ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการชี้ช่องผ่าทางตันการเมือง ทหาร-พลเรือนตั้งรัฐบาลแบ่งสรรอำนาจ ควบคู่ปฏิรูปกลุ่มพลังจารีต ขณะสื่อนอกตีข่าว ‘ประยุทธ์’ ส่อแววนั่งนายกฯ ยาว

สำนักข่าวเอพีนำเสนอรายงานเชิงข่าวในวันจันทร์ที่ 15 มกราคม ระบุว่า คำประกาศของหัวหน้ารัฐบาลทหารไทย ที่ว่าตนเป็นนักการเมือง ตอกย้ำความกังขาที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแผนครองอำนาจต่อไปแม้ภายหลังการเลือกตั้ง

“ผมไม่ใช่ทหาร เข้าใจไหม เป็นนักการเมืองที่เคยเป็นทหาร มันก็ติดนิสัยทหารอยู่บ้าง” เอพีอ้างคำพูดของอดีตผู้บัญชาการทหารบกผู้ผันตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 3 มกราคม

รายงานระบุว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจ แทบไม่มีอะไรขัดขวางเลย เหตุผลข้อหนึ่งเป็นเพราะเขาถืออำนาจเด็ดขาดภายใต้ระบอบทหารที่สร้างขึ้นตอนยึดอำนาจเมื่อปี 2557 อีกข้อคือ เขาอาจเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก

นอกจากนี้ อำนาจของระบอบทหารจะยังคงอยู่แม้ พล.อ.ประยุทธ์ เดินตามโรดแมปล่าสุด โดยจัดให้มีการเลือกตั้งในปลายปีนี้ นั่นเป็นเพราะเขากับคณะรัฐประหารได้ยกร่างแผนยุทธ์ศาสตร์ชาติ 20 ปีเอาไว้แล้ว เพื่อประกันว่า กองทัพจะบงการการเมือง สังคม และเศรษฐกิจต่อไป

เอพีบอกว่า แม้ในอดีตคนไทยเคยลุกฮือขับไล่ผู้ปกครองทหารในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 และเดือนพฤษภาคม 2535 แต่คนไทยจำนวนมากมองว่า กองทัพควบคุมประเทศถือเป็นเรื่องปกติ ขณะที่ทหารบางส่วนเชื่อว่าตนมีสิทธิที่จะปกครอง

พอล แชมเบอร์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อธิบายว่า คนไทยมีวัฒนธรรมการเมืองแบบหยวนยอม ซึ่งเป็นมรดกที่ฝังลึกมาจากความคิดแบบอำนาจนิยม และว่า ชนชั้นนำในกรุงเทพฯ เช่น พวกทหาร ข้าราชการชั้นสูง ยอมให้มีประชาธิปไตยเฉพาะในรูปแบบที่ไม่คุกคามผลประโยชน์ของพวกเขาเท่านั้น

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายมองว่า ถึงแม้เวลานี้ทหารกับกลุ่มอนุรักษนิยมดูจะยึดครองอำนาจได้อย่างมั่นคง ทว่าการธำรงระบอบทหารไว้ดูไม่น่าเป็นไปได้ภายใต้ยุคโลกาภิวัตน์ที่ข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียกำลังเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของสังคมไทย

สำหรับทางออกในอนาคตอันใกล้ นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ การแบ่งอำนาจระหว่างทหารกับพลเรือน พร้อมกันไปกับการปฏิรูปบรรดาองค์กรที่มีอำนาจตามจารีตประเพณี เพื่อมุ่งไปสู่การเสริมสร้างประชาธิปไตย

“การบิดเบือนรัฐธรรมนูญ การครองอำนาจโดยไม่แยแสความสูญเสีย จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากับพลังของพรรคการเมืองและประชาสังคม” นักรัฐศาสตร์ผู้นี้ให้ความเห็นในข้อเขียน “ถ้าไม่ประนีประนอมกัน ประเทศไทยจะติดปลัก เดินวนอยู่ที่เดิม”

ที่มา : Associated Press via ABC News

ภาพ: AP