ไม่พบผลการค้นหา
พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติเสนอ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญของสภานำร่างภาคประชาชนที่ตกไปกลับมาพิจารณาใหม่ เพื่อเป็นไปตามเจตนารมย์ของประชาชน

ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภา โดยได้พิจารณากรอบการทำงาน และท่าที่ของฝ่ายค้านใน 4 ประเด็น ได้แก่

1. พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าคณะกรรมาธิการควรพิจารณาแต่งตั้งประธาน เลขาธิการ โฆษก และอื่น ๆ โดยควรพิจารณาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

2. การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยฝ่ายค้านเสนอให้แล้วเสร็จเร็วกว่า 45 วัน เพื่อเร่งรัดให้นำญัตติที่เกี่ยวกับการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.บรรจุเป็นวาระที่ 3  

3. สาระสำคัญของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 ในญัตติที่ 1 และญัตติที่ 2 ของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีความแตกต่างกัน คือที่มาของ ส.ส.ร.ของฝ่ายค้าน ต้องมาจากเลือกตั้งทั้งหมด แต่ญัตติของรัฐบาล ที่มา ส.ส.ร.มี 3 แนวทาง ทั้งมาจากการเลือกตั้ง, การคัดเลือกจากรัฐสภา และการคัดเลือกจากที่ประชุมอธิการบดีและ กกต. อาจจะทำให้การได้มาซึ่ง ส.ส.ร.มีความหมิ่นเหม่ ไม่เป็นธรรมกับประชาชน ขณะที่ร่างของฝ่ายค้านมีความสำคัญมากกว่าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 

นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน เมื่อได้มาซึ่ง ส.ส.ร.แล้ว จะสามารถแก้ไขเพิ่มเติมยกร่าง และนำไปทำประชามติโดยขอความคิดเห็นจากประชาชนก่อน  แต่ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาล เมื่อได้ ส.ส.ร.แล้ว จะนำเสนอต่อรัฐสภา แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ได้ทันที ทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสได้รับรู้รายละเอียดในกฎหมาย ไม่มีโอกาสที่จะพิจารณาว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

4. พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่าคณะกรรมาธิการควรนำร่างรัฐธรรมนูญภาคประชาชนที่ตกไป หรือร่างไอลอว์ กลับมาพิจารณาใหม่ เพราะหลายประเด็นมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ในส่วนของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำมาศึกษาว่ามีประเด็นใดบ้างที่มีความสำคัญ เพื่อนำมาเสนอต่อคณะกรรมาธิการอีกครั้ง  โดยมอบหมายให้ ส.ส. ของแต่ละพรรคกลับไปศึกษาและแปรญัตติในประเด็นสำคัญอื่นๆ ให้รอบด้านมากขึ้น  

พรรคฝ่ายค้านเห็นว่าทั้ง 4 ประเด็นมีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยตามเจตนารมย์ของประชาชน

ฝ่ายค้าน

ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของประชาชนมากที่สุดและเร็วที่สุด การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2560 เริ่มนับหนึ่งภายหลังจากมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน 2 ร่าง 

มีความตื่นตัวของทุกภาคส่วนในสังคมไทยต่อการแก้ไข รธน. ฉบับนี้ เนื่องจากทุกคนล้วนรับรู้และได้รับผลกระทบจากการใช้ รธน. ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร จนเกิดปัญหาขยายวงกว้าง และมีแนวโน้มจะไปสู่การเกิดวิกฤติครั้งใหญ่

ดังนั้น กมธ.แก้ไขรธน.ที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐสภา ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายวุฒิสมาชิก และ พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 45 คน จะต้องร่วมกันทำหน้าที่เพื่อสนองตอบเจตจำนงของประชาชนให้ เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงเจตจำนงของพี่น้องประชาชนที่แสดงออกในเวทีสาธารณะต่างๆ ดังนี้

ประการแรก ส.ส.ร.ทั้งหมดต้องมาจากการเลือกตั้งจากตัวแทนของประชาชน และ ควรกำหนดกติกาที่เปิดโอกาสให้ตัวแทนเยาวชน คนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นแกนนำหลักในการขับเคลื่อนให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของการแก้ไข รธน. ให้มีความเป็นประชาธิปไตย ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข รธน.ในครั้งนี้ด้วย

สสร.ควรมีความเป็นอิสระ และมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด เป็นหลักการสำคัญที่ทุกฝ่ายควรให้ความเคารพและยึดถือ 

ประการที่สอง ระยะเวลาในการทำงานของ กมธ. ที่เตรียมการชุดนี้ ควรใช้เวลาให้สั้นและเร็วที่สุด โดยควรยึดหลักที่นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำมั่นต่อประชาชนไว้ในที่ประชุมรัฐสภาที่ผ่านมาว่าจะดำเนินการเพื่อเตรียมการและเสนอร่างแก้ไขรธน.ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมปี 63 เพื่อให้กระบวนการจัดตั้งสสร.และดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมทำประชามติเสร็จสิ้น ภายใน 120วัน

ประการที่สาม ควรนำสาระสำคัญบนหลักการประชาธิปไตยซึ่งภาคประชาชนแสดงเจตจำนงอยากเห็น หรืออยากให้รธน.นี้จัดทำขึ้น…โดยควรช่วยกัน ผลักดันและแปรญัตติ ความต้องการของภาคประชาชน ให้ได้ถูกบรรจุ และเกิดการสร้างเวทีในการศึกษาและหาทางออกให้เกิดขึ้น ให้ได้มากที่สุด

ประการสุดท้าย ควรผลักดันให้ ตัวแทนภาคประชาชนผู้เป็นเจ้าของร่าง iLaw และตัวแทนนักวิชาการที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนประชาธิปไตยและภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ให้มากที่สุด

การแก้ไข รธน ครั้งนี้ จะเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการคลี่คลายปัญหาของบ้านเมือง ซึ่งผู้มีอำนาจต้องแสดงความจริงใจ และ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด เพื่อให้ รธน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “การเมืองที่ดี” มิใช่ รธน. ที่สร้างขึ้น “เพื่อพวกเรา” อย่างที่เป็นมา