุผลให้ท่าเรือแหลมฉบังเริ่มดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้ให้ทันความต้องการในอนาคต

“คือจริงๆ เราพร้อมมาตลอด พร้อมมาตั้งแต่เปิดท่าเมื่อปี 2534 แล้ว แต่ว่าตัวผู้มาใช้บริการมีตู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็เปิดตามจำนวนตู้สินค้าที่เพิ่มขึ้น” นายมนตรี กล่าว

ด้านนายอาณัติ มัชฌิมา ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท แหลมฉบัง เทอร์มินอล จำกัด กลุ่ม บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย จำกัด ชี้ว่า ปัจจุบัน ท่าเรือหลัก ในโลก มี 2 ประเภท คือ ปลายทาง-ต้นทาง และ ท่าเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทยจัดว่าเป็นท่าเรือประเภท ปลายทาง-ต้นทาง เพราะไทยไม่ได้เป็นทางผ่านในเส้นทางการเดือนเรือ เหมือน สิงคโปร์ ฮ่องกง หรือ มาเลเซีย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะยกระดับ ให้ท่าเรือแหลมฉบังมีความสามารถในการรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ สร้างความได้เปรียบให้ไทย โดยเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่สามารถมารับส่งของที่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังได้โดยไม่ต้องรอขนถ่ายสินค้าที่ สิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย ซึ่งนับเป็นการลดต้นทุน

เรือขนส่งสินค้า one columb
“เรามีความเชื่อมั่นว่า ท่าเทียบเรือน้ำลึกแหลมฉบังแห่งนี้ สามารถเติบโตไปได้ในอนาคต เรามีความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าทางเรือมากขึ้น” นายอาณัติ กล่าว

ปิดท้ายด้วย นายสุรศักดิ์ เฑียรบุญเลิศรัตน์ ผู้อำนวยการ บริษัท โอเชียน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด พูดถึงความมั่นใจของบริษัทที่นำเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่เข้ามาให้บริการที่ท่าเรือแหลมฉบัง ว่า บริษัทได้ศึกษาเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะตัดสินใจนำเรือขนาดใหญ่เข้ามายังท่าเรือแหลมฉบัง ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของประเทศไทย และโอกาสในเติบโตทางการค้า แม้ขณะนี้อุตสาหกรรมการเดินเรือจะประสบปัญหาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เช่น เรื่องของราคาน้ำมัน แต่สงครามการค้าครั้งนี้ส่งผลดีต่อไทยอยู่บ้างในแง่คำสั่งซื้อที่ไหลมาจากจีน แต่หากภาคเอกชนปรับตัวไม่ทันความต้องการ มีความเป็นไปได้สูงที่โอกาสเหล่านี้จะไหลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม

เรือขนส่งสินค้า one columb
“ส่วนของแหลมฉบัง เฟส 3 เป็นเรื่องของอนาคต 5 ปี 7 ปี เมื่อถึงตอนนั้นแล้ว ผมเชื่อว่าสายเรือสายใหญ่ๆ จะนำเรือแบบนี้เข้ามามากขึ้น ประเทศไทยยังอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ เอกชนเก่งและเรายังสามารถแข่งขันกับประเทศต่างชาติได้แน่นอน” นายสุรศักดิ์ กล่าว

“ONE COLUMBA” เรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุด ณ ท่าเรือแหลมฉบัง

วันนี้ (26 พ.ย.) บริษัท โอเชียน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของเรือ “วัน โคลัมบา” ซึ่งเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมาใช้บริการตั้งแต่ท่าเรือแหลมฉบังเปิดทำการมา โดยเรือลำนี้มีความยาวของตัวเรือ 364 เมตร ซึ่งยาวกว่า ตึกใบหยกที่มีความสูง 304 เมตร, มีความกว้างของคานอยู่ที่ 50.60 เมตร และ มีความลึก 29.50 เมตร เรือลำนี้สามารถบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 6 เมตร ได้ถึง 14,000 ตู้

ทั้งนี้บริษัท โอเชียน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด เกิดจากการร่วมมือกันของ บริษัทขนส่งทางเรือสัญชาติญี่ปุ่น 3 เจ้า ได้แก่ เค ไลน์ (‘K’ Line), เอ็มโอแอล (MOL) และ เอ็นวายเค (NYK) โดยมีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคอยู่ใน ฮ่องกง, สิงคโปร์, สหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ และ บราซิล โดยเริ่มเปิดให้บริการเดินเรือขนส่งตู้สินค้า ตั้งแต่เดือน เมษายน ที่ผ่านมา