ไม่พบผลการค้นหา
อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม และอดีตรัฐมนตรีช่วยคมนาคมสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ร่วมวงกระทุ้งรัฐทำโครงการ 'อีอีซี' ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม แจงกฎหมายเปิดช่องสถาปนิก-วิศวกรต่างชาติ ได้สิทธิมากกว่าคนชาติ นอกเหนือสิทธิถือครองที่ดิน สิทธิลดหย่อนภาษี สิทธิใช้สกุลเงินต่างชาติ จี้เร่งทำ 'ผังเมือง' สกัดนายทุนรุกที่ชาวบ้าน

นายชวพงศ์ ชำนิประศาสน์ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการผู้จัดการบริษัท สำนักงานสถาปนิกทวีธา จำกัด กล่าวว่า ตอนแรกที่ได้ยินเรื่องโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ก็ดีใจที่ประเทศไทยจะมีการพัฒนา แต่เมื่อได้พิจารณาดูในพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พ.ร.บ. อีอีซี กลับพบสิ่งที่ต้องกังวลหลายประการ 

อาทิ มาตรา 59 ที่ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ คณะกรรมการ อีอีซี เป็นผู้ประกาศข้อกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการ หรือผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นประโยชน์ต่อเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปนิก วิศวกร ซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้มีใบอนุญาต หรือจดทะเบียน ก็สามารถเข้ามาทำงานในพื้นที่อีอีซีได้ โดยไม่ต้องจดทะเบียน หรือ ขอใบอนุญาต 

โดยสิทธิพิเศษเหล่านี้ มีเพิ่มเติมนอกเหนือจากสิทธิที่ได้รับจากมาตรา 48 ซึ่งเปิดให้ผู้ประกอบกิจการในอีอีซี สามารถถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการหรือห้องชุดเพื่อประกอบกิจการหรืออยู่อาศัย สิทธินำคนต่างด้าวเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักร สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร สิทธิทำธุรกรรมทางการเงิน 

ทั้งที่ วิชาชีพสถาปนิก วิศวกร มีพ.ร.บ. ควบคุมวิชาชีพด้วยเหตุผล ต้องการสงวนบางอาชีพให้คนในชาติ ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายอาญา มาตรา 227 ที่ควบคุมดูแล หากผู้ประกอบวิชาชีพที่ได้รับอนุญาตกระทำการให้เกิดความเสียหาย ก็ต้องรับโทษจำคุกรวมถึงปรับขั้นรุนแรง แต่ พ.ร.บ.อีอีซีกลับเปิดช่องให้คนเหล่านี้สามารถหลบเลี่ยงการรับโทษหากเกิดความเสียหายได้ และยังเปิดให้สถาปนิก วิศวกรต่างชาติ มาทำงานโดยรับค่าจ้างเป็นสกุลเงินต่างประเทศ 

ดังนั้น จึงมีความน่าเป็นห่วงว่า ถ้าคนเหล่านี้มาทำงานในเมืองไทย ใช้ภาษาของเขาใช้สกุลเงินของเขา แล้วเขาก็ต้องนำแรงงานของเขาเข้ามาด้วยเช่นกัน

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

"เรามีสมาคมสถาปนิก มีสภาวิศวกรรม แต่เรากลับจะไม่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้ และรัฐยังเปิดทางให้ต่างชาติทำเสมือนเราต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ไปโดยยกสิทธิในที่ดินให้ต่างชาติ สิทธิในการลดหย่อนภาษี สิทธิในการใช้สกุลเงิน นี่ยังไม่รวมถึงการจะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งที่ยังไม่ทำผังเมืองใหม่ด้วยซ้ำ" นายชวพงศ์ กล่าว

อีกด้านหนึ่ง ยังเห็นว่า พ.ร.บ. อีอีซี ให้อำนาจกับคณะกรรมการนโยบายอีอีซี ที่กว้างขวาง และเบ็ดเสร็จ หรืออาจมีอำนาจเหนือรัฐบาลกับสภาฯ ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย เนื่องจากในยุคที่มีผู้นำรัฐบาลที่เป็นคนดีซื่อสัตย์ ก็อาจไม่เป็นไร แต่ถ้าในยุครัฐบาลที่มีผู้นำอีกแบบ อำนาจของคณะกรรมการนโยบายอีอีซีที่กฎหมายให้นั้นจะเป็นเรื่องอันตราย ทั้งที่กฎหมายนี้กระทบกับชีวิตผู้คนจำนวนมาก 

ติงสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ยังไม่ทำ 'ผังเมือง'

โสภณ พรโชคชัย

ด้านนายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย และนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติ กล่าวว่า การจัดทำโครงการอีอีซี มีเรื่องที่ยังต้องกังวลและอาจจะเป็นปัญหาในอนาคต เรื่องหนึ่งคือ 'ผังเมือง' เพราะจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีการทำผังเมือง ทั้งที่การกำหนดเขตเศรษฐกิพิเศษที่ไหนในโลก ก็ต้องวางผังเมืองไว้ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ แต่การดำเนินการในขณะนี้ คือการวางเป็นไกด์ไลน์ คือชี้นำไว้ เสมือนเป็นการเปิดช่องให้นายทุนใหญ่ที่มีที่ดินหรือไปกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่โครงการ

"การกระทำของรัฐขณะนี้ เพียงหวังผลการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้นักลงทุนเห็นว่ามีโครงการ หวังให้มีคนมาลงทุน ซึ่งในช่วง 2-3 ปีแรก ก็น่าจะดูดี แต่หลังจากนั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่น่าเป็นห่วง" นายโสภณ กล่าว

อีอีซี-คัดค้าน

ขณะที่ นายบุญเทียม เขมาภิรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือเรื่องการเช่าที่ดินนานถึง 99 ปี การให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ประกอบวิชาชีพชาวต่างชาติ เช่น สถาปนิก วิศวกร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นรายละเอียดของโครงการที่สังคมต้องติดตามและน่าเป็นห่วง

"ผมไม่ได้มาคัดค้านหรือบอกว่าจะไม่รับโครงการนี้ แต่เราอยากช่วย และโดยหลักการเห็นด้วยกับโครงการด้วยซ้ำ แต่ยังมีรายละเอียดในโครงการที่ต้องดู ซึ่งคนไทยต้องได้ดูรายละเอียดเหล่านั้น" นายบุญเทียม กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :