ไม่พบผลการค้นหา
การลอยโคมขึ้นฟ้ากลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมในหลายประเทศทั่วโลก เป็นทั้งพิธีกรรมความเชื่อและไลฟ์สไตล์สวยงามที่เป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว แต่รัฐบาลหลายแห่งเริ่มพิจารณามาตรการควบคุมการลอยโคมกันมากขึ้น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและไฟไหม้

ไฟไหม้และอุบัติเหตุทางอากาศที่เป็นผลสืบเนื่องจากการลอยโคมหรือการปล่อยบอลลูนลมร้อนไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย เพราะกิจกรรมเหล่านี้ได้รับการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมจากหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของหลายประเทศช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่มหกรรมการปล่อยโคมลอยที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ทำให้จำนวนโคมลอยเพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน นำไปสู่การบาดเจ็บและสูญเสีย เพราะโคมลอยกลายเป็น 'ลูกไฟจากฟ้า' เป็นสาเหตุไฟไหม้ทำลายบ้านเรือนหลายหลัง จนต้องมีการหารือแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการลอยโคม

อุบัติเหตุครั้งล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับ 'บอลลูนลมร้อน' เกิดขึ้นที่รัฐฉานของเมียนมาซึ่งอยู่ระหว่างการเฉลิมฉลองเทศกาล 'ตาซองไดน์ง' หรือเทศกาลแห่งแสง ตามความเชื่อของชาวพุทธในรัฐฉาน โดยมีการลอยโคมกระดาษขึ้นฟ้า รวมถึงปล่อยบอลลูนลมร้อน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในคืนพระจันทร์วันเพ็ญ และงานจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14-23 พ.ย. แต่เกิดเหตุบอลลูนระเบิดกลางอากาศในคืนวันที่ 14 พ.ย. และลูกไฟตกลงมาใส่ผู้ร่วมฉลองเทศกาล มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 9 ราย 

เว็บไซต์ดิอินไซเดอร์อ้างอิง บีบีซี พม่า ที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายทัน วิน คณะกรรมการผู้จัดงานตาซองไดน์ง ระบุว่า อุบัติเหตุดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยโคมลอยหรือบอลลูน เพราะเมื่อปี 2557 เคยเกิดเหตุแบบเดียวกันมาก่อน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา อุบัติเหตุโคมลอยตก ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 15 ราย แต่ถือว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไม่ร้ายแรงเท่าที่ผ่านมา แต่ยอมรับว่าผู้จัดงานจะต้องหารือแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเช่นนี้ขึ้นในอนาคต 

AFP-ตาซองไดน์ง-ประเพณียี่เป็งในรัฐฉานของเมียนมา.jpg

(บอลลูนลมร้อนในเทศกาลตาซองไดน์งของรัฐฉานตกใส่ผู้คนที่มาร่วมงาน ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 9 ราย)

กรณีของประเทศไทย มีแถลงการณ์จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการปล่อยโคมลอยใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง หลังจากหลายปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาโคมลอยที่ปล่อยในช่วงเทศกาลลอยกระทงลอยไปติดสายส่งไฟฟ้า หรือเข้าไปในบริเวณสถานีไฟฟ้าแรงสูง ทำให้ระบบไฟฟ้าขัดข้องหรือไฟฟ้าดับบริเวณกว้าง ต้องใช้เวลาซ่อมแซมและมีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 

ส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำชับห้ามเล่นพลุ ปล่อยโคม หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีของจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมและมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องการจัดกิจกรรมลอยโคม เช่น เชียงใหม่ มีคำสั่งจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ให้ยกเลิก 60 เที่ยวบินและเปลี่ยนแปลงเวลา 88 เที่ยวบินช่วงงานยี่เป็ง หรือเทศกาลลอยกระทง เพื่อให้สอดคล้องกับการปล่อยโคมลอยของประชาชนและนักท่องเที่ยวแทนการสั่งห้ามลอยโคม โดยในปีนี้มีผู้ขออนุญาตปล่อยโคมลอยกว่า 64,000 ลูกใน จ.เชียงใหม่

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ยังเพิ่มความถี่ในการตรวจรันเวย์ท่าอากาศยาน จากวันละ 4 ครั้ง เป็น 10 ครั้ง เพื่อสกัดสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในพื้นที่ เนื่องจากปีที่แล้วเก็บซากโคมได้ 108 ลูก ส่วนสถิติสูงสุดเมื่อปี 2556 มีซากโคมตกในรันเวย์มากถึง 1,425 ลูก

ขณะเดียวกัน หลายจังหวัดในภาคเหนือของไทยก็เริ่มมีการรณรงค์แขวนโคมไฟแทนการลอยโคม รวมถึงจุดประทีป หรือผางปะตี้ด เพื่อป้องกันไฟไหม้และอุบัติเหตุทางอากาศ

AFP-แขวนโคมแทนโคมลอย ป้องกันไฟไหม้-อุบัติเหตุทางอากาศ.jpg

ส่วนที่อินเดีย มีการฉลองเทศกาลทิวาลีและเทศกาลบูชาพระแม่กาลี นับตั้งแต่ ต.ค.จนถึง ธ.ค. ซึ่งมีการลอยโคมเช่นกัน แต่หลายปีที่ผ่านมา กิจกรรมลอยโคมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ในหมู่ประชาชนและนักท่องเที่ยว รัฐบาลอินเดียจึงสั่งห้ามประชาชนลอยโคมในรัศมี 18 กิโลเมตรจากท่าอากาศยานในพื้นที่ หลังจากสำนักงานการบินพลเรือนอินเดียออกแถลงการณ์สะท้อนคำร้องเรียนของเหล่านักบินที่ร่วมลงชื่อกดดันให้มีการออกคำสั่งห้ามลอยโคม

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า หากโคมลอยถูกดูดเข้าไปในใบพัดเครื่องบินจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ซึ่งแม้ที่ผ่านมาจะยังไม่เกิดอุบัติเหตุทางอากาศ แต่ก็ควรป้องกันไว้ก่อน

ส่วนรัฐบาลอังกฤษ สั่งห้ามประชาชนลอยโคมอย่างเด็ดขาด หลังจากเมื่อเดือน ก.ค.2554 เกิดเหตุโคมลอยตกในบ้านของครอบครัวชาวนาในเมืองโทรว์บริดจ์ ทำให้บ้านเรือนถูกเพลิงไหม้เสียหาย และสหภาพชาวนาในอังกฤษได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลสั่งห้ามลอยโคม โดยให้เหตุผลว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่ประเพณีดั้งเดิม แต่เป็นกิจกรรมที่นำเข้าจากประเทศแถบตะวันออก แต่กลับทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนรายอื่นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: